บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ “MINT” เดินเกมรุก รองรับปี 66 เศรษฐกิจรวมเริ่มโงหัวขึ้น ชู 3 เป้าหมายหลักผ่าน 6 กลยุทธ์สำคัญ อัดงบลงทุน 15,000 ล้านบาท พร้อมขยายงานต่อเนื่อง มุ่งเพิ่มรูมเรตห้องพักโรงแรมอีก
มร.ดิลลิป ราชากาเรีย ประธานเจ้าหน้าที่บริหารกลุ่ม บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ “MINT” กล่าวว่า บริษัทฯ ได้วางเป้าหมายการดำเนินงานภายในช่วง 3 ปีจากนี้ไว้ 3 เป้าหมายหลัก คือ 1. รายได้หลักต้องมีการเติบโตไม่ต่ำกว่า 12%-15% ต่อปี, 2. อัตราผลตอบแทนของการลงทุนโดยรวมต้องไม่ต่ำกว่า 10% และ 3. ผลกำไรสุทธิจากการดำเนินงานต้องเติบโต 2 หลัก
ส่วนการดำเนินธุรกิจให้เป็นไปตามเป้าหมายนั้น จะผ่านการดำเนินงาน 6 กลยุทธ์หลัก คือ 1. การสร้างเครือข่ายทางธุรกิจจากแบรนด์ที่มีความแข็งแกร่งและถูกต้องตามความต้องการของพฤติกรรมผู้บริโภคที่เปลี่ยนไป 2. การสร้างมูลค่าเพิ่มและสร้างประสิทธิภาพที่ดีให้แก่องค์กร 3. สร้างพันธมิตรทางธุรกิจเพื่อขยายการลงทุนต่อเนื่อง 4. การสร้างนวัตกรรม การใช้เทคโนโลยีและดิจิทัลในการสร้างประสบการณ์และสร้างธุรกิจเพื่อเชื่อมต่อกับผู้บริโภค 5. การสร้างทีมงานที่มีความแข็งแกร่งและมีประสิทธิภาพ และ 6. การทำธุรกิจที่คำนึงถึงความยั่งยืนเป็นสำคัญ
ปี พ.ศ.2566 นี้บริษัทฯ ตั้งงบการลงทุนรวมปกติไว้ที่ 10,000-15,000 ล้านบาท ซึ่งสัดส่วนลงทุนธุรกิจโรงแรมมากที่สุด รองมาคือ อาหาร และไลฟ์สไตล์ อย่างไรก็ตาม หากในช่วงระหว่างดำเนินธุรกิจมีดีลอะไรที่น่าสนใจและมีโอกาสบริษัทฯ ก็จะพิจารณาเป็นกรณีไป ซึ่งขณะนี้ในแผนงานธุรกิจโรงแรมก็มีประมาณ 70 กว่าแห่งที่เตรียมจะเปิดบริการที่มีการเซ็นสัญญาเรียบร้อยแล้ว
ภาพรวมการดำเนินธุรกิจของ MINT ในปี พ.ศ.2565 เติบโตอย่างแข็งแกร่ง จากปัจจัยการฟื้นตัวของภาคเศรษฐกิจโลก ภาคการท่องเที่ยวที่กลับเข้าสู่สภาวะก่อนการระบาดของโรคโควิด-19 มีจำนวนนักท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้น ส่งผลให้ผลประกอบการของทุกกลุ่มธุรกิจในเครือไมเนอร์ ได้แก่ ไมเนอร์ โฮเทลส์ ไมเนอร์ฟู้ด และไมเนอร์ไลฟ์สไตล์ มีอัตราการทำกำไรที่เป็นบวกทั้งหมด โดยผลประกอบการรวมในปีที่ผ่านมาช่วง 9 เดือนแรกมีรายได้รวมเติบโต 80% มากกว่าการดำเนินงานของบริษัทในช่วงเวลาก่อนการระบาดของโรค COVID-19 ในปี พ.ศ.2562 และมีกำไรประมาณ 2,400 ล้านบาท จากเดิมขาดทุน
สำหรับประเทศไทยได้มีการคาดการณ์ว่าจำนวนนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติจะเพิ่มขึ้นจากราว 11 ล้านคนในปี 2565 เป็น 22 ล้านคนในปี 2566 โดยตัวเลขดังกล่าวจะเพิ่มขึ้นอีกหลังจากการเปิดประเทศจีนอย่างเป็นทางการเมื่อวันที่ 8 มกราคมที่ผ่านมา ซึ่งจะเป็นแรงขับเคลื่อนเศรษฐกิจที่สำคัญ และกระตุ้นกำลังซื้อให้กลับมาคึกคัก อันเป็นผลดีต่อทุกกลุ่มธุรกิจของ MINT
ปีนี้บริษัทฯยังคงทำกลยุทธ์การเพิ่มรูมเรต หรืออัตราราคาห้องพักให้สูงขึ้น (Room Rate) ซึ่งปีที่แล้วเราทำก็ได้รับผลดี เพื่อมาทดแทนกับปริมาณลูกค้าที่ยังน้อยอยู่โดยเฉพาะนักท่องเที่ยวจีนที่เพิ่งเริ่มจะกลับมา แต่ก็ต้องคำนึงถึงประสบการณ์และมูลค่าเพิ่มที่ลูกค้าจะได้รับด้วย
ด้านกลุ่มธุรกิจ ไมเนอร์ฟู้ด ยังคงมุ่งสร้างรายได้ผ่านทุกช่องทางการขาย เสริมสร้างโครงสร้างต้นทุนเพื่อเพิ่มความสามารถในการทำกำไร ผ่านร้านค้ารูปแบบใหม่ แพลตฟอร์มลอยัลตีโปรแกรมระหว่างลูกค้ากับแบรนด์ การพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่
กลุ่มธุรกิจไมเนอร์ไลฟ์สไตล์ ขานรับการเติบโตของตลาดอีคอมเมิร์ซ ซึ่งมุ่งเน้นลูกค้าเป็นศูนย์กลางมากขึ้น การสร้างประสบการณ์การซื้อสินค้าที่ผสมผสานระหว่างช่องทางหน้าร้านและช่องทางออนไลน์ การเลือกสรรผลิตภัณฑ์ การตั้งราคา และการเพิ่มช่องทางการชำระเงิน ควบคู่ไปกับการรักษาฐานลูกค้าเดิม เพิ่มลูกค้าใหม่
นายชัยพัฒน์ ไพฑูรย์ ประธานเจ้าหน้าที่ฝ่ายการเงิน บริษัท ไมเนอร์ อินเตอร์เนชั่นแนล จำกัด (มหาชน) หรือ “MINT” กล่าวว่า เพื่อเป็นการเดินหน้าสร้างการเติบโตเต็มรูปแบบ (Back to growth) ในปี 2566 นี้ ต่อยอดความแข็งแกร่งและความมั่นคงของบริษัทตลอด 50 ปี MINT จึงมุ่งสร้างสายสัมพันธ์แห่งความสำเร็จ ภายใต้แนวคิด “Bond with us” ระหว่างบริษัท ผู้บริโภค และผู้มีส่วนได้ส่วนเสียทุกคน โดยเตรียมเสนอขายหุ้นกู้ด้อยสิทธิที่มีลักษณะคล้ายทุนฯ ชุดใหม่ ครั้งที่ 1/2566 ซึ่งมีอันดับความน่าเชื่อถือของผู้ออกหุ้นกู้ในระดับ “A” แนวโน้มอันดับเครดิต “คงที่” และอันดับความน่าเชื่อถือของหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่นี้ ในระดับ “BBB+” โดยบริษัท ทริสเรทติ้ง จำกัด เมื่อวันที่ 2 ธันวาคม พ.ศ.2565 มูลค่ารวมประมาณ 11,000 ล้านบาท
บริษัทฯคาดว่าจะเปิดจองซื้อหุ้นกู้ด้อยสิทธิฯ ชุดใหม่แก่ประชาชนเป็นการทั่วไประหว่างวันที่ 7-9 กุมภาพันธ์พ.ศ.2566 นี้ ผ่านสถาบันการเงินชั้นนำทั่วประเทศ ได้แก่ ธนาคารกรุงเทพ ธนาคารกรุงไทย ธนาคารกรุงศรีอยุธยา ธนาคารกสิกรไทย ธนาคารไทยพาณิชย์ ธนาคารซีไอเอ็มบี ไทย บริษัทหลักทรัพย์ เกียรตินาคินภัทร บริษัทหลักทรัพย์ ธนชาต บริษัทหลักทรัพย์ เมย์แบงก์ (ประเทศไทย) บริษัทหลักทรัพย์ หยวนต้า (ประเทศไทย) และบริษัทหลักทรัพย์ เอเซียพลัส