Advertisement
Leaderboard 728x90

สรท. คาดไตรมาสแรกปี’66 ส่งออกติดลบ 3-5%

สภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) คาดภาวการณ์ส่งออกของไทยในไตรมาสแรก ปี พ.ศ.2566 นี้อาจเติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยคาดว่าจะติดลบ 3-5% เนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว แม้การส่งออกในเดือน ม.ค.จะขยายตัวได้ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม แต่ทั้งปียังมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ 1-2%

นายชัยชาญ เจริญสุข

นายชัยชาญ เจริญสุข ประธานสภาผู้ส่งสินค้าทางเรือแห่งประเทศไทย (สรท.) กล่าวว่าสรท.ยังคงคาดการณ์การส่งออกปี พ.ศ.2566 ขยายตัว 1-2 % มูลค่า 292,000 ล้านดอลลาร์ จากปัจจัยปัจจัยเสี่ยงที่เป็นอุปสรรคสำคัญ คือ 

Advertisement
Kreamy Proof
  1. ปริมาณสินค้าคงคลังของคู่ค้ายังคงทรงตัวในระดับสูงส่งผลให้คู่ค้าชะลอคำสั่งซื้อสินค้า
  2. ต้นทุนการผลิตยังทรงตัวอยู่ในระดับสูง โดยเฉพาะค่าไฟฟ้าที่ปรับเพิ่มขึ้น ส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ และจำเป็นต้องส่งผ่านต้นทุนที่เพิ่มขึ้นไปยังผู้บริโภค (Consumer)
  3. ถานการณ์ค่าเงินบาทเคลื่อนไหวในทิศทางที่แข็งค่าขึ้นอย่างรวดเร็ว ส่งผลให้ผู้ส่งออกสูญเสียความสามารถในการแข่งขันทางด้านราคาต่อประเทศคู่ค้าและคู่แข่งที่มีค่าเงินอ่อนกว่าไทยโดยเงินบาทเดือนต.ค.ปี 65 อยู่ที่ 38 บาทต่อดอลลาร์ ปัจจุบันแข็งค่าขึ้นมาอยู่ที่ 32-33 บาทต่อดอลลาร์ แข็งค่าขึ้น 14 % เมื่อเทียบกับปีประเทศคู่แข่งทั้งอินเดีย เวียดนาม จีน  ทำให้ผู้ส่งออกขาดดุลจากอัตราแลกเปลี่ยน ซึ่งสรท.ได้ส่งข้อเสนอแนะเรื่องบาทแข็งไปยังธนาคารแห่งประเทศไทยแล้ว โดยค่าเงินบาทที่เหมาะสมควรอยู่ที่ 34-35 บาทต่อดอลลาร์และ 4.ราคาพลังงานในตลาดโลกยังคงมีความผันผวนตามสถานการณ์การเมืองระหว่างประเทศ

ส่วนปัจจัยบวกมาจาก1. การเปิดประเทศของจีน ช่วยให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจทั่ว โลกรวมถึงไทยมีโอกาสส่งออกได้มากขึ้น 2. ค่าระวางเรือปรับตัวลดลงในเส้นทางหลักเกือบทุกเส้นทาง นอกจากนี้ยังก็มีสัญญาณที่ดีจากดัชนีภาคการผลิต Manufacturing PMI ในเดือนม.ค.2566 ของไทยเริ่มมีแนวโน้มปรับตัวเพิ่มขึ้น เช่นเดียวกับอินเดียที่ยังคงปรับตัวเพิ่มขี้นอย่างต่อเนื่อง 4 เดือนติดต่อกัน ขณะที่ประเทศคู่ค้าหลักอย่างสหรัฐฯ ยังคงเคลื่อนไหวต่ำกว่าเส้น Base line ณ 50 อย่างต่อเนื่อง เช่นเดียวกับสหภาพยุโรป และญี่ปุ่น แต่ก็เริ่มปรับตัวดีขึ้น ซึ่งยังคงต้องเฝ้าติดตามการเคลื่อนไหว Manufacturing PMI ของประเทศจีนหลังจากเปิดประเทศแล้วต่อไปอย่างใกล้ชิด

