สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) ชี้เทรนด์ของเล่น มุ่งสู่กระแสรักษ์โลก ปรับเปลี่ยนพลาสติกเป็นไม้ ใช้พลาสติกชีวภาพ ใช้บรรจุภัณฑ์ม แนะผู้ผลิต ผู้ส่งออกไทย นอกจากออกแบบให้ตรงตามกระแสนิยม ต้องเน้นมาตรฐาน ปลอดภัย และยั่งยืน เผยของเล่นทำจากไม้ยางพารา พลาสติกจากมันสำปะหลังของไทย มีโอกาสสูง
นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อํานวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) กล่าวว่า สนค. ได้ติดตามแนวโน้มด้านการค้าและการตลาดของสินค้าของเล่น พบว่า ปัจจุบันสินค้าของเล่นได้รับการออกแบบให้มีอายุการใช้งานสั้น ส่วนใหญ่ทำจากพลาสติก รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์จำนวนมาก ความยั่งยืนจึงเป็นประเด็นท้าทายของอุตสาหกรรมของเล่นทั่วโลก ทำให้ผู้ผลิตมีการปรับกระบวนการผลิตโดยหันมาใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม เช่น เปลี่ยนวัสดุจากพลาสติกเป็นไม้ ปรับเปลี่ยนจากการใช้พลาสติกที่มาจากปิโตรเลียมเป็นพลาสติกชีวภาพ ควบคู่กับการใช้บรรจุภัณฑ์ที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม รวมทั้งใช้บรรจุภัณฑ์น้อยลง และยังออกแบบให้สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำได้ ขณะเดียวกัน ผู้ผลิตของเล่นบางราย ยังเริ่มออกแบบและจำหน่ายของเล่นที่ให้ความรู้เด็ก ๆ เกี่ยวกับความยั่งยืนด้วยวิธีที่สนุกสนานออกสู่ตลาดอีกด้วย
ทั้งนี้ จากแนวโน้มดังกล่าว ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมทั้งผู้ส่งออกสินค้าของเล่นของไทย นอกจากต้องออกแบบของเล่นให้ตรงกับกระแสความนิยมและความต้องการของตลาด และผลิตของเล่นให้ได้มาตรฐานและมีความปลอดภัยแล้ว ยังต้องให้ความสำคัญกับความยั่งยืนมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบที่ใช้ทรัพยากรและให้เกิดของเสียน้อยที่สุด สามารถนำกลับมารีไซเคิลหรือใช้ซ้ำ การเลือกใช้วัสดุที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อมซึ่งไทยมีความโดดเด่นในการผลิตของเล่น เช่น ไม้ยางพารา หรือพลาสติกชีวภาพจากมันสำปะหลัง จะช่วยให้อุตสาหกรรมของเล่นไทยสามารถแข่งขันได้ต่อไป
“ไทยเป็นผู้ส่งออกสินค้าของเล่นที่มีความโดดเด่นด้านคุณภาพและมาตรฐานของสินค้า และเป็นที่ยอมรับในตลาดต่างประเทศ ของเล่นจึงเป็นสินค้าส่งออกศักยภาพที่มีแนวโน้มเติบโต แต่ผู้ผลิตและผู้ประกอบการ รวมถึงผู้ส่งออก จำเป็นต้องพัฒนาสินค้าของเล่นให้ตรงกับความต้องการของตลาดและพฤติกรรมผู้บริโภค ไม่ว่าจะเป็นการออกแบบสินค้าที่มีความคิดสร้างสรรค์ ส่งเสริมจินตนาการ มีดีไซน์และรูปแบบใหม่ ๆ การใช้เทคโนโลยีและนวัตกรรมในการผลิตที่ทันสมัย เพื่อให้ได้สินค้าที่ได้มาตรฐาน การเลือกใช้วัสดุที่ปลอดภัย เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และนำไปสู่ความยั่งยืน”นายพูนพงษ์กล่าว
สำหรับสถิติการส่งออกสินค้าของเล่นของไทย ปี พ.ศ.2564 พบว่า ไทยส่งออกสินค้ากลุ่มของเล่น มีมูลค่ารวม 306.14 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.74% และในช่วง 11 เดือนของปี พ.ศ.2565 (ม.ค.-พ.ย.) การส่งออกมีมูลค่า 312.36 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.01% และในเดือนพ.ย.2565 ซึ่งเป็นช่วงก่อนเทศกาลสำคัญส่งท้ายปี มีมูลค่าส่งออก 24.78 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 3.52%
โดยประเภทของสินค้าส่งออกกลุ่มของเล่น พบว่า มีการส่งออกสินค้ากลุ่มของเล่นที่มีล้อ ตุ๊กตา และของเล่นสําหรับฝึกสมองทุกชนิด (พิกัดศุลกากร 9503) มูลค่าสูงที่สุด โดยปี พ.ศ.2564 มีมูลค่าส่งออก 254.71 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 10.21% ตลาดส่งออกสำคัญ คือ สหรัฐฯ สัดส่วน 34.9% ญี่ปุ่น สัดส่วน 15.1% และเยอรมนี สัดส่วน 5.2% สินค้ากลุ่มที่มีมูลค่าการส่งออกรองลงมา ได้แก่ กลุ่มของเล่นที่ใช้ในงานเทศกาล งานรื่นเริงหรืองานบันเทิงอื่น ๆ (พิกัดศุลกากร 9505) มูลค่า 51.28 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 15.21% และเครื่องเล่นในสวนสนุก (พิกัดศุลกากร 9508) มูลค่า 0.15 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 81.93%
อย่างไรก็ตาม เห็นได้ว่ากลุ่มของเล่นที่มีล้อ ตุ๊กตา และของเล่นสําหรับฝึกสมองทุกชนิด เป็นสินค้าที่ไทยมีความโดดเด่น โดยตลาดส่งออกสำคัญอันดับ 1 ของไทย คือ สหรัฐฯ มีการนำเข้าจากไทยเป็นอันดับที่ 6 ซึ่งไทยมีส่วนแบ่ง 0.7% ของมูลค่าการนำเข้าของสหรัฐฯ รองจากคู่แข่งรายใหญ่ ได้แก่ จีน ส่วนแบ่ง 81% รองลงมา เวียดนาม 6.4% เม็กซิโก 3.8% อินโดนีเซีย 2.2% และไต้หวัน 1.3% และไทยยังโดดเด่นด้านของเล่นไม้ โดยเฉพาะที่ทำจากไม้ยางพารา สอดคล้องกับกระแสความยั่งยืนที่ผู้บริโภคทั่วโลกให้ความสนใจ รวมถึงไทยมีความได้เปรียบด้านคุณภาพและมาตรฐานสินค้า และเป็นที่ยอมรับของผู้บริโภคในตลาดต่างประเทศเมื่อเทียบกับคู่แข่งประเทศอื่น ๆ โดยเฉพาะจีน