ศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนหรือ Sustainable Manufacturing Center (SMC) ภายใต้เมืองนวัตกรรมระบบอัตโนมัติ หุ่นยนต์และอิเล็กทรอนิกส์อัจฉริยะ (ARIPOLIS) ในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (Eastern Economic Corridor of Innovation: EECi) ร่วมกับพันธมิตร จัดกิจกรรมเปิดบ้าน “SMC OPEN HOUSE”เพื่ออัปเดตความก้าวหน้าการดำเนินงานและบริการของ SMC แก่ผู้ประกอบการที่เข้าร่วมงาน
ดร.พนิตา พงษ์ไพบูลย์ ผู้อำนวยการศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน (SMC) กล่าวว่าSMCอยู่ภายใต้การดูแลของศูนย์เทคโนโลยีอิเล็กทรอนิกส์และคอมพิวเตอร์แห่งชาติ (เนคเทค สวทช.) ภายในเขตนวัตกรรมระเบียงเศรษฐกิจพิเศษภาคตะวันออก (EECi) ตั้งอยู่ในพื้นที่วังจันทร์วัลเลย์ จังหวัดระยองจัดตั้งขึ้นตามมติของคณะรัฐมนตรีเมื่อวันที่ 25 สิงหาคม พ.ศ.2563 ซึ่งมีเป้าหมายหลักคือต้องการผลักดันอุตสาหกรรมไทยก้าวเข้าสู่ Industry 4.0 โดยส่งเสริมให้กลุ่มผู้ประกอบการโรงงานอุตสาหกรรมสามารถนําเทคโนโลยีสารสนเทศมาใช้ในการปรับปรุงกระบวนการผลิตของโรงงานรวมทั้งแนะนำบริการต่างๆ ของ SCMที่จะช่วยแก้ปัญหาและเพิ่มขีดความสามารถในการผลิต เช่นบริการตรวจประเมินระดับความพร้อมของโรงงาน, บริการฝึกอบรมพัฒนาบุคลากร, บริการให้คำปรึกษาทางเทคนิคและคำปรึกษาเกี่ยวกับแหล่งทุนและสิทธิประโยชน์, บริการพัฒนาระบบตามความต้องการของอุตสาหกรรม และบริการเครื่องมือสำหรับทดสอบและเรียนรู้
ศูนย์ SCM มีองค์ประกอบ 5 ด้านที่สำคัญ
สำหรับศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืน มีองค์ประกอบที่สำคัญ 5 ด้าน ได้แก่
1.ด้านการพัฒนาบุคลากรสำหรับกิจกรรมด้านการพัฒนาบุคลากรถือว่าสำคัญมากต่อการพัฒนาอุตสาหกรรมไปสู่อุตสาหกรรม 4.0 ครอบคลุมบุคลากรในทุกระดับตั้งแต่การสร้างความตระหนักในแนวโน้มเทคโนโลยีการผลิตในอนาคตให้แก่ผู้บริหารระดับสูง การสร้างความรู้ความเข้าใจในระดับที่สามารถนำไปปฏิบัติได้จริงให้แก่ผู้บริหารระดับกลางและวิศวกรขององค์กร ไปจนถึงทักษะของผู้ปฏิบัติงานในสายการผลิต ซึ่งการพัฒนาบุคลากรนี้ต้องมีทั้งการพัฒนาในภาคทฤษฎีและภาคปฏิบัติในส่วนของการพัฒนาองค์ความรู้ใหม่ (Upskilling) และการทบทวนองค์ความรู้ที่จำเป็น (Reskilling)
2.ด้านการสร้างเครือข่าย การเชื่อมโยงเทคโนโลยีและธุรกิจ และการผลักดันมาตรการส่งเสริมอุตสาหกรรมระบบสายการผลิตตัวอย่าง และ Testbed จะประกอบไปด้วยเครื่องจักรอัตโนมัติและกึ่งอัตโนมัติ และอุปกรณ์ต่างๆ ที่ทันสมัยอย่างครบครัน ให้ภาคการผลิตขนาดเล็กและขนาดกลาง ได้มาทดสอบทดลองปรับเปลี่ยนกระบวนการผลิตของตนเองให้เป็นระบบการผลิตกึ่งอัตโนมัติและอัตโนมัติ โดยสามารถปรับตัวแปรต่างๆ จนได้กระบวนการผลิตที่เหมาะสม ก่อนการตัดสินใจลงทุนในกระบวนการผลิตจริงที่โรงงานของตนเอง โดยมีผู้เชี่ยวชาญของศูนย์นวัตกรรมการผลิตยั่งยืนให้คำปรึกษาในทุกขั้นตอนอย่างใกล้ชิด ในขณะเดียวกันยังเป็นสถานที่ที่ System Integrators: SIs สามารถทำวิจัยพัฒนา ออกแบบ ผลิตต้นแบบ ทดสอบทดลอง เทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เพื่อตอบสนองกระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ตามความต้องการของภาคการผลิตขนาดใหญ่ทั้งในประเทศและภาคการผลิตขนาดใหญ่ในต่างประเทศ ซึ่งการมี SIs ที่มีขีดความสามารถสูงในประเทศถือเป็นแต้มต่ออย่างหนึ่งให้กับภาคการผลิตทั้งขนาดเล็ก กลางและใหญ่ในประเทศให้สามารถพัฒนากระบวนการผลิตสำหรับผลิตภัณฑ์ใหม่ๆได้อย่างมีประสิทธิภาพและทำให้สามารถตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคได้อย่างรวดเร็วมากยิ่งขึ้น
3.ด้านสายการผลิตตัวอย่าง และ Testbedเครือข่ายอุตสาหกรรมที่เข้มแข็ง จะช่วยเชื่อมโยงผู้มีบทบาทหน้าที่ที่แตกต่างกันทั้งในและต่างประเทศให้มาทำงานร่วมกันเพื่อผลักดันภาคการผลิตไทยให้มีการปรับตัวเข้าสู่ Industry 4.0 ได้อย่างเกิดประสิทธิผลและมีประสิทธิภาพ ผ่านกิจกรรมแลกเปลี่ยนข้อมูลข่าวสาร เรียนรู้แนวโน้มของเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆตลอดจนแนวโน้มความต้องการผู้บริโภค การจัดทำฐานข้อมูลอุตสาหกรรมร่วมกัน การผลักดันมาตรการสนับสนุนอุตสาหกรรมต่อภาครัฐร่วมกัน รวมไปถึงการเชื่อมโยงทางด้านเทคโนโลยีและธุรกิจให้เกิดการความร่วมมือทั้งในระดับ ทวิภาคี และพหุภาคี
4.ด้านการวิจัย พัฒนา และวิศวกรรมศูนย์SMCได้เตรียมโครงสร้างพื้นฐานและบุคลากรทางด้านวิจัย พัฒนา และวิศวกรรม ในระดับขยายผล (Translational R&I) เพื่อให้บริการแก่ SIs และภาคการผลิต ทั้งเข้าไปสนับสนุนองค์ความรู้ทางด้านเทคโนโลยีการผลิตเป็นรายโครงการตามความต้องการของ SIs และภาคการผลิต และการทำวิจัยพัฒนาในเทคโนโลยีการผลิตใหม่ๆ เพื่อการผลิตในอนาคต เป็นการลดภาระของ SIs และภาคการผลิต ในการทำวิจัยพัฒนาเทคโนโลยีที่ยังไม่มีความแน่นอนและมีความเสี่ยงสูง
5.ด้านมาตรฐาน และบริการตรวจประเมินความพร้อมภาคการผลิต SMCให้ความสำคัญกับมาตรฐานทั้งภาคบังคับและภาคสมัครใจ ซึ่งถือเป็นแกนกลางในการพัฒนาเทคโนโลยีการผลิตในหลายๆภาคส่วน ทั้งฮาร์ดแวร์ ซอฟต์แวร์ ตลอดจนระบบบริหารจัดการการผลิต ให้มีการพัฒนาไปในทิศทางที่ถูกต้องเหมาะสมหรือสอดคล้องกัน รวมไปถึงการให้บริการทดสอบมาตรฐานฮาร์ดแวร์ การทดสอบมาตรฐานด้านซอฟต์แวร์ ซึ่งในปัจจุบันนับว่าเป็นองค์ประกอบสำคัญของการพัฒนาระบบอัตโนมัติและหุ่นยนต์ในภาคการผลิต นอกจากนี้ยังมีบริการตรวจประเมินความพร้อมภาคการผลิต โดยทำงานร่วมกับผู้เชี่ยวชาญจากภาคอุตสาหกรรม สถาบันการศึกษา และสถาบันวิจัย ทั้งในและต่างประเทศ เพื่อให้ภาคการผลิตทราบถึงสถานภาพของตนว่าอยู่ในช่วงการพัฒนาใดของ Industry 4.0 และช่วยให้ภาคการผลิตทราบถึงช่องว่างก่อนที่จะดำเนินการปฏิรูปอุตสาหกรรมเพื่อให้บรรลุถึงเป้าหมายอย่างมีประสิทธิภาพ ผ่านเครื่องมือ/ตัวชี้วัดการประเมินระดับศักยภาพของอุตสาหกรรมที่ได้รับการยอมรับในระดับนานาชาติ
สิทธิประโยชน์พิเศษที่ทาง SMC จัดเตรียมให้กับผู้เข้าร่วมงาน
ในส่วนสิทธิประโยชน์พิเศษที่ทางSMC จัดเตรียมให้กับผู้เข้าร่วมกิจกรรมเปิดบ้าน “SMC OPEN HOUSE” ได้ลงทะเบียนก่อนใครได้แก่ การตรวจประเมินระดับความพร้อมของโรงงานด้วยดัชนีชี้วัดระดับความพร้อมอุตสาหกรรม 4.0 สำหรับประเทศไทย (Thailand i4.0 Index) ฟรีคำปรึกษาการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI และฟรีมาตรการส่งเสริมการปรับปรุงประสิทธิภาพด้านการยกระดับไปสู่อุตสาหกรรม 4.0, ทุนสนับสนุนสำหรับการใช้งานแพลตฟอร์มไอโอทีและระบบวิเคราะห์ข้อมูลอุตสาหกรรมและทุนสนับสนุนสำหรับทดสอบการใช้งานโครงข่าย 5G ในโรงงานอุตสาหกรรมพื่อช่วยให้การดำเนินการของผู้ประกอบการค่อยๆ ดำเนินไปได้ เมื่อทดลองใช้กับโรงงานได้ผลดี ผู้ประกอบการจะได้ตัดสินใจที่จะลงทุนต่อไปได้ ซึ่งเป็นการลดต้นทุนและช่วยลดความเสี่ยงให้กับโรงงานขนาดเล็กและขนาดกลางรองรับอุตสาหกรรมใหม่ๆไม่ว่าจะเป็น ยานยนต์ไฟฟ้า ชิ้นส่วนอิเล็กทรอนิกส์และหุ่นยนต์ เป็นต้น
ทางรอดของธุรกิจไทยหลัง COVID-19
จำรัส สว่างสมุทร ผู้อำนวยการใหญ่สภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย (ส.อ.ท.) กล่าวว่าหลังเกิดวิกฤต COVID-19 แทบทุกอุตสาหกรรมและภาคธุรกิจมีการปรับตัวครั้งใหญ่เพื่อพยุงธุรกิจของตนเอง ไม่เว้นแม้แต่ภาคอุตสาหกรรม โชคดีที่อุตสาหกรรมไทยมีการปรับตัวมาอย่างต่อเนื่องตามนโยบาย Industry 4.0 ของภาครัฐเช่น มีการนำเทคโนโลยีแพลตพร้อมที่ทันสมัยต่างๆมาปรับใช้ในภาคการผลิต เพื่อช่วยลดเวลา ลดต้นทุนการผลิตเพิ่มศักยภาพในการผลิต ช่วยลดภาวะโลกร้อนจากกระบวนการผลิตในโรงงานอุตสาหกรรม ลดปัญหาด้านต้นทุนแรงงานที่สูงขึ้นและเพิ่มขีดความสามารถในการแข่งขันกับประเทศต่างๆ โดยเฉพาะอุตสาหกรรมขาดใหญ่ที่ส่งออกไปขายยังต่างประเทศและอุตสาหกรรมใหม่ที่จะเป็นฟันเฟืองที่สำคัญในการขับเคลื่อนประเทศไทยในอนาคต แต่อุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดเล็กรายๆอุตสาหกรรมยังเข้าไม่ถึงเทคโนโลยีแพลตฟอร์มที่ทันสมัยต่างๆเพราะประเทศไทยยังไม่มีศักยภาพเพียงพอถึงขั้นที่จะสามารถผลิตเทคโนโลยีแพลตฟอร์มใช้งานได้เองทั้งหมด และถึงแม้จะมีการวิจัยและพัฒนาอย่างมากมายแต่ก็ยังไม่สามารถนำมาปรับใช้เพื่ออำนวยความสะดวกได้อย่างเต็มรูปแบบจริงจัง และไม่สามารถนำไปสู่การสร้างสรรค์ผลิตภัณฑ์ที่เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงได้ ดังนั้นจึงอยากให้ภาครัฐเร่งหานโยบายและมาตรการช่วยเหลืออย่างเร่งด่วนซึ่งต้องเลือกใช้นโยบายและมาตรการให้เหมาะสมกับบริบทของอุตสาหกรรมในแต่ละอุตสาหกรรมด้วยทั้งแบบค่อยเป็นค่อยไปถ่ายทอดองค์ความรู้สำหรับอุตสาหกรรมขนาดเล็ก ควรหาแหล่งเงินลงทุนในอัตราดอกเบี้ยไม่แพงมากนักให้ รวมทั้งหาผู้เชี่ยวชาญถ่ายทอดองค์ความในการวางแผนพัฒนาธุรกิจใช้และ บริโภคภายในประเทศเป็นหลักเพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจภายในประเทศให้ฟื้นตัวก่อนที่จะขยายสู่การส่งออกต่อไป และแบบเร่งด่วนในภาคอุตสาหกรรมขนาดกลางและขนาดใหญ่ควรเน้นในเรื่องของหารผลิตที่คำนึงถึงคุณภาพผลิตภัณฑ์และผลิตภัณฑ์เพื่อสุขภาพ ความแปลกใหม่ของผลิตภัณฑ์ อุตสาหกรรมใหม่ตามนโยบายภาครัฐที่ให้การส่งเสริม สร้างมูลค่าสร้างรายได้ การใช้เทคโนโลยีสมัยใหม่เข้ามาใช้ให้ครอบคลุมทั่วประเทศ รวมทั้งควรเร่งขยายเครือข่ายอินเตอร์เน็ตความเร็วสูงให้ครอบคลุมทั่วประเทศรองรับการเปลี่ยนผ่านสู่ Industry 4.0 อย่างยั่งยืน
การปรับตัวสู่ Industry 4.0
อดุลย์ เปรมประเสริฐ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารบริษัท ธนากรผลิตภัณฑ์น้ำมันพืช จำกัด กล่าวว่า บริษัทฯให้ความสำคัญกับบุคลากรเป็นลำดับแรกเพราะเชื่อว่าบุคลากรที่ดีมีความซื่อสัตย์ ขยันทำงานและมีความจงรักภักดีกับองค์กรจะช่วยนำพาองค์กรไปสู่ความสำเร็จได้ ต่อมาก็จะให้ความสำคัญกับการปรับเปลี่ยนองค์กรสู่ Industry 4.0ต่อเนื่องตามนโยบายรัฐบาล โดยการนำเทคโนโลยี นวัตกรรมและแพลตฟอร์มที่จำเป็น เช่น3D Printing, Big data and analyticsและหุ่นยนต์อัตโนมัตินำมาช่วยให้การทำงานมีประสิทธิภาพช่วยแก้ปัญหาต่างๆเติมจุดที่ขาดในการทำงานให้โรงงานมีการเดินหน้าทำงานส่งมอบผลิตภัณฑ์ที่มีคุณภาพแก่ลูกค้าอย่างต่อเนื่อง นอกจากนี้ผ่านมาบริษัทฯมีการดำเนินโครงการช่วยเหลือสังคมมากมาย โดยเฉพาะในช่วง COVID-19 มีการจัดให้บริการดูแลสุขภาพ นำของใช้ที่จำเป็นทั้งหน้ากากอนามัย สเปร์แอลกอฮอล์จัดถุงยังชีพไปแจก ในส่วนการพัฒนาสินค้ามีการทำงานร่วมกับสถาบันต่างๆเพื่อพัฒนาผลิตภัณฑ์ของบริษัทฯอยู่ตลอดเวลารวมทั้งบริษัทฯมีนโยบายที่จะผลิตน้ำมันพืชกุ๊กให้เป็นน้ำมันที่ใช้เทคโนโลยีที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมด้วยเทคโนโลยีที่ได้รับการยอมรับในระดับสากล