บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) เผย เที่ยวบินจากจีนช่วงตรุษจีนรวม 240 เที่ยวบิน “สนามบินภูเก็ต” มากสุดตามด้วย “สุวรรณภูมิ” และดอนเมือง คาดเพิ่มขึ้นต่อเนื่องช่วงครึ่งปีหลัง ทั้งปีรวมกว่า 3.6 หมื่นเที่ยวบิน หรือเพิ่ม 2 เท่าจากปี พ.ศ.2565
นายณพศิษฏ์ จักรพิทักษ์ กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) กล่าวว่า จากนโยบายการเปิดประเทศของรัฐบาล นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม ได้มอบหมายให้ทุกหน่วยงานในสังกัดเตรียมความพร้อมรองรับนักท่องเที่ยวในช่วงเทศกาลตรุษจีนระหว่างวันที่ 19-25 มกราคม 2566 ซึ่งจะมีนักท่องเที่ยวชาวจีนเดินทางเข้ามาในประเทศไทยเพิ่มมากขึ้น ประกอบกับสาธารณรัฐประชาชนจีนมีนโยบายเปิดประเทศเช่นกัน จึงส่งผลให้ปริมาณเที่ยวบินในช่วงเวลาดังกล่าวเพิ่มขึ้นตามไปด้วย โดยคาดว่าจะมีปริมาณเที่ยวบินจากจีน ช่วงตรุษจีนรวม 240 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 34 เที่ยวบิน แบ่งเป็นเที่ยวบินเข้า-ออก ตามตารางการบินปกติ เฉลี่ยวันละ 18 เที่ยวบิน และเที่ยวบินขอเพิ่มพิเศษ เฉลี่ยวันละ 16 เที่ยวบิน (ไม่รวมเที่ยวบินขนส่งสินค้า)
โดยแบ่งเป็น 4 ท่าอากาศยานหลัก ได้แก่ ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ มีเที่ยวบินรวม 75 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 11 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานดอนเมือง มีเที่ยวบินรวม 52 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 7 เที่ยวบิน ท่าอากาศยานภูเก็ต มีเที่ยวบินรวม 78 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 11 เที่ยวบิน และท่าอากาศยานเชียงใหม่ มีเที่ยวบินรวม 35 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 5 เที่ยวบิน
สำหรับเที่ยวบินจากจีนเมื่อเปรียบเทียบ ก่อนการระบาดของ COVID-19 เมื่อเดือนมกราคม พ.ศ.2562 มีเที่ยวบินรวม 12,209 เที่ยวบิน เฉลี่ยวันละ 394 เที่ยวบิน ในขณะที่เดือนมกราคม พ.ศ.2566 วิทยุการบินฯ ประมาณการเที่ยวบินรวมทั้งเดือน อยู่ที่ 1,160 เที่ยวบิน หรือเฉลี่ยวันละ 37 เที่ยวบินต่อวัน ซึ่งน้อยกว่าปี 2562 อยู่ร้อยละ 91
โดยหลังจากจีนมีนโยบายเปิดประเทศ คาดการณ์ว่าแนวโน้มปริมาณเที่ยวบินจากจีนจะเพิ่มขึ้นอย่างต่อเนื่อง และจะมากขึ้นในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าทั้งปี พ.ศ.2566 จะมีเที่ยวบินจากจีนรวม 36,896 เที่ยวบิน เพิ่มจากปี พ.ศ.2565 คิดเป็นร้อยละ 227.6 หรือ 2 เท่าของปีที่ผ่านมา และคาดว่าจะกลับมาเท่ากับปี พ.ศ.2562 ในปี พ.ศ.2567
ทั้งนี้ วิทยุการบินฯ ได้เตรียมมาตรการบริหารจราจรทางอากาศรองรับจำนวนผู้โดยสารที่เพิ่มขึ้น โดยเข้าร่วมในคณะกรรมการจัดสรรตารางการบิน หรือ Slot Allocation ให้สอดคล้องกับค่าความสามารถในการรองรับ (Capacity) และปัจจัยข้อจำกัดต่างๆ ของท่าอากาศยาน เพื่อให้เกิดประสิทธิภาพในการรองรับปริมาณเที่ยวบินสูงสุด อีกทั้งจัดเตรียมความพร้อมและกำหนดแนวทางวิธีปฏิบัติในการให้บริการควบคุมจราจรทางอากาศ แนวทางการบริหารจัดการความคล่องตัวการจราจรทางอากาศ (Air Traffic Flow Management) มีการประสานงานอย่างใกล้ชิดกับทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ทั้งหน่วยงานภาครัฐ ท่าอากาศยาน และสายการบินผู้ใช้บริการ เพื่อให้การบริการการเดินอากาศเป็นไปด้วยความเรียบร้อย ปลอดภัย นอกจากนี้ได้เตรียมความพร้อมรองรับสถานการณ์ฉุกเฉินในทุกๆ ด้าน
โดยวิทยุการบินฯ ยืนยันว่าจะบริหารจัดการจราจรทางอากาศอย่างเต็มกำลังความสามารถ เพื่ออำนวยความสะดวกให้ทุกเที่ยวบินที่เข้ามาในน่านฟ้าไทย ให้เป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพและเกิดความปลอดภัยสูงสุด เป็นการสนับสนุนการพัฒนาอุตสาหกรรมการบิน เศรษฐกิจ การท่องเที่ยวให้สอดคล้องกับยุทธศาสตร์ของประเทศอีกทางหนึ่งด้วย