Advertisement
Leaderboard 728x90

การนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) จับมือ มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม” หวังยกระดับการบริหารพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม รองรับทักษะทางเทคนิคและเทคโนโลยีที่กำลังเป็นที่ต้องการมากขึ้นโดยมีผู้แทนของสถาบันการศึกษาทั้งสามแห่ง ได้แก่ ศาสตราจารย์เกียรติคุณ ดร.สัญชัย จตุรสิทธา ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่ รองศาสตราจารย์ ดร.ยุวดี รอดจากภัย คณบดีคณะสาธารณสุขศาสตร์ มหาวิทยาลัยบูรพา และรองศาสตราจารย์ ดร.พลอย สืบวิเศษ คณบดีคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ร่วมลงนาม

นายวีริศ อัมระปาล

นายวีริศ อัมระปาล ผู้ว่าการการนิคมอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (กนอ.) กล่าวว่า สำหรับการลงนามบันทึกความเข้าใจ “โครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม” ร่วมกับ 3 สถาบันการศึกษาของประเทศ ประกอบด้วย มหาวิทยาลัยบูรพา สถาบันวิจัยวิทยาศาสตร์และเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเชียงใหม่  และคณะรัฐประศาสนศาสตร์ สถาบันบัณฑิตพัฒนบริหารศาสตร์ ถือเป็นก้าวสำคัญอีกก้าวหนึ่งของ กนอ. ที่มุ่งมั่นและให้ความสำคัญกับการพัฒนานวัตกรรมองค์กรให้สอดคล้องกับวิสัยทัศน์ของ กนอ. คือ “นำนิคมอุตสาหกรรมสู่มาตรฐานสากล ด้วยนวัตกรรมอย่างยั่งยืน” โดยการยกระดับการบริหารพัฒนาองค์กรด้วยเทคโนโลยีนวัตกรรมอย่างเป็นรูปธรรม สามารถต่อยอดในเชิงพาณิชย์ได้ ซึ่ง กนอ. มีองค์ความรู้ด้านการพัฒนาและบริหารจัดการนิคมอุตสาหกรรม เมื่อร่วมมือกับหน่วยงานสถาบันการศึกษาที่มีศักยภาพสูงในการคิดค้น วิจัย และพัฒนานวัตกรรมด้านต่างๆ ไม่ว่าจะเป็นการพัฒนานวัตกรรมเพื่อส่งเสริมเศรษฐกิจชีวภาพ เศรษฐกิจหมุนเวียน และเศรษฐกิจสีเขียว (BCG) ด้านเทคโนโลยีเพื่อการลดก๊าซเรือนกระจก ด้านพลังงาน และด้านความปลอดภัย รวมถึงการพัฒนากระบวนการคิดเชิงออกแบบที่เกี่ยวข้องกับการใช้วิทยาศาสตร์เทคโนโลยีและนวัตกรรมแล้ว จะก่อให้เกิดธุรกิจใหม่ในหลากหลายสาขาที่เหมาะสม เพื่อรองรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. นับเป็นประโยชน์อย่างยิ่ง ต่อภาคการศึกษา คือ มหาวิทยาลัย และภาคธุรกิจอุตสาหกรรม คือ นิคมอุตสาหกรรมต่างๆ  ตลอดจนสามารถขยายผลไปยังกลุ่มผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย เพื่อก่อให้เกิดนวัตกรรมที่เป็นประโยชน์กับทุกภาคส่วน และประเทศชาติในอนาคต

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

“กนอ. จะใช้โอกาสนี้ในการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรมร่วมกับสถาบันการศึกษาทั้ง 3 แห่งให้บรรลุตามวัตถุประสงค์ของโครงการ เพื่อนำองค์ความรู้และเทคโนโลยีที่ได้มาประยุกต์ใช้ และเป็นส่วนหนึ่งในการขับเคลื่อนเศรษฐกิจของประเทศ ซึ่งปัจจุบันจากผลสำรวจพบว่า หลายหน่วยงานในประเทศไทย ให้ความสำคัญกับทักษะทางเทคนิคด้านเทคโนโลยีมากขึ้น เช่น ความปลอดภัยทางไซเบอร์และการเปลี่ยนแปลงทางดิจิทัล ขณะที่ประเทศไทยเองก็กำลังก้าวไปสู่การเป็นประเทศดิจิทัลอย่างเต็มตัว ดังนั้น ความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีดิจิทัลจึงกำลังเป็นที่ต้องการอย่างมาก” นายวีริศ กล่าว

โครงการศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรม

ทั้งนี้ ความร่วมมือระหว่าง กนอ. กับ ทั้ง 3 สถาบันในครั้งนี้ เพื่อศึกษาและพัฒนาด้านนวัตกรรมให้เกิดขึ้นจริงในด้านต่าง ๆ อาทิ ด้านพลังงาน ด้านการพัฒนาระบบดิจิตอล และด้านอื่น ๆ ที่เกี่ยวข้อง เพื่อรองรับการให้บริการที่เกี่ยวข้องกับ กนอ. ตลอดจนทำให้เกิดนวัตกรรมเชิงสร้างสรรค์ เกิดการพัฒนาและปรับปรุงกระบวนการทำงานที่ดีขึ้น สามารถตอบสนองและสนับสนุนการให้บริการผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย รวมถึงทุกภาคส่วนของ กนอ. ได้อย่างยั่งยืน โดยบันทึกความเข้าใจฉบับนี้ มีระยะเวลา 3 ปี


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard