สายการบิน-โรงแรมประกาศปรับขึ้นค่าบริการ หลังจากธุรกิจท่องเที่ยวฟื้นตัว-จีนเปิดประเทศทำให้นักท่องเที่ยวต่างชาติเดินทางเข้าไทยคึกคัก
นายสันติสุข คล่องใช้ยา ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร สายการบินไทยแอร์เอเชีย กล่าวว่า ได้ปรับราคาตั๋วโดยสารเส้นทางบินในประเทศเพิ่มขึ้น เนื่องจากต้นทุนนํ้ามันเครื่องบินที่เพิ่มสูงขึ้น จากเมื่อก่อนอยู่ที่ 60-80 เหรียญต่อบาเรลล์ เพิ่มเป็น 100-150 เหรียญต่อบาเรลล์ และตั้งแต่ปลายปีที่ผ่านมาสำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. อนุญาตให้สายการบินนำ “ค่าใช้จ่ายที่เกี่ยวข้องกับนํ้ามันเชื้อเพลิง” (The Fuel Cost Fluctuation) ให้รวมกับค่าโดยสาร
ทั้งนี้สายการบินต่าง ๆ ก็ขึ้นราคาตั๋วในประเทศอยู่ที่ 20% เพื่อแบ่งเบาภาระของสายการบินระดับหนึ่ง ไม่ได้ปรับขึ้นตามต้นทุนที่เกิดขึ้นจริง ขณะที่เส้นทางบินระหว่างประเทศ ค่าโดยสารในปีนี้มีทิศทางการปรับขึ้นในทิศทางบวก เนื่องจากสายการบินมีอัตราการบรรทุกของผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้นเฉลี่ย 87-88%
สำนักงานการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (CAAT) หรือ กพท. ระบุว่า การปรับขึ้นราคาค่าโดยสาร ยังคงเป็นไปตามหลักเกณฑ์ที่กพท.กำหนด ซึ่งเพดานค่าโดยสาร(ต่อเที่ยวบิน)สำหรับบริการของสายการบินต้นทุนตํ่าอยู่ที่ไม่เกิน 9.40 บาทต่อกิโลเมตร และสำหรับบริการของสายการบินฟูลเซอร์วิส อยู่ที่ไม่เกิน 13 บาทกิโลเมตร
– เส้นทางกรุงเทพฯ-ภูเก็ต ระยะทาง 698 กม. ตั๋วเครื่องบินราคาไม่เกิน 6,561 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และราคาไม่เกิน 9,074 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับการใช้บริการสายการบินฟูลเซอร์วิส
– เส้นทางกรุงเทพฯ-เชียงใหม่ ระยะทาง 566 กม. ตั๋วเครื่องบินราคาไม่เกิน 5,320 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับโลว์คอสต์แอร์ไลน์ และราคาไม่เกิน 7,358 บาทต่อเที่ยวบิน สำหรับการใช้บริการสายการบินฟูลเซอร์วิส
สำหรับสาเหตุที่ตั๋วเครื่องบินที่มีราคาแพง เกิดจาก 4 ปัจจัยหลัก ได้แก่ 1. ต้นทุนสายการบินเพิ่มสูงขึ้น เช่น ราคานํ้ามันสูงขึ้น 2. เดินทางในช่วงเวลาไฮซีซัน หรือวันหยุดยาว 3. ระยะเวลาในการจองตั๋วโดยสาร เช่น จองตั๋วยิ่งกระชั้นชิดราคาแพง และ 4.ซื้อบัตรโดยสาร ประเภทที่สามารถเปลี่ยนแปลงได้ หรือมีบริการพิเศษเพิ่มเติม
อย่างไรก็ตาม ขอให้ประชาชนเปรียบเทียบราคากับสายการบินอื่นๆ รวมถึงปรับแผนการเดินทาง และหากพบว่าค่าโดยสารเกินเพดานที่กำหนดให้แจ้งมายัง CAAT ได้ทันที
น.ส.ประชุม ตันติประเสริฐสุข ประธานฝ่ายการตลาด สมาคมโรงแรมไทย (ทีเอชเอ) กล่าวว่า ธุรกิจโรงแรมเตรียมปรับราคาห้องพักเพิ่มขึ้น 7-12% เนื่องจากเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้น ทำให้ต้นทุนสูงขึ้น และที่ผ่านมาได้รับผลกระทบจากCOVID-19ไม่ได้ปรับราคามานานกว่า 3 ปี ขณะที่นักท่องเที่ยวต่างชาติเริ่มเข้ามาเที่ยวไทยเพิ่มขึ้น โดยโรงแรมระดับ 5 ดาวที่ภูเก็ตช่วงไฮซีซันราคาไม่ตํ่ากว่า 9,000- 10,000 บาทต่อคืน ส่วนช่วงโลว์ซีซัน ราคาก็ไม่ตํ่ากว่า 4,000 บาทต่อคืน
อย่างไรก็ตาม ต้นทุนที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจโลกที่เริ่มชะลอตัว และปัญหาขาดแคลนแรงงานในธุรกิจเป็นกังวลหลักของผู้ประกอบการในปี 66 ซึ่งการเปิดประเทศของจีนตั้งแต่วันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมาส่งผลดีต่อเศรษฐกิจและการท่องเที่ยวของไทยในทุกด้าน เนื่องจากไทยถือเป็นประเทศหนึ่งในจุดหมายปลายทางหลักของชาวจีน ทั้งนี้คาดว่ารายได้ธุรกิจโรงแรมเติบโต 10-30% และมองว่ารายได้จะกลับสู่ระดับก่อนโควิดภายในช่วงไตรมาสที่ 2/66
นางวัลลภา ไตรโสรัส ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท แอสเสท เวิรด์คอร์ป จำกัด (มหาชน) หรือ AWC กล่าวว่า การท่องเที่ยวฟื้นตัวทำให้ธุรกิจโรงแรมปรับตัวดีขึ้น โดยบางโรงแรมมีอัตราการเข้าพักเฉลี่ย80-90% ใกล้เคียงกับช่วงก่อนเกิดโควิด-19 ซึ่งในส่วนของบริษัทฯ ได้ปรับขึ้นราคาห้องพักเฉลี่ย บางพื้นที่สูงถึง 20%เนื่องจากตรงกับช่วงไฮซีซัน ประกอบกับนักท่องเที่ยวจากหลายประเทศเริ่มเดินทางเข้าไทยได้มากขึ้น จากจำนวนเที่ยวบินต่างๆที่ทำการบินเข้าไทยที่เพิ่มขึ้นต่อเนื่อง รวมทั้งการเปิดประเทศของจีนทำให้ตอนนี้มีนักท่องเที่ยวกลุ่ม FIT (เดินทางเที่ยวด้วยตัวเอง) เดินทางเข้าไทยกันบ้างแล้ว ส่วนกรุ๊ปทัวร์จีนมีไม่มากต้องใช้เวลา เพราะตั๋วเครื่องบินราคาสูง