กระทรวงการคลัง เผยยอดการจัดเก็บรายได้ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 (ต.ค.64-ก.ค.65) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.05 แสนล้านบาท หรือ 5.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีพ.ศ.2564 ที่ผ่านมา ประมาณ 5.8%
นายพรชัย ฐีระเวช ผู้อำนวยการสำนักงานเศรษฐกิจการคลัง (สศค.) ในฐานะโฆษกกระทรวงการคลังกล่าวว่า ในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณปี พ.ศ.2565 (ต.ค.64-ก.ค.65) รัฐบาลจัดเก็บรายได้สุทธิ จำนวน 2.03 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.05 แสนล้านบาท หรือ 5.5% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.8%โดยในช่วง 10 เดือนแรกของปีงบประมาณ 2565 การจัดเก็บรายได้ของ 3 กรมภาษี ประกอบด้วย กรมสรรพากร กรมสรรพสามิต และกรมศุลกากร รวมกันอยู่ที่ 2.18 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.43 แสนล้านบาท หรือ 7% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.95 แสนล้านบาท หรือ 9.8% โดยการจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพากร อยู่ที่ 1.67 ล้านล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 2.06 แสนล้านบาท หรือ 14.1% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.18 แสนล้านบาท หรือ 15.1% ตามการขยายตัวของเศรษฐกิจ การบริโภค และมูลค่าการนำเข้า ส่งผลให้ภาษีมูลค่าเพิ่ม และภาษีเงินได้นิติบุคคลสูงกว่าประมาณการ
ขณะที่การจัดเก็บรายได้ของกรมสรรพสามิต 4.28 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6.89 หมื่นล้านบาท หรือ 13.9% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.83 หมื่นล้านบาท หรือ 6.2% เนื่องจากการลดอัตราภาษีสรรพสามิตสำหรับน้ำมันดีเซลเพื่อช่วยบรรเทาความเดือดร้อนของประชาชนเป็นการชั่วคราวจากราคาน้ำมันดิบในตลาดโลกที่ปรับตัวสูงขึ้น ส่วนการจัดเก็บรายได้ของกรมศุลกากร อยู่ที่ 8.99 หมื่นล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 6.38 พันล้านบาท หรือ 7.6% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 5.2 พันล้านบาท หรือ 6.1%
ในส่วนรัฐวิสาหกิจ นำส่งรายได้ 1.34 แสนล้านบาท สูงกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท หรือ 12% และสูงกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 1.13 หมื่นล้านบาท หรือ 9.3% ส่วนหน่วยงานอื่น จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 1.24 แสนล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.44 หมื่นล้านบาท หรือ 10.4% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 2.28 หมื่นล้านบาท หรือ 15.5% ขณะที่กรมธนารักษ์ จัดเก็บรายได้อยู่ที่ 6.69 พันล้านบาท ต่ำกว่าประมาณการตามเอกสารงบประมาณ 1.34 พันล้านบาท หรือ 16.7% และต่ำกว่าช่วงเดียวกันของปีก่อน 79 ล้านบาท หรือ 1.2%
นางสาวกุลยา ตันติเตมิท อธิบดีกรมบัญชีกลางกล่าวว่า สำหรับภาพรวมการเบิกจ่ายในช่วง10เดือนของปีงบประมาณ2565 (ต.ค.64 -ก.ค.65) อยู่ที่ 2.67 ล้านล้านบาท คิดเป็น 86.14% ของวงเงินงบประมาณรายจ่ายที่3.1ล้านล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายลงทุนใช้จ่ายแล้ว 4.59แสนล้านบาท คิดเป็น 76.08% ของวงเงินงบประมาณ 6.03แสนล้านบาท รายจ่ายประจำใช้จ่ายแล้ว 2.21 ล้านล้านบาท คิดเป็น 88.57% ของวงเงินงบประมาณ 2.49 ล้านล้านบาท สำหรับเงินงบประมาณที่กันไว้เบิกเหลื่อมปี ใช้จ่ายแล้ว 2.35 แสนล้านบาท คิดเป็น 98.74% ของวงเงินงบประมาณ 2.38 แสนล้านบาท
“คาดว่าสิ้นปีงบประมาณ ปี พ.ศ.2565 หน่วยงานภาครัฐจะสามารถเบิกจ่ายงบประมาณได้ 93% โดยแบ่งเป็น งบรายจ่ายประจำ 98% และงบลงทุนราว 75% ซึ่งคาดว่าจะช่วยสนับสนุนให้จีดีพีปีนี้โตได้ 3.5% โดยกรมฯ ได้ติดตามเร่งรัดการใช้จ่ายเงินงบประมาณของส่วนราชการต่าง ๆ อย่างต่อเนื่อง มีการส่งคณะทำงานเฉพาะกิจในการติดตามเร่งรัดการเบิกจ่าย ทั้งส่วนกลาง และคลังจังหวัดทั้ง 76 จังหวัด ให้ดำเนินการเบิกจ่ายได้ตามแผนการใช้จ่ายเงิน รวมทั้งแจ้งหน่วยงานที่ยังเบิกจ่ายต่ำกว่าเป้าหมายให้เร่งรัดการดำเนินงาน การก่อหนี้และเบิกจ่ายให้แล้วเสร็จภายในเดือน ก.ย. 2565” นางสาวกุลยา กล่าว