Advertisement
Leaderboard 728x90

นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์กล่าวว่า สำหรับรายงานภาวะสังคมไทยไตรมาส 2/ 2565 ว่า สถานการณ์ด้านแรงงานในช่วงไตรมาส 2/2565 มีแนวโน้มปรับตัวดีขึ้นอย่างต่อเนื่อง โดยผู้มีงานทำมีจำนวนทั้งสิ้น 39.0 ล้านคน ขยายตัว 3.1% จากการขยายตัวของการจ้างงานนอกภาคเกษตรกรรมที่มีการจ้างงาน 27.4 ล้านคน ขยายตัว 4.9% จากช่วงเดียวกันของปีก่อน โดยเฉพาะสาขาการผลิต สาขาขายส่งขายปลีก และสาขาการขนส่งหรือเก็บสินค้าที่ขยายตัวได้ 6.1% ,12.1% และ 4.9 %ตามลำดับ เป็นผลมาจากการบริโภคและการส่งออกที่ขยายตัวได้ดี

สำหรับสาขาที่มีการจ้างงานลดลง ได้แก่ สาขาก่อสร้าง สาขาโรงแรมและภัตตาคารโดยการจ้างงานหดตัว 5.4% และ 2.6 % ตามลำดับ ซึ่งการจ้างงานที่ชะลอตัวในสาขาการก่อสร้าง เนื่องจากความกังวลจากภาวะเศรษฐกิจที่แม้จะปรับตัวดีขึ้น แต่ยังมีความไม่แน่นอนสูง ขณะที่สาขาโรงแรมและภัตตาคารการจ้างงานปรับตัวลดลง เนื่องจากภาคการท่องเที่ยวยังอยู่ในช่วงเริ่มฟื้นตัว

Advertisement
Kreamy Proof

ส่วนภาคเกษตรกรรมมีการจ้างงาน 11.7 ล้านคน ลดลง 0.8% ส่วนหนึ่งเป็นผลจากการเคลื่อนย้ายแรงงานจากภาคเกษตรกรรมกลับไปทำงานในสาขาเดิมตามการฟื้นตัวของเศรษฐกิจ ชั่วโมงการทำงานปรับตัวดีขึ้นใกล้เคียงกับช่วงปกติ โดยภาพรวมและภาคเอกชนอยู่ที่ 42.3 และ 46.1 ชั่วโมง/สัปดาห์ เพิ่มขึ้นต่อเนื่องและใกล้เคียงกับช่วงเดียวกันของปี 2562 ที่เป็นช่วงก่อนการแพร่ระบาดของโควิด-19

ในส่วนจำนวนผู้เสมือนว่างงานปรับตัวลดลงจาก 2.8 ล้านคนในไตรมาส2/2564 เหลือ 2.2 ล้านคน ในปัจจุบัน และผู้ทำงานล่วงเวลา (ทำงานมากกว่า 50 ชั่วโมง/สัปดาห์) มีจำนวน 6.3 ล้านคน เพิ่มขึ้น 5.5 %จากไตรมาสเดียวกันของปีที่แล้ว อัตราการว่างงานในไตรมาส2/2565 ลดลงต่ำที่สุดตั้งแต่มีการแพร่ระบาดของโควิด-19 โดยมีผู้ว่างงานจำนวน 5.5 แสนคน คิดเป็นอัตราการว่างงาน1.37% ลดลงทั้งผู้ว่างงานที่เคยทำงานมาก่อนและไม่เคยทำงานมาก่อน

ขณะเดียวกันการว่างงานยังปรับตัวดีขึ้นในทุกกลุ่ม โดยผู้ว่างงานระยะยาว (ผู้ว่างงานนานกว่า 1 ปี) มีจำนวน 1.5 แสนคนลดลง 1.2%จากไตรมาส2/2564 การว่างงานตามระดับกรศึกษาลดลงในทุกระดับการศึกษา และอัตราการว่างงานในระบบอยู่ที่ 2.17%ลดลงจาก 2.77%จากปีช่วงเดียวกันของปีที่ผ่านมา ประเด็นที่ต้องติดตามในระยะถัดไป 1 ผลกระทบจากภาวะเงินเฟ้อต่อแรงงาน โดยเงินเฟ้อที่เพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง ส่งผลให้ค่าจ้างที่แท้จริงลดลง โดยเฉพาะของแรงงานทักษะต่ำปัจจุบันรัฐบาลมีมาตรการช่วยเหลือค่าครองชีพของประชาชน ได้แก่ มาตรการลดค่าไฟฟ้า มาตรการลดค่าน้ำประปาและค่าไฟฟ้า สำหรับผู้ถือบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ และอยู่ระหว่างการจัดทำโครงการคนละครึ่งระยะที่ 5 นอกจากนี้ คณะกรรมการค่าจ้างอยู่ระหว่างการพิจารณาการปรับค่าจ้างขั้นต่ำ ซึ่งอาจช่วยบรรเทาภาระค่าครองชีพให้กับแรงงานจากราคาสินค้าที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นได้บ้าง

“หนี้สินครัวเรือนในไตรมาส 1/ 2565 ขยายตัวชะลอลง และคุณภาพสินเชื่อทรงตัว แต่ต้องเฝ้าระวังหนี้เสีย โดยเฉพาะสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อรถยนต์ รวมถึงต้องติดตามผลกระทบจากค่าครองชีพและอัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้น ซึ่งอาจจะกระทบต่อลูกหนี้ โดยไตรมาส 1/ 2565 หนี้สินครัวเรือนมีมูลค่า 14.65 ล้านล้านบาท ขยายตัว 3.6% ลดลงจาก 3.8% ในไตรมาสก่อนหน้า หรือคิดเป็นสัดส่วนต่อGDP อยู่ที่ 89.2% ลดลงจากไตรมาสก่อน ตามความกังวลของผู้บริโภคจากสถานการณ์การระบาดของCOVID-19 และภาวะเศรษฐกิจที่ยังไม่ฟื้นตัว และทำให้ครัวเรือนชะลอการก่อหนี้”

Advertisement
The Xpozir

สำหรับความสามารถในการชำระหนี้ทรงตัว โดยมีสัดส่วนสินเชื่ออุปโภคบริโภคที่ไม่ก่อให้เกิดรายได้ต่อสินเชื่อรวมอยู่ที่ 2.78% ซึ่งเป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการช่วยเหลือทางการเงินและการปรับโครงสร้างหนี้ที่ช่วยชะลอไม่ให้เกิดหนี้เสียเพิ่ม ในระยะถัดไป มีประเด็นที่ต้องให้ความสำคัญ คือ1.ผลกระทบของภาระค่าครองชีพที่อาจกดดันให้ครัวเรือนมีความต้องการสินเชื่อมากขึ้น ซึ่งอาจทำให้ครัวเรือนที่รายได้ยังไม่ฟื้นตัวและได้รับผลกระทบจากราคาสินค้าที่ปรับตัวสูงมีการก่อหนี้มากขึ้น 2.อัตราดอกเบี้ยที่มีแนวโน้มปรับเพิ่มขึ้นจะทำให้ต้นทุนการกู้ยืมของครัวเรือนเพิ่มขึ้นและกระทบต่อครัวเรือนที่ขอสินเชื่อใหม่เนื่องจากจะต้องรับภาระหนี้ในส่วนของดอกเบี้ยมากขึ้น

ขณะที่ 3.คุณภาพสินเชื่อในกลุ่มสินเชื่อส่วนบุคคลอื่น สินเชื่อบัตรเครดิต และสินเชื่อยานยนต์ โดยสินเชื่อส่วนบุคคลอื่นและสินเชื่อบัตรเครดิต มีสัดส่วนสินเชื่อ NPLs ต่อสินเชื่อรวมปรับตัวสูงขึ้น ขณะที่สินเชื่อรถยนต์มีสัดส่วนสินเชื่อกล่าวถึงพิเศษ (สินเชื่อค้างชำระน้อยกว่า 3 เดือน) ต่อสินเชื่อรวมอยู่ในระดับสูงและเพิ่มขึ้น สะท้อนความเสี่ยงของการเกิด NPLs โดยเฉพาะในครัวเรือนกลุ่มที่มีภาระหนี้สูง หรือมีกันชนทางการเงินต่ำ และ4.การส่งเสริมมาตรการปรับโครงสร้างหนี้อย่างต่อเนื่อง และมีมาตรการแก้หนี้ที่เฉพาะเจาะจง สำหรับกลุ่มเปราะบาง และรายได้ยังไม่ฟื้นตัว รวมทั้งใช้มาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจที่ไม่ส่งเสริมให้มีการก่อหนี้ใหม่ เพื่อป้องกันไม่ให้หนี้ครัวเรือนมีมูลค่าสูงจนกลายเป็นปัจจัยฉุดรั้งการฟื้นตัวของเศรษฐกิจในอนาคต


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard