สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) มั่นใจแนวโน้มอุตสาหกรรมการบินหลัง COVID-19 คาดกลับมาเติบโตอีกครั้งในปี พ.ศ.2567-2568 หลังผู้โดยสาร-เที่ยวบินเพิ่มขึ้นต่อเนื่อง
นายสุทธิพงษ์ คงพูล ผู้อำนวยการสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (กพท.) เปิดเผยว่า อุตสาหกรรมการบินภายหลังการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 เริ่มคลี่คลาย และหลายประเทศรวมถึงไทยได้ผ่อนคลายมาตรการต่างๆ ส่งผลให้ภาพรวมในปีในปี พ.ศ.2565 อุตสาหกรรมการบินฟื้นตัว โดยมีผู้โดยสารเพิ่มขึ้นเป็น 75,815,455 คน และเที่ยวบินเพิ่มขึ้นเป็น 570,360 เที่ยวบิน ซึ่งถือว่าเป็นสัญญาณที่ดี โดย กพท.คาดการณ์ว่าจำนวนผู้โดยสารจากทั่วโลกจะฟื้นตัวและกลับมาเท่ากับปี พ.ศ.2562 ในช่วงปี พ.ศ.2567 – 2568
นอกจากนี้ กพท.ได้จัดทำแผนฟื้นฟูอุตสาหกรรมการบินปี พ.ศ.2565-2568 ภายใต้กรอบแนวคิดที่มุ่งเน้นให้อุตสาหกรรมการบินสามารถ “อยู่รอด เข้มแข็ง และยั่งยืน” โดยในปี พ.ศ.2566-2567 เป็นการดำเนินการในระยะกลาง ซึ่งจะเป็นการเพิ่มขีดความสามารถในการรองรับ และเพิ่มประสิทธิภาพอุตสาหกรรมการบิน โดยมีเป้าหมายดำเนินงาน เช่น เป้าหมายของปี พ.ศ.2566 คือ สามารถออกใบรับรองการดำเนินงานสนามบินสาธารณะเพิ่มอีก 8 สนามบิน มีระบบจัดการสิ่งแวดล้อมของสนามบิน (EMS) สามารถเข้ารับการตรวจประเมินจาก ICAO เพื่อยกระดับมาตรฐานของประเทศ
สำหรับการดำเนินงานด้านการวิจัย พัฒนา และแนวทางการบริหารจัดการการใช้งานอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินหรือโดรน ถือเป็นอีกหนึ่งภารกิจของ กพท.ในการจัดทำแผนแม่บทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบิน เพื่อเป็นแผนหลักในการขับเคลื่อนระบบอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินที่ครอบคลุมทุกมิติ ทั้งด้านห้วงอากาศ โครงสร้างพื้นฐานอากาศยาน สถาบันฝึกอบรม การซ่อมบำรุง เพื่อสร้างมาตรฐานความปลอดภัยและส่งเสริมให้กิจการอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินในประเทศเติบโตได้อย่างยั่งยืน
อย่างไรก็ตามปัจจุบันโดรนได้เข้ามามีบทบาทในการดำเนินชีวิตหลากหลายด้าน และคาดการณ์บทบาทในอนาคตที่เพิ่มมากขึ้น ไม่ว่าจะเป็นโดรนเพื่อความบันเทิง โดรนเพื่อกู้ภัย โดรนเพื่อการเกษตร โดรนเพื่อการขนส่ง เป็นต้น โดยเฉพาะโดรนเพื่อการเกษตร ที่ได้รับความนิยมสูงขึ้นอย่างต่อเนื่อง พบว่าในปี พ.ศ.2562 มีจำนวนผู้ขึ้นทะเบียนเพียง 328 ลำ และเพิ่มขึ้นเป็น 4,836 ลำในปี พ.ศ.2565 ซึ่งเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยยะสำคัญ
“กพท.คาดว่าภายในปีนี้จะสามารถจัดทำร่างแผนแม่บทอากาศยานซึ่งไม่มีนักบินฉบับแรกแล้วเสร็จ เพื่อให้เห็นทิศทางของการกำกับดูแลโดรนให้มีมาตรฐานความปลอดภัย หลังจากนั้นจะดำเนินงานควบคู่ไปกับงานส่วนอื่นๆ เพื่อทำให้แผนแม่บทฉบับนี้แล้วเสร็จ และมีผลบังคับใช้โดยเร็ว ให้ทันต่อจำนวนที่เพิ่มขึ้นของโดรนในประเทศไทย”นายสุทธิพงษ์ กล่าว