Advertisement
Leaderboard 728x90

รฟท.จับมือ กฟภ.ติด "โซลาร์รูฟท็อป" นำร่องสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ คาดช่วยลดค่าไฟฟ้า 15%

การรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) ลงนามความร่วมมือติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในพื้นที่รถไฟ นำร่องผลิตป้อน สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ โดยติดตั้งบริเวณหลังคาโรงซ่อมบำรุง ขนาด 3 เมกะวัตต์ คาดช่วยลดค่าไฟฟ้า 15% เร่งเสร็จใน 1 ปี

อธิรัฐ รัตนเศรษฐ

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เป็นประธานในพิธีลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือโครงการจัดการพลังงานในองค์กร ด้วยระบบดิจิทัล (Digital Platform) ระหว่างการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) กับการไฟฟ้าส่วนภูมิภาค (กฟภ.) โดยมีนายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการการรถไฟแห่งประเทศไทย และนายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค ร่วมลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ

Advertisement
Kreamy Proof

นายอธิรัฐ รัตนเศรษฐ รัฐมนตรีช่วยว่าการกระทรวงคมนาคม รักษาราชการแทนรัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม กล่าวว่า สืบเนื่องจากที่รัฐบาลมีนโยบายให้ทุกหน่วยงานราชการและรัฐวิสาหกิจ ใช้เทคโนโลยีประหยัดพลังงาน เพื่อลดการใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่ก่อให้เกิดมลพิษ โดยหันไปใช้พลังงานสะอาดหรือพลังงานทดแทน เช่น พลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) กระทรวงคมนาคมจึงมีโครงการ “คมนาคมสีเขียว”  โดยมอบหมายให้ทุกหน่วยงานสำรวจพื้นที่ที่มีการใช้พลังงานจำนวนมาก ทั้ง สถานีรถไฟ สนามบิน ท่าเรือ เป็นต้น ซึ่งความร่วมมือระหว่าง รฟท.กับ กฟภ.ถือเป็นการคิกออฟของกระทรวงคมนาคม โดยในช่วงปลายเดือน ส.ค.นี้จะมีหน่วยงานทยอยลงนาม MOU กับ กฟภ.เพื่อร่วมมือพัฒนาพลังงานทางเลือกอีก โดยความร่วมมือนี้ทาง กฟภ.จะเป็นผู้ลงทุนให้ทั้งหมด

นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าฯ รฟท. กล่าวว่า รถไฟเป็นขนส่งสาธารณะที่ให้บริการประชาชน มีการใช้ไฟฟ้าจำนวนมาก การใช้พลังงานทางเลือก นอกจากลดค่าใช้จ่ายแล้วยังลดปัญหาสิ่งแวดล้อมตามนโยบายกระทรวงคมนาคม รฟท.จึงหารือกับ กฟภ. และได้เสนอโมเดลการติดตั้ง ระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) ในพื้นที่รถไฟ โดยในระยะเริ่มต้นจะใช้สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์ และพื้นที่ระบบรถไฟชานเมืองสายสีแดงเป็นสถานีต้นแบบเพื่อติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) โดยมีการสำรวจ ออกแบบ กำหนดมาตรการประหยัดพลังงาน คุณสมบัติอุปกรณ์ การจัดหาอุปกรณ์ไฟฟ้าใหม่ที่มีประสิทธิภาพ และนำนวัตกรรมสมัยใหม่มาปรับใช้อย่างเหมาะสม เช่น ระบบติดตามผลการผลิตไฟฟ้า หรือ Monitoring System การอ่านค่าหน่วยการผลิตไฟฟ้าจากระบบ Solar Rooftop แบบ Realtimeซึ่งช่วยให้สามารถกำหนดเป้าหมายการใช้ปริมาณไฟฟ้าได้ ทำให้องค์กรลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างมีนัยสำคัญ

ทั้งนี้ เนื่องจากในแต่ละพื้นที่ ในทางเทคนิคการติดตั้งจะมีรายละเอียดที่ไม่เหมือนกัน โดยโครงการเริ่มต้นคือ ในเขตพื้นที่สถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์นั้นพบว่า บริเวณหลังคาโรงซ่อมบางซื่อ ตรงข้ามอาคารสถานีกลางฯ มีความเหมาะสม ปัจจุบันสถานีกลางกรุงเทพอภิวัฒน์มีภาระค่าไฟฟ้าประมาณ 10-20 ล้านบาทต่อเดือน โดยช่วงเปิดสถานีฯ เป็นศูนย์วัคซีนโควิด-19 นั้น มีค่าไฟฟ้าสูงถึง 20 ล้านบาทต่อเดือน เพราะมีการใช้พื้นที่ทั้งหมด ดังนั้นเชื่อว่าเมื่อมีการติดตั้ง Solar Rooftop จะช่วยประหยัดค่าใช้จ่ายส่วนนี้ลงอย่างน้อย 15% โดย รฟท.ไม่ต้องลงทุนอะไรเพิ่ม โดยจะเร่งดำเนินการให้แล้วเสร็จโดยเร็ว

ก่อนหน้านี้ได้นำรถจักรพลังงานไฟฟ้าจากแบตเตอรี่ ระบบ EV on Train มาทดลองเปิดใช้เพื่อลดปัญหาฝุ่นละอองขนาดเล็ก PM 2.5 และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งสอดคล้องกับนโยบายรัฐบาลที่มุ่งสู่ความยั่งยืนทางด้านพลังงาน และสิ่งแวดล้อม และสนับสนุนการใช้พลังงานทดแทนให้เกิดขึ้นในประเทศอย่างเป็นรูปธรรม การลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือครั้งนี้จึงนับเป็นอีกก้าวสำคัญที่แสดงให้เห็นถึงความตั้งใจของการรถไฟฯ ในการนำระบบเทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้พัฒนาการบริหารจัดการพลังงานในองค์กรให้เกิดประสิทธิภาพ ซึ่งนอกจากก่อให้เกิดการประหยัดพลังงานไฟฟ้าแล้ว ยังช่วยลดงบประมาณการบำรุงรักษาอุปกรณ์ไฟฟ้า และสามารถนำข้อมูลที่ได้มาวิจัยพัฒนาต่อยอดให้เกิดประโยชน์ ช่วยลดค่าใช้จ่ายด้านพลังงานอย่างเป็นรูปธรรม ตลอดจนสามารถขยายผลไปใช้ยังสถานีรถไฟอื่นๆ ทั่วประเทศได้ในอนาคต

Advertisement
The Xpozir

นายสมปอง ดำรงอ่องตระกูล รองผู้ว่าการธุรกิจและการตลาด การไฟฟ้าส่วนภูมิภาค กล่าวว่า กฟภ.จะเป็นผู้ลงทุน ทั้งหมด โดยจะติดตั้งระบบผลิตไฟฟ้าจากพลังงานแสงอาทิตย์บนหลังคา (Solar Rooftop) บริเวณหลังคาของโรงซ่อมบำรุงบางซื่อ ตรงข้ามกับสถานีกลางฯ เบื้องต้นมีกำลังการผลิตขนาด 3 เมกะวัตต์ ซึ่งจะช่วย รฟท.ลดค่าไฟฟ้าลงประมาณ 15% ระยะเวลาร่วมมือ 30 ปี และจะขยายไปยังสถานีรถไฟต่อไปในอนาคต

หลังลงนามความร่วมมือ จะสำรวจพื้นที่และศึกษารายละเอียดร่วมกันว่าจะติดตั้งได้ตรงไหน มีพื้นที่เท่าไร มีกำลังการผลิตเท่าไร กรณีการติดตั้งที่หลังคาโรงซ่อมบางซื่อ คาดว่าจะติดตั้งเสร็จใน 1 ปี และเริ่มผลิตไฟฟ้าได้


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard