Advertisement
Leaderboard 728x90

กองทุนวิจัยและพัฒนากิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์และกิจการโทรคมนาคม เพื่อประโยชน์สาธารณะ หรือ กทปส. สนับสนุน โครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาต ของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) เพื่อใช้ประโยชน์ในงานหลายๆ ด้าน ทั้งการถ่ายภาพ การสำรวจและใช้โดรนอาจจะมีการใช้ในพื้นที่ที่หวงห้ามคุมครองบุคคลสำคัญ เป็นต้น

รศ. ดร. เอกรัฐ บุญภูงา

รศ. ดร. เอกรัฐ บุญภูงา หัวหน้าโครงการการวิจัยและพัฒนาระบบเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนเพื่อป้องกันการบินโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาตของคณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า ปัจจุบันมีการใช้โดรนกันอย่างแพร่หลาย ซึ่งก็มีประโยชน์ในหลายๆ ด้าน ทั้งการถ่ายภาพ การสำรวจ แต่ว่าบางทีโดรนก็อาจจะถูกนำไปใช้ในทางที่ไม่ดี เช่น การก่อการร้าย เนื่องจากสามารถติดระเบิดแล้วเอาไปจู่โจมบุคคลสำคัญได้ หรือบางครั้งการใช้โดรนอาจจะมีการใช้ในพื้นที่ที่หวงห้าม เช่นเขตพระราชวัง หรือบริเวณงานพระราชพิธี ตลอดจนขอบเขตการคุ้มกันบุคคลสำคัญ

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

แม้ว่าการพัฒนาเรดาร์เพื่อการตรวจจับโดรนจะมีให้เห็นแล้วในต่างประเทศ แต่ราคาของเครื่องหรือระบบก็มีราคาที่สูงมาก เราจึงคิดว่าควรจะพัฒนาเทคโนโลยีที่สามารถตรวจจับโดรนที่บินโดยไม่ได้รับอนุญาตให้ได้ด้วยฝีมือคนไทย ซึ่งเทคโนโลยี เรดาร์ก็เป็นเทคโนโลยีขั้นสูงและสมัยใหม่ ที่ใช้ในการตรวจจับพวกเครื่องบินอยู่แล้ว แต่โดรนซึ่งมีขนาดที่เล็กกว่า จำเป็นต้องมีการออกแบบเรดาร์ใหม่ เพื่อให้สามารถตรวจจับโดรนที่มีขนาดเล็กกว่าเครื่องบินให้มีความแม่นยำยิ่งขึ้น

“ชุดอุปกรณ์ตัวเรดาร์ จะมีลักษณะเป็นแบบสามารถเคลื่อนที่ได้ ทำให้เคลื่อนย้ายได้สะดวก อีกทั้งยังสามารถติดตั้งกับรถยนต์ได้ เพื่อช่วยให้สามารถเคลื่อนย้ายได้อย่างสะดวกและทันท่วงทีในการเคลื่อนย้ายเข้าสู่พื้นที่ที่ต้องการ เมื่อเปิดระบบ เรดาร์จะทำการสแกนแบบหมุนรอบ โดยสร้างคลื่นแม่เหล็กไฟฟ้า ย่านความถี่สูง ที่ผ่านการแปลงสัญญาณให้เหมาะสม และส่งออกไปอย่างต่อเนื่อง ซึ่งเมื่อไหร่ก็ตามที่มีวัตถุโดรนเข้ามาในรัศมีของคลื่นที่ครอบคลุมพื้นที่ราว 16ตารางกิโลเมตรรอบตัวเครื่อง และสูงราว 1-2 กิโลเมตร คลื่นแม่เหล็กไฟฟ้าที่ถูกปล่อยออกไปก็จะสะท้อนกลับ แล้วระบบจะทำการแจ้งเตือนว่าตรวจพบวัตถุ แล้วจะคำนวณผ่านโปรแกรมออกมาเป็นตำแหน่งพิกัดของโดรนที่ตรวจพบ ซึ่งจะแสดงผลผ่านหน้าจอ พร้อมความเร็วและทิศทางของการเคลื่อนที่ของโดรนออกมาอย่างชัดเจน” รศ. ดร. เอกรัฐกล่าว

การใช้เรดาร์ในการตรวจจับ

ข้อดีของการใช้เรดาร์ในการตรวจจับ จะช่วยลดข้อจำกัดของปัจจัยแวดล้อมในสภาวะการใช้งานจริง ทำให้สามารถใช้งานได้แม้ว่าจะไม่มีแสงสว่างหรือว่าฝนตก แต่อาจจะไม่เหมาะกับการใช้งานในพื้นที่ที่มีอาคารสูงเรียงกันหนาแน่น เพราะอาจจะทำให้เรดาร์ไม่สามารถเจาะทะลุผ่านเพื่อสแกนได้ ทำให้เกิดค่าที่ผิดเพี้ยนสะท้อนกลับมา โดยการสแกน 1 รอบจะใช้เวลาราว 2-3 วินาที ก็จะสามารถรับรู้สถานะและการเคลื่อนที่ของโดรนได้อย่างแม่นยำ

ปัจจุบันการทดสอบในพื้นที่จำกัดของมหาวิทยาลัยมจพ. เท่านั้น เนื่องการพัฒนาตัวเรดาร์จำเป็นต้องขออนุญาตการใช้คลื่นความถี่กับทาง กสทช. ซึ่งการขอต้องระบุสถานที่การทดสอบไว้อย่างชัดเจน แต่เมื่อเราทำเสร็จและส่งมอบให้หน่วยงานความมั่นคงได้นำไปใช้งานจริง เช่น กองทัพอากาศ หน่วยงานก็จะสามารถใช้งานได้เลย เนื่องจากเป็นคลื่นความถี่ที่หน่วยงานมีครอบครองไว้อยู่แล้ว ซึ่งเป็นความถี่สูงในช่วง 9-11GHz เพื่อให้สามารถตรวจจับโดรนขนาดเล็กได้

Advertisement
The Xpozir

ในอนาคตเชื่อว่าจะสามารถพัฒนาให้เชื่อมต่อกับส่วนของการจัดการ หลังการตรวจพบโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาตให้ขึ้นบินในพื้นที่เฉพาะได้แล้ว โดยระบบแจมเมอร์ (Drone Jammers) จะทำการเข้าแทรกแซงระบบของโดรนเพื่อควบคุมหรือบังคับนำโดรนลงพื้นในทันที แต่ปัจจุบันระบบดังกล่าวยังต้องแยกกันทำงาน โดยเมื่อเรดาร์ ซึ่งเป็นเสมือนตาทิพย์ที่ใช้สอดส่องดูแลตรวจพบโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาตก็จะส่งพิกัดให้หน่วยงาน แจมเมอร์ ได้รับรู้พิกัด แล้วทำการตรวจสอบเพื่อใช้เครื่องแจมเมอร์เข้าแทรกแซงการทำงานของโดรนนั้นๆ ต่อไป

การวิจัยครั้งนี้นับเป็นครั้งแรกของการพัฒนาเรดาร์ตรวจจับโดรนที่ไม่ได้รับอนุญาตของประเทศไทย ซึ่งเมื่อโครงการสามารถผลิตใช้งานได้จริง เชื่อว่าจะช่วยลดต้นทุนในการนำเข้าอุปกรณ์เรดาร์ตรวจจับที่แต่เดิมต้องนำเข้าจากต่างประเทศได้ถูกกว่า 10 เท่า และการใช้อุปกรณ์ต่างประเทศในไทยยังอาจจะมีข้อจำกัดด้านสภาพแวดล้อมที่ร้อนชื้นของประเทศไทยทำให้เกิดความเสียหายกับอุปกรณ์ได้ง่าย และเนื่องจากโดรนยังเป็นเทคโนโลยีใหม่ที่จะต้องมีการควบคุมการจราจร แม้ว่าโดรนจะมีประโยชน์หลายอย่าง แต่กระนั้นก็อาจจะเป็นช่องทางให้ผู้ก่อการร้ายสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการก่อวินาศกรรมได้อย่างไม่รู้ตัว ทำให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องต้องหาแนวทางในการป้องกันก่อนเกิดเหตุไว้นั่นเอง การวิจัยครั้งนี้จึงนับว่าเป็นประโยชน์ต่อความมั่นคงของชาติได้หลากหลายแง่มุม


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard