การประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ได้พิจารณาขยายแนวทางช่วยเหลือกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้า โดยจะลดค่าไฟ 15-75% ช่วยผู้ใช้ไม่เกิน 300-500 หน่วยถึงสิ้นปี ชงเข้า ครม. ก่อนสิ้นเดือนสิงหาคม พ.ศ.2565 คาดใช้งบ 8 ,000 ล้านบาท
นายสุพัฒนพงษ์ พันธ์มีเชาว์ รองนายกรัฐมนตรี และรัฐมนตรีว่าการกระทรวงพลังงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการบริหารนโยบายพลังงาน (กบง.) ว่า กบง.ว่า ได้มีการพิจารณาแนวทางการช่วยเหลือค่าไฟฟ้าเพื่อบรรเทาผลกระทบต่อประชาชน และมีมติเห็นชอบแนวทางช่วยเหลือ ดังนี้
1.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าบ้านอยู่อาศัยที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มเปราะบางที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐาน โดยการให้ส่วนลดค่าไฟฟ้าจำนวน 92.04 สตางค์ต่อหน่วย เป็นเวลา 4 เดือน ตั้งแต่เดือนกันยายน พ.ศ.2565 – ธันวาคม พ.ศ.2565 (ประกอบด้วยส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนพฤษภาคม พ.ศ.2565 – สิงหาคม พ.ศ.2565 จำนวน 23.38 สตางค์ต่อหน่วย และส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน 2565 – ธันวาคม 2565 จำนวน 68.66 สตางค์ต่อหน่วย) เพื่อบรรเทาความเดือดร้อนและช่วยลดภาระค่าครองชีพของผู้ใช้ไฟฟ้า ซึ่งเป็นการดำเนินการต่อเนื่องจากนโยบายของรัฐ ตามมติคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 29 มีนาคม พ.ศ.2565 วันที่ 19 เมษายน พ.ศ.2565 และวันที่ 10 พฤษภาคม พ.ศ.2565
2.กลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน ซึ่งเป็นกลุ่มที่ได้รับผลกระทบจากการเพิ่มขึ้นของราคาไฟฟ้าซึ่งเป็นสาธารณูปโภคพื้นฐานเช่นกัน โดยการให้ส่วนลดจากการเพิ่มขึ้นของค่า Ft เดือนกันยายน 2565 – ธันวาคม 2565 แบบขั้นบันได 15-75% ประกอบด้วยผู้ใช้ไฟในอัตรา 301-350 หน่วยต่อเดือนได้ส่วนลด 75% และผู้ใช้ไฟในอัตรา 400-500 หน่วยต่อเดือนได้ส่วนลด 15%
“มาตรการช่วยเหลือกลุ่ม 1 และ 2 ซึ่งเป็นผู้ใช้ไฟฟ้าในพื้นที่ของ กฟน. และ กฟภ. จะครอบคลุมผู้ใช้ไฟฟ้าประมาณ 80% ของผู้ใช้ไฟฟ้าทั่วประเทศ หรือคิดเป็น 89% ของผู้ใช้ไฟฟ้าประเภทบ้านอยู่อาศัย และจะครอบคลุมบ้านที่อยู่อาศัยที่เป็นผู้ใช้ไฟฟ้ารายย่อยของ กฟผ. และผู้ใช้ไฟฟ้าของกิจการไฟฟ้าสวัสดิการสัมปทานกองทัพเรือ ซึ่งคาดว่าจะต้องใช้งบประมาณรวม 2,000 ล้านบาทต่อเดือน หรือประมาณ 8,000 ล้านบาทสำหรับ 4 เดือน ซึ่งจะนำเสนอเรื่องการขอใช้งบกลางของปีงบประมาณ 2565 ให้ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี(ครม.) พิจารณาเห็นชอบภายในเดือนส.ค.นี้ ส่วนที่เหลือจะขอใช้เงินจากงบประมาณประจำปี 2566 ตั้งแต่เดือนต.ค.เป็นต้นไป” นายสุพัฒนพงษ์ กล่าว
ทั้งนี้ เนื่องจากราคาแอลพีจียังคงอยู่ในระดับสูง กบง.ยังมีมติขยายระยะเวลามาตรการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซปิโตรเลียมเหลว หรือก๊าซหุงต้ม (แอลพีจี) ที่ให้ส่วนลดค่าซื้อก๊าซหุงต้มแก่ผู้มีรายได้น้อย ผ่านบัตรสวัสดิการแห่งรัฐ (โครงการฯ) จาก 45 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เพิ่มขึ้นอีก 55 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน เป็น 100 บาทต่อคนต่อ 3 เดือน ออกไปอีก 3 เดือน เริ่มประมาณกลางเดือนตุลาคม-ธันวาคม พ.ศ.2565 จากเดิมสิ้นสุดวันที่ 30 กันยายน พ.ศ.2565
โดยมอบหมายให้กรมธุรกิจพลังงานนำเรื่องเสนอต่อคณะรัฐมนตรี(ครม.) เพื่อพิจารณาให้ความเห็นชอบในหลักการเกี่ยวกับการขยายระยะเวลาโครงการและจัดทำคำขอรับงบประมาณเพื่อใช้สำหรับดำเนินโครงการเสนอสำนักงบประมาณตามขั้นตอนต่อไป อย่างไรก็ตาม จากการติดตามความคืบหน้าของโครงการบรรเทาผลกระทบด้านราคาก๊าซหุงต้ม พบว่าตั้งแต่เดือนกรกฎาคม-14 สิงหาคม พ.ศ.2565 มีผู้ใช้สิทธิ์ 3,741,994 คน
นายกุลิศ สมบัติศิริ ปลัดกระทรวงพลังงาน กล่าวว่า ส่วนความคืบหน้าการออกพระราชกำหนด(พรก.) ให้กระทรวงการคลังค้ำประกันการชำระหนี้ของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง พ.ศ. …. และการกู้ยืมเงินของสำนักงานกองทุนน้ำมันเชื้อเพลิง(สกนช.) กรอบวงเงิน 1.5 แสนล้านบาทนั้น ขณะนี้อยู่ระหว่างพิจารณารายละเอียด
“การออกพรก. ค้ำประกันให้กองทุนกู้เงิน เพื่อสร้างความมั่นใจให้สถาบันการเงินปล่อยกู้มาเสริมสภาพคล่องของกองทุน ซึ่งไม่ได้กู้ครั้งเดียวทั้งหมด 1.5 แสนล้านบาท ซึ่งช่วงนี้สถานการณ์ราคาดีเซลที่ปรับตัวลดลงบางช่วง ช่วยลดการชดเชยของกองทุนและยังสามารถเก็บเงินเข้ากองทุนได้ จากที่เคยอุดหนุนสูงถึงวันละ 12 บาทต่อลิตร” นายกุลิศกล่าว
นายวิศักดิ์ วัฒนศัพท์ ผู้อำนวยการ สกนช. กล่าวว่า คณะอนุกรรมการบริหารสภาพคล่องเงินกองทุนที่รองปลัดกระทรวงการคลังเป็นประธาน มีกำหนดการพิจารณาในวันที่ 5 ก.ย.65 นี้ เบื้องต้นกองทุนจะกู้เงินก้อนแรกวงเงิน 30,000 ล้านบาทตามความเหมาะสมก่อน แบ่งเป็นการกู้ผ่านพระราชบัญญัติกองทุน 20,000 ล้านบาท และผ่านพระราชกฤษฎีกาวงเงิน 10,000 ล้านบาท ซึ่งขณะนี้เตรียมทำหนังสือแจ้งไปยังธนาคารออมสินและธนาคารกรุงไทย เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้สถาบันการเงินว่ากองทุนมีกระทรวงการคลังค้ำประกัน แต่จะกู้ธนาคารใด วงเงินเท่าไหร่ ยังอยู่ระหว่างพิจารณา ส่วนการชำระหนี้ทั้งหมดจะอยู่ในความรับผิดชอบของกองทุนอยู่แล้ว ไม่ใช่หน้าที่ของกระทรวงการคลัง โดยปัจจุบันสถานะกองทุนน้ำมันฯติดลบอยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท
สำหรับ ตัวเลขส่วนลดแบบขั้นบันไดในอัตรา 15 -75 % ในส่วนของกลุ่มผู้ใช้ไฟฟ้าที่ใช้ไฟฟ้าระหว่าง 301-500 หน่วยต่อเดือน เบื้องต้นต้องรอครม.อนุมัติอีกครั้ง คือ การใช้ไฟตั้งแต่ 301-350 หน่วยต่อเดือน ได้ส่วนลด 75% ของค่าเอฟที หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 51.50 สต. ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 919,163 ราย กรณีใช้ไฟตั้งแต่ 351 – 400 หน่วยต่อเดือน ได้ส่วนลด 45% หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 30.90 สต.ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 741,199 ราย กรณีใช้ไฟตั้งแต่ 401-500 หน่วยต่อเดือน จะได้ส่วนลด 15% หรือได้รับส่วนลดค่าเอฟทีประมาณ 10.30 สต. ต่อหน่วย มีผู้ใช้ไฟประมาณ 1.06 ล้านราย