Advertisement
Leaderboard 728x90

พิธีมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2565

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรีเป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2565 แก่ 15 ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ พร้อมมอบหมาย ดีป้า ผลักดันบัญชีบริการดิจิทัล ส่งเสริมการเข้าถึงระบบบริการที่มีคุณภาพแก่หน่วยงานภาครัฐ

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา

พลเอก ประยุทธ์ จันทร์โอชา นายกรัฐมนตรี ให้เกียรติเป็นประธานในพิธีมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทย ประจำปี พ.ศ.2565 แก่ผู้พัฒนาเมืองที่ได้รับการประกาศรับรองเป็นพื้นที่เมืองอัจฉริยะ (Smart City) จำนวน 15 เมือง โดยมี นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) ในฐานะประธานคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ศ. (พิเศษ) วิศิษฏ์ วิศิษฏ์สรอรรถ ปลัดกระทรวงดิจิทัลฯ ผศ.ดร.ณัฐพล นิมมานพัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล หรือ ดีป้า ผู้แทนจากสำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย และผู้ที่มีส่วนเกี่ยวข้องร่วมในพิธีฯ โดยพร้อมเพรียง ณ อาคารภักดีบดินทร์ ทำเนียบรัฐบาล

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

จากนั้น พลเอก ประยุทธ์ ได้กล่าวแสดงความยินดี และมอบนโยบายการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะ ซึ่งเป็นหนึ่งในหมุดหมายของแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ พร้อมระบุว่า รัฐบาลให้ความสำคัญกับการพัฒนาเมืองอัจฉริยะตั้งแต่เริ่มต้น โดยมุ่งเน้นการมีส่วนร่วมและการสนับสนุนจากทุกฝ่าย ทั้งผู้นำเมือง เจ้าหน้าที่ ภาคธุรกิจ และภาคประชาชน เพื่อให้ความต้องการของทุกภาคส่วนได้รับการพิจารณาและถูกระบุอยู่ในเป้าหมายของการพัฒนาเมือง มองโอกาสจากการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีดิจิทัล รวมถึงมุ่งจัดสรรและแบ่งปันทรัพยากร ตั้งแต่การพัฒนาบุคลากร งบประมาณการลงทุน และการพัฒนาโครงสร้างพื้นฐานที่สามารถใช้ให้เกิดประโยชน์ร่วมกัน เพื่อนำไปสู่การยกระดับคุณภาพชีวิตของประชาชนไทยในทุกมิติ

“นอกจากนี้ รัฐบาลต้องกำหนดนโยบายที่เท่าทันกับสถานการณ์ พร้อมสร้างมาตรการที่จะอำนวยความสะดวกและเป็นแรงจูงใจ อาทิ การมอบสิทธิประโยชน์ด้านภาษี หรือการจัดทำบัญชีบริการดิจิทัล เพื่อให้ทุกภาคส่วนสามารถเป็นส่วนหนึ่งของการเติบโตของประเทศได้อย่างเท่าเทียม เกิดการลงทุนในภาคเศรษฐกิจอย่างต่อเนื่อง ลดผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อม สร้างสังคมที่ดี และเพิ่มโอกาสในชีวิตให้กับประชาชน” พลเอก ประยุทธ์ กล่าว

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์

นายชัยวุฒิ ธนาคมานุสรณ์ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงดิจิทัลเพื่อเศรษฐกิจและสังคม (ดีอีเอส) กล่าวว่า กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ดำเนินการส่งเสริมให้เกิดการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในทุกภูมิภาคทั่วประเทศมาอย่างต่อเนื่อง เพื่อให้สอดคล้องกับแผนพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ ฉบับที่ 13 หมุดหมายที่ 8 ไทยมีพื้นที่และเมืองอัจฉริยะที่น่าอยู่ ปลอดภัย เติบโตได้อย่างยั่งยืน ส่งผลให้การพัฒนาเมืองอัจฉริยะบรรลุวัตถุประสงค์ตามเป้าหมายที่กำหนดไว้ ซึ่งการประชุมคณะอนุกรรมการขับเคลื่อนและบริหารโครงการเมืองอัจฉริยะ ครั้งที่ 1/2565 เมื่อวันที่ 6 พฤษภาคม 2565 มีมติเห็นชอบแผนพัฒนาเมืองอัจฉริยะ จำนวน 15 เมืองใน 14 จังหวัด ครอบคลุมการให้บริการประชาชนกว่า 16 ล้านคน ซึ่งทั้งหมดผ่านการพิจารณาการประกาศมอบตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะจากที่ประชุมคณะกรรมการขับเคลื่อนการพัฒนาเมืองอัจฉริยะที่มี พลเอก ประวิตร วงษ์สุวรรณ รองนายกรัฐมนตรี เป็นประธาน โดยมีการประเมินว่า 15 เมืองอัจฉริยะประเทศไทยจะช่วยให้เกิดการลงทุนเพื่อพัฒนาเมืองอัจฉริยะน่าอยู่จากทั้งภาครัฐและภาคเอกชนมูลค่ารวมกว่า 15,000 ล้านบาท

นิมมาน พัชรินทร์

นิมมาน พัชรินทร์ ผู้อำนวยการใหญ่ สำนักงานส่งเสริมเศรษฐกิจดิจิทัล (ดีป้า)กล่าวว่า ระหว่างปี พ.ศ.2564 – 2565 ประเทศไทยมีเมืองที่ได้รับตราสัญลักษณ์เมืองอัจฉริยะประเทศไทยแล้ว จำนวน 30 เมือง ซึ่ง ดีป้า โดย สำนักงานเมืองอัจฉริยะประเทศไทย มุ่งมั่นผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะทั่วประเทศ พร้อมให้ความสำคัญกับการพัฒนากำลังคนผ่านโครงการนักดิจิทัลพัฒนาเมืองรุ่นใหม่ (Smart City Ambassadors) ซึ่งดำเนินการต่อเนื่องมาตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 โดยในปี พ.ศ.2565 มีผู้ผ่านการอบรมจากโครงการดังกล่าวรวมทั้งสิ้น 300 คน แบ่งเป็นเยาวชน หรือ Ambassadors จำนวน 150 คน และเจ้าหน้าที่ของแต่ละเมือง จำนวน 150 คน ซึ่งเปิดโอกาสให้ Ambassadors ปฏิบัติหน้าที่ในพื้นที่ 56 จังหวัดทั่วประเทศ เพื่อเป็นฟันเฟืองสำคัญในการเชื่อมโยงนโยบายภาครัฐกับพื้นที่ และนำไปสู่การพัฒนาเมืองตามแนวทางเมืองอัจฉริยะประเทศไทยในที่สุด

Advertisement
The Xpozir

กระทรวงดิจิทัลฯ โดย ดีป้า ยังได้เสนอต่อที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาอนุมัติบัญชีบริการดิจิทัลเข้าสู่กระบวนการจัดซื้อจัดจ้างภาครัฐ เพื่อเป็นกลไกในการผลักดันให้เกิดการพัฒนาเมืองอัจฉริยะในอีกทางหนึ่ง โดยมีการออกเป็นมาตรฐานกลาง ซึ่งจะเป็นการส่งเสริมให้หน่วยงานรัฐเข้าถึงบริการดิจิทัลที่มีคุณภาพ และได้มาตรฐานสากล ด้วยราคาที่เหมาะสม โดยสมัครใจ ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบในหลักการ และขณะนี้อยู่ระหว่างดำเนินการออกประกาศฯ ต่อไป


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard