Advertisement
Leaderboard 728x90

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA) เผยปี พ.ศ.2565 สตาร์ทอัพและผู้ประกอบการนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าไทยสู่มีการเติบโตสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องตามเทรนด์ตลาดนวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าโลกส่วนในปีพ.ศ.2566คาดตลาดยานยนต์ไฟฟ้าจะยังคงมีโอกาสเติบโตสูงขึ้นทั้งส่วนการผลิตรถยนต์และยอดจำหน่าย นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้าในราคาที่เข้าถึงได้ การพัฒนารูปแบบยานพาหนะ เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เรือและรถโดยสารสาธารณะ สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้าและโฮมชาร์จเจอร์

วิเชียร สุขสร้อย

วิเชียร สุขสร้อย รองผู้อำนวยการด้านเศรษฐกิจและสังคม สำนักงานนวัตกรรมแห่งชาติ (องค์การมหาชน) (NIA)กล่าวว่า อุตสาหกรรมยานยนต์พลังงานไฟฟ้า (Electric Vehicle : EV) เติบโตต่อเนื่องทั้งปริมาณการผลิตและจำนวนผู้ใช้งานที่เพิ่มขึ้นแบบก้าวกระโดด สอดคล้องกับตัวเลขการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าจากรมการขนส่งทางบกที่พบว่าตั้งแต่เดือนมกราคม – ตุลาคม พ.ศ.2565ประเทศไทยมียอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งหมด 15,423 คัน ซึ่งมากกว่ายอดจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้าย้อนหลังรวม 10 ปี ระหว่างปี พ.ศ.2555 – 2564 ที่มีการจดทะเบียนรถยนต์ไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 11,749 คัน จากสถิติดังกล่าวแสดงให้เห็นว่าตลาดรถยนต์ไฟฟ้าในไทยมีแนวโน้มเติบโตขึ้น โดย NIA คาดว่าในปี พ.ศ.2566 การเติบโตส่วนใหญ่จะมุ่งไปที่ตลาดรถยนต์ไฟฟ้าส่วนบุคคล เนื่องจากนโยบายการส่งเสริมของภาครัฐ มาตรการภาษี ราคาน้ำมันที่ปรับสูงขึ้น เศรษฐกิจในประเทศฟื้นตัว รวมถึงในภาคธุรกิจและเป็นการช่วยรักษ์สภาพอากาศของโลกลดมลพิษที่เกิดจากการใช้ยานยนต์พลังงานน้ำมัน เช่น การท่องเที่ยว บริการเดลิเวอรี่อาหารและบริการสาธารณะ ที่จะนำยานยนต์ไฟฟ้าเข้ามาอำนวยความสะดวกมากขึ้น ซึ่งช่วยให้นวัตกรรมยานยนต์ไฟฟ้ามีราคาที่เข้าถึงได้ หรือค่าบริการที่ถูกลง การพัฒนารูปแบบยานพาหนะไฟฟ้าที่ไม่จำกัดแค่เพียงรถยนต์นั่ง เช่น ตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า มอเตอร์ไซค์ไฟฟ้า รถบรรทุกพลังงานไฟฟ้า เรือและ รถโดยสารสาธารณะ ตลอดจนกลุ่มเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้อง เช่น สถานีชาร์จแบตเตอรี่ไฟฟ้า โฮมชาร์จเจอร์ การบริหารจัดการการจ่ายกระแสไฟฟ้าของแบตเตอรี่ แอปพลิเคชันบริการรถรับส่งที่ใช้ยานยนต์ไฟฟ้าเป็นตัวขับเคลื่อน

Advertisement
Kreamy Proof

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

ในส่วนการให้เงินทุนให้เปล่าในการสนับสนุนการสร้างสตาร์ทอัพและพัฒนานวัตกรรมด้านยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวข้องนั้น NIA ได้เลือกให้เป็นสาขาที่อยู่ภายใต้โครงการนวัตกรรมแบบมุ่งเป้า (Thematic Innovation) จากทั้งหมด 6 สาขา ได้แก่ 1.อาหารมูลค่าสูงสำหรับส่งออก 2.ความมั่นคงทางอาหาร 3.เศรษฐกิจการหมุนเวียนและเศรษฐกิจคาร์บอนต่ำ 4.พลังงานสะอาด 5.ธุรกิจดิจิทัลที่ใช้เทคโนโลยีด้านปัญญาประดิษฐ์ หุ่นยนต์ และเทคโนโลยีโลกเสมือน หรือ ARI Tech และ 6.กลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่อง วงเงินสูงสุดไม่เกินโครงการละ 5,000,000 บาท ครอบคลุมทั้งการพัฒนาต้นแบบนวัตกรรมและทดสอบประสิทธิภาพการใช้งานนวัตกรรมในสภาพแวดล้อมจริง โดยต้องมีความเป็นนวัตกรรมระดับประเทศ และสามารถสร้างผลกระทบเชิงเศรษฐกิจได้ ซึ่งจากการเปิดรับข้อเสนอโครงการในปี พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาพบว่ามีผู้ประกอบการฐานนวัตกรรมให้ความสนใจขอรับการสนับสนุนกว่า 236 ราย จาก 6 สาขา และในกลุ่มยานยนต์ไฟฟ้าและเทคโนโลยีที่เกี่ยวเนื่องมีจำนวนสูงถึง 70 – 80 ราย โดย NIA พร้อมช่วยสร้างโอกาสและเชื่อมโยงนวัตกรรมดังกล่าวไปสู่ตลาดที่เกี่ยวข้อง เช่น การท่องเที่ยว การคมนาคม อุตสาหกรรมที่เกี่ยวข้องกับยานยนต์ไฟฟ้าและการระดมทุน เพื่อให้เกิดการเติบโตในระดับที่สูงขึ้นและยั่งยืน เช่น โครงการสามล้อไฟฟ้าเดลิเวอรี่ (บริษัท บิซเน็กซ์ มอเตอร์ จำกัด) บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี (บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้เทค จำกัด) และโครงการเรือไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ (ห้างหุ้นส่วนจำกัด นาวาเลียน คอมโพสิท)  ตลอดจนช่วยตอกย้ำภาพลักษณ์ประเทศในฐานะ“ศูนย์กลางการผลิตและส่งออกรถยนต์ในภูมิภาค” อีกด้วย

ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ

ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ กรรมการผู้บริหารและผู้ก่อตั้ง บริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้เทค จำกัด และผู้ก่อตั้งธุรกิจให้บริการรถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามูฟมี กล่าวว่า มูฟมี รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า 100% สัญชาติไทยให้บริการโดยบริษัท เออร์เบิน โมบิลิตี้เทค จำกัด เมื่อประมาณ 5 ปีที่ผ่านมา โดยมีมีผู้บริหารและผู้ก่อตั้งทั้งหมด 4 คน คือ ดร.กฤษดา กฤตยากีรณ พิพัฒน์ ตั้งสิริไพศาล ศุภพงษ์ กิติวัฒนศักดิ์ และเมธา เจียรดิฐ มีวัตถุประสงค์ในการสร้างบริษัทขึ้นเพื่อแก้ปัญหาการเดินทางขนส่งให้เชื่อมต่อกับชีวิตประจำวันและควบคุมรถให้มีความปลอดภัย สะดวกสบาย เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ด้วยการพัฒนารถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าและระบบ Algorithm เพื่อจัดสรรผู้ใช้งานและรถตุ๊กตุ๊กให้เดินทางร่วมกันอย่างมีประสิทธิภาพสูงสุด จนออกมาเป็นแอปพลิเคชัน MuvMi บริการเรียกรถผ่าน Mobile Application เพื่อใช้เดินทางเฉพาะย่าน ให้บริการในระบบ Ride Sharing ทางเดียวกันไปด้วยกัน ราคาเริ่มต้นที่ 10 บาท เดินทางไปไหนก็ง่าย ใช้ได้ทุกวัน ปัจจุบันมี มีรถตุ๊กตุ๊กแบบ EV จำนวนมากกว่า 300 คัน ให้บริการรับ – ส่งผู้โดยสารตามแนวรถไฟฟ้า เข้าซอยหรือไปบริเวณใกล้เคียง ครอบคลุมพื้นที่ 12 ย่านทั่วกรุงเทพ เช่น จุฬาลงกรณ์-สามย่าน, อารีย์–ประดิพัทธ์, รัตนโกสินทร์, สุขุมวิท, พหลโยธิน, บางซื่อ, และอนุสาวรีย์ชัยสมรภูมิ เป็นต้น โดยมีจุดเด่นคือเรียกใช้บริการผ่านแอปพลิเคชันบนมือถือ สามารถแชร์เส้นทางร่วมกับคนอื่นได้ด้วยบริการในระบบ Ride Sharing เดินทางไปไหนก็ง่าย ใช้ได้ทุกวัน โดยตลอดระยะเวลา 5 ปี ได้ให้บริการผู้โดยสารแล้วกว่า 3,700,000 คน

รถตุ๊กตุ๊กไฟฟ้า

สำหรับการได้เงินทุนสนับสนุนจาก NIA เพื่อนำไปต่อยอดทางธุรกิจของทางบริษัทฯนั้น บริษัทฯได้รับเงินอุดหนุนในโครงการ “แปลงเทคโนโลยีเป็นทุน” ในหมวดค่าวัสดุและอุปกรณ์ ค่าจ้างเหมาผลิต ค่าใช้จ่ายในการดำเนินงาน และค่าทดสอบ พร้อมจัดทำต้นแบบ MuV: รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้าและทดสอบสมรรถนะ MuV: รถตุ๊กตุ๊กคนเมืองพลังงานไฟฟ้า โดยมุ่งประโยชน์และผลกระทบเชิงบวก  ด้านเศรษฐกิจ คือลดการนำเข้าเทคโนโลยีและผลิตภัณฑ์รถยนต์ไฟฟ้าจากต่างประเทศ เพื่อให้จัดจำหน่ายได้ทั้งในประเทศและต่างประเทศ และส่งเสริมตราสินค้าของไทย พร้อมด้วยในด้านสังคม ได้แก่ ลดมลพิษที่มีผลกระทบต่อสิ่งแวดล้อมและสุขภาพของผู้บริโภค และช่วยให้สถานการณ์ด้านพลังงานของโลกมีความมั่นคงขึ้น ในส่วนแผนการพัฒนาธุรกิจในปี พ.ศ.2566 นี้ มูฟมียังคงพัฒนาต่อไปไม่หยุดนิ่ง ทั้งในแง่บริการและการพัฒนาเทคโนโลยี รวมทั้งมองหาพันธมิตรทางธุรกิจทั้งภาครัฐ เอกชนและสถาบันการศึกษาเข้ามาเพิ่มเติมเพื่อให้บริการตุ๊กตุ๊กไฟฟ้ามีประสิทธิภาพ รวมทั้งขยายเส้นทางในโซนต่างๆให้ครอบคลุมทั่วพื้นที่กรุงเทพฯ โดยตั้งเป้าจะเพิ่มจำนวนรถโดยสารเป็น 1,000 คันและมีแผนขยายการให้บริการตุ๊กตุ๊กไฟฟ้าไปยังหัวเมืองหลักๆ เช่น เชียงใหม่ ภูเก็ตและชลบุรีในอนาคต


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard