สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.) เผยในปี พ.ศ.2566 สสว.เตรียมงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยตั้งเป้าหมาย 6,000 ราย ผ่านมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน”ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ (BDS)
นายวชิระ กอแก้ว รองผู้อำนวยการ สำนักงานส่งเสริมวิสาหกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (สสว.)กล่าวว่า ปัจจุบันผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) ต้องเจอกับปัจจัยเสี่ยงจำนวนมาก โดยเฉพาะสงครามรัสเซีย-ยูเครน การแพร่ระบาดของ COVID-19 ที่ส่งผลกระทบต่อเศรษฐกิจทั่วโลกทั้งทางตรงและทางอ้อม ดังนั้น เอสเอ็มอีต้องมีการเพิ่มศักยภาพตัวเองเพื่อปรับตัวให้เข้าสถานการณ์ในปัจจุบัน ซึ่ง สสว.ได้มีการช่วยเหลือผู้ประกอบการเอสเอ็มอีผ่านโครงการต่างๆ ที่มีกรอบความช่วยเหลือตามเป้าหมายของแต่ละโครงการ
โดยในปี พ.ศ.2566 สสว.เตรียมงบประมาณกว่า 400 ล้านบาท พัฒนาผู้ประกอบการขนาดกลางและขนาดย่อม (เอสเอ็มอี) โดยตั้งเป้าหมาย 6,000 ราย ผ่านมาตรการ “SME ปัง ตังได้คืน”ภายใต้โครงการส่งเสริมผู้ประกอบการ (BDS) ซึ่ง สสว.สนับสนุนค่าใช้จ่ายในการพัฒนาผู้ประกอบการแบบร่วมจ่ายในสัดส่วน 50-80%ตามขนาดของธุรกิจของผู้ประกอบการที่ต้องการรับความช่วยเหลือ สูงสุดรายละไม่เกิน 200,000 บาท รวมทั้งเข้าถึงบริการผู้ให้บริการทางธุรกิจที่ขึ้นทะเบียนในระบบกว่า 90 หน่วย เช่น สถาบันอุตสาหกรรมสิ่งทอ สถาบันอาหาร สถาบันไฟฟ้าและอิเล็กทรอนิกส์ ที่หลากหลายมากกว่า 120 บริการ
“สสว.คาดว่าจะมีผู้ประกอบการ 4 กลุ่มสนใจเข้ารับการพัฒนา ได้แก่ 1.กลุ่มธุรกิจท่องเที่ยว เช่น โรงแรม ที่พัก ร้านอาหาร บริการเพื่อสุขภาพ นำเที่ยวหรือจำหน่ายของที่ระลึก รองรับนโยบายการเปิดประเทศ 2.กลุ่มผลิตอาหารและเครื่องดื่ม รวมถึงการผลิตยาและสมุนไพร 3.กลุ่มอุตสาหกรรมเป้าหมายใหม่ในอุตสาหกรรมการบิน อากาศยานและเครื่องมือแพทย์ และกลุ่ม BCG (เศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว)ในภาคการผลิต การเกษตรแปรรูป การค้าและบริการอื่นๆ โดย สสว.จะขยายเวลาโครงการไปจนถึงเดือนกันยายน พ.ศ.2566 เพื่อให้ผู้ประกอบการสามารถเลือกใช้บริการได้ถึงเดือนสิงหาคม พ.ศ.2566” นายวชิระกล่าว
อย่างไรก็ตาม ที่ผ่านมา 6 เดือน มาตรการ SME ปัง ตังได้คืน มีผู้ประกอบการสมัครใช้งานในระบบแล้วกว่า 2,000 ราย และยังมีสมัครเข้ามาอย่างต่อเนื่อง โดยได้รับอนุมัติข้อเสนอการพัฒนาไปแล้วกว่า 300 ราย โดยเป็นผู้ประกอบการเอสเอ็มอีให้ความสนใจพัฒนาด้านคุณภาพ และมาตรฐานสินค้าและบริการ อยู่ที่ 87% และสนใจพัฒนาด้านช่องทางการจำหน่าย และการตลาด และพัฒนาด้านการตลาดต่างประเทศ 13%