ทั้งนี้การส่งออกในครึ่งปีแรกยังอยู่ในภาวะทรงตัว จากสถานการณ์เศรษฐกิจทั่วโลกชะลอตัว  ต้องรอลุ้นครึ่งปีหลังแต่ก็คาดว่าจะฟื้นตัวแบบหน่วง โดยสรท.คาดการส่งออกของไทยในเดือน ม.ค.จะขยายตัวได้ 3-5 %  มูลค่า 22,000-22,500 ล้านดอลลาร์ ดีกว่าเดือนเดียวกันของปีก่อนก็ตาม และในไตรมาสแรกคาดว่าจะติดลบ 3-5% มูลค่า 70,000 ล้านดอลลาร์ เติบโตน้อยกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเนื่องจากได้รับผลกระทบจากภาวะเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ส่วนไตรมาส 2 และไตรมาส 3 จะกลับมาขยายตัวได้ดีตามตามทิศทางเศรษฐกิจของจีน ทั้งปียังมั่นใจว่าจะขยายตัวได้ 1-2%

สรท.มีข้อเสนอแนะที่สำคัญประกอบด้วย

  1. อัตราแลกเปลี่ยนขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทย รักษาเสถียรภาพค่าเงินบาทไม่ให้มีความผันผวนเร็วเกินกว่าประเทศคู่ค้าสำคัญ
  2. ด้านต้นทุน  โดยขอให้ ธนาคารแห่งประเทศไทยทบทวนการขึ้นดอกเบี้ยนโยบายให้อยู่ในระดับที่เหมาะสม และเพิ่มมาตรการช่วยเหลือ SMEs ในซัพพลายเชนการส่งออกที่อาจได้รับผลกระทบดังกล่าวควบคู่กัน ให้ภาครัฐควบคุมหรือปรับขึ้นค่าไฟฟ้าโดยอัตโนมัติ (FT) ในภาคการผลิตแบบค่อยเป็นค่อยไป รวมถึงพิจารณามาตรการสนับสนุน เพื่ออุดหนุนการใช้พลังงานทางเลือก เช่น มาตรการทางภาษี ลดหย่อนภาษี ในการเปลี่ยนไปใช้พลังงานทางเลือกอื่นทดแทนเช่น พลังงานแสงอาทิตย์ (Solar), พลังงานหมุนเวียน (Renewable) และพลังงานชีวมวล (Biomass) เป็นต้น  ส่วนค่าแรงขั้นต่ำนั้น ขอให้คณะกรรมการไตรภาคีพิจารณาการปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำอย่างรอบคอบ สอดคล้องกับสภาวะทางเศรษฐกิจที่แท้จริง
  3. ด้านการค้าระหว่างประเทศเร่งผลักดันกระบวนการเจรจาเขตการค้าเสรีไทย-สหภาพยุโรป ให้บรรลุผลโดยเร็ว

ส่วนความขัดแย้งระหว่างสหรัฐและจีน ล่าสุดที่สหรัฐยิงขีปนาวุธใส่บอลลูนสอดแนมขนาดใหญ่ของจีนในน่านฟ้าสหรัฐ นั้น ในระยะสั้นไม่น่าจะกระทบต่อการดำเนินนโยบายด้านเศรษฐกิจของทั้ง 2 ประเทศ เนื่องจากต้องพึ่งพาอาศัยกันทั้งด้านห่วงโซ่อุปทานและซัพพลายเชน   แต่หากความขัดแย้งบานปลายออกไปก็เป็นเรื่องที่น่ากังวล ซึ่งผู้ส่งออกจำเป็นต้องติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิด

Advertisement
The Xpozir

Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard