ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analytics คาดปี 2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจ อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท ลดลง 4.7% สาเหตุจากความต้องการพืชที่นำไปใช้อุตสาหกรรมลดลงจากเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ในขณะที่พืชอาหารยังขยายตัวได้ดี ตามการเปิดประเทศทั่วโลก โดยรายได้เกษตรกรจาก 5 พืชเศรษฐกิจ รวมกันอยู่ที่ 8.75 แสนล้านบาท หรือเพิ่มขึ้นกว่า 12.7% จากปี 2564 เมื่อแยกเป็นพืชแต่ละประเภท พบว่า อ้อย ปาล์มน้ำมัน มันสำปะหลัง ข้าว และยางพารา เพิ่มขึ้น 54.1%, 24.1%, 18.2%, 8.3% และ 0.3% ตามลำดับ โดยรายได้เกษตรกรที่ปรับตัวดีขึ้น เป็นผลมาจากราคาสินค้าเกษตร ประกอบกับปริมาณนํ้าฝนเพิ่มขึ้น ทำให้นํ้าในอ่างเก็บนํ้าที่สำคัญ และแหล่งนํ้าตามธรรมชาติมีปริมาณเพียงพอ ทำให้ผลผลิตเกษตรเพิ่มขึ้น
ศูนย์วิเคราะห์เศรษฐกิจ ทีทีบี หรือ ttb analyticsคาดว่า ปี พ.ศ.2566 รายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจหลักของไทย จะลดลง 4.7% อยู่ที่ 8.33 แสนล้านบาท เนื่องจากรายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรม ได้แก่ ปาล์มน้ำมัน และยางพารา ปรับตัวลดลง 32.6% และ 15.8% ตามภาวะเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัว ส่งผลให้สินค้าคงทนชะลอตัวลง และราคาพืชที่ใช้ในอุตสาหกรรมทั้งสองชนิดก็ปรับตัวลดลงเช่นเดียวกัน ในขณะที่รายได้เกษตรกรจากพืชที่นำไปประกอบอาหาร ได้แก่ อ้อย ข้าว และมันสำปะหลัง คาดว่าจะยังปรับตัวดีขึ้นต่อเนื่อง โดยคาดว่าจะขยายตัว 18.4% , 7.7% และ 5.4% ตามลำดับ ตามความต้องการที่เพิ่มขึ้นของเศรษฐกิจทั้งในประเทศและต่างประเทศ อันเป็นผลมาจากการเปิดประเทศทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจกลับเข้าสู่ระดับปกติ ภายหลังจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 ที่ทำให้ปิดประเทศไปนานในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา
แนวโน้มรายได้เกษตรกร 5 พืชเศรษฐกิจปี พ.ศ.2566
ปาล์มน้ำมัน : ปี พ.ศ.2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 32.6% อยู่ที่ 0.95 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตในประเทศคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 3.6% และราคาคาดว่าจะลดลง 34.6 % ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากราคาปาล์มน้ำมันปรับตัวสูงขึ้นอย่างต่อเนื่องในช่วง 3 ปีที่ผ่านมา (ตั้งแต่ปี พ.ศ.2563-2565) จูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น แต่ในด้านราคาปาล์มน้ำมันที่ปรับลดลง เนื่องมาจากเกิดปรากฏการณ์ลานีญา ทำให้มีปริมาณน้ำฝนมากในพื้นที่ชายฝั่งผู้ผลิตปาล์มรายใหญ่ของโลก ได้แก่ อินโดนีเซีย และมาเลเซีย ส่งผลทำให้ผลผลิตปาล์มน้ำมันโลกเพิ่มขึ้น จึงทำให้ราคาปาล์มน้ำมันลดลง อย่างไรก็ดี ระดับราคาปาล์มน้ำมันเฉลี่ยในปี พ.ศ.2566 อยู่ที่ 5 บาทต่อกิโลกรัม ก็ยังอยู่ในระดับสูง เมื่อเปรียบเทียบกับราคาเมื่อ 3 ปีก่อน
ยางพารา : ปี พ.ศ.2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะลดลง 15.8% อยู่ที่ 2.17 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตคาดว่าจะทรงตัวจากปี พ.ศ.2565 สำหรับราคายางพาราคาดว่าจะปรับลดลง 15.8% จากปี พ.ศ.2564-2565 ที่ราคาปรับตัวเพิ่มขึ้น 22.7% และ 1.5% ตามลำดับ เนื่องจาก 2 ปีที่ผ่านมา ราคายางพาราได้รับอานิสงส์จากราคาน้ำมันดิบที่ปรับสูงขึ้นทำให้ผู้ผลิตยางรถยนต์ปรับสัดส่วนการใช้ยางสังเคราะห์มาเป็นยางธรรมชาติ รวมถึงความต้องการยางพาราไปผลิตถุงมือยางทางการแพทย์ที่เพิ่มขึ้นจากการแพร่ระบาดของโรค COVID-19 อย่างไรก็ดี ปี พ.ศ.2566 แนวโน้มเศรษฐกิจโลกชะลอตัว จะส่งผลทำให้ความต้องการยางพาราที่นำไปใช้ในอุตสาหกรรมยานยนต์ลดลง ส่งผลทำให้ราคายางพาราปรับตัวลดลง
ข้าวเปลือก : ปี พ.ศ.2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 7.7% อยู่ที่ 3.11 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตข้าวจะเพิ่มขึ้น 3.4% และราคาข้าวเปลือก (ความชื้น 15%) จะเพิ่มขึ้น 4.2% โดยรายได้เกษตรกรจะได้รับผลดีจากผลผลิตข้าวนาปรังที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการขยายพื้นที่เพาะปลูกข้าว ประกอบกับปี 2566 ปริมาณน้ำในอ่างกักเก็บน้ำจากน้ำฝนที่ตกลงในปี 2565 มีปริมาณค่อนข้างมาก ส่วนราคาข้าวเปลือกปี 2566 คาดว่าจะดีขึ้น จากความต้องการบริโภคข้าว เนื่องจากกิจกรรมการค้าและบริการกลับมาเป็นปกติ จากการเปิดประเทศต่าง ๆ ทั่วโลก โดยข้าวไทยยังคงเป็นที่ต้องการของตลาดทั้งในประเทศและต่างประเทศ
อ้อย : ปี พ.ศ.2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 18.4% อยู่ที่ 1.2 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 12.6% และ 5.2% ตามลำดับ ปริมาณผลผลิตที่เพิ่มขึ้นมาจากปริมาณน้ำที่เพียงพอต่อการเพาะปลูก รวมถึงราคาอ้อยที่ปรับสูงขึ้น ซึ่งเป็นผลมาจากความร่วมมือการประกันราคาอ้อยของ 3 สมาคมโรงงานน้ำตาลทราย ได้แก่ สมาคมโรงงานน้ำตาลไทย สมาคมผู้ผลิตน้ำตาลและชีวพลังงานไทย และสมาคมการค้าอุตสาหกรรมน้ำตาล โดยมีวัตถุประสงค์เพื่อให้มีวัตถุดิบอ้อยเพียงพอต่อการนำไปผลิตเป็นน้ำตาลเพื่อใช้ในประเทศและส่งออก จึงจูงใจให้เกษตรกรขยายพื้นที่เพาะปลูกมากขึ้น
มันสำปะหลัง : ปี พ.ศ.2566 คาดว่ารายได้เกษตรกรจะขยายตัว 5.4% อยู่ที่ 0.90 แสนล้านบาท โดยปริมาณผลผลิตและราคาคาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.2% และ 3.1% ตามลำดับ สาเหตุที่ปริมาณผลผลิตเพิ่มขึ้นเนื่องจากแนวโน้มราคาหัวมันสดที่เพิ่มขึ้น จูงใจให้เกษตรกรหันมาเพาะปลูกมากขึ้น ด้านราคามันสำปะหลังคาดว่าจะดีขึ้นต่อเนื่อง จากความต้องการที่จะนำไปแปรรูปเป็นมันเส้น มันอัดเม็ด แป้งมันสำปะหลัง และเอทานอล และความต้องการจากประเทศคู่ค้า โดยเฉพาะจีนซึ่งเป็นคู่ค้าหลักที่มีการเปิดประเทศ
นอกจากนี้ จะพบว่าแนวโน้มปี พ.ศ.2566 พืชเกษตรที่นำไปใช้ประกอบอาหาร ยังคงเติบโตได้อย่างต่อเนื่อง จากความต้องการบริโภคอาหารที่เพิ่มขึ้น เนื่องจากการเปิดประเทศที่ทำให้กิจกรรมทางเศรษฐกิจของโลกกลับเข้าสู่ระดับปกติอีกครั้ง ในขณะที่พืชที่นำไปใช้ในภาคอุตสาหกรรมชะลอตัวลง ทำให้ราคามีแนวโน้มลดลง สาเหตุจากทิศทางเศรษฐกิจโลกชะลอตัว ทำให้ความต้องการสินค้าอุตสาหกรรมชะลอตัวลงตามไปด้วย ทั้งนี้ ต้นทุนการผลิตที่อยู่ในระดับสูง ได้แก่ ราคาปุ๋ยเคมี ราคาน้ำมันเชื้อเพลิง รวมทั้งทิศทางค่าเงินบาทแข็งค่าและผันผวน จะเป็นปัจจัยกดดันที่ส่งผลกระทบต่อรายได้สุทธิของเกษตรกรได้
ttb analyticsแนะเกษตรกรลดต้นทุนด้วยการปรับสัดส่วนการใช้ปุ๋ยอินทรีย์ในการเพาะปลูกมากขึ้น นอกจากนี้ ควรจัดทำบัญชีรายการต้นทุนการเพาะปลูก อาทิ ค่าปุ๋ยเคมี ค่าเมล็ดพันธุ์ ค่าแรงงาน ค่าสูบน้ำ ค่าหว่าน ค่าไถพรวนดิน ฯลฯ เพื่อให้ทราบถึงต้นทุนการเพาะปลูก ซึ่งสามารถนำไปประกอบการพิจารณาลดต้นทุนการผลิตลง
ในขณะที่ ภาครัฐควรส่งเสริมให้เกษตรกรหันมาใช้ปุ๋ยสั่งตัด ซึ่งเป็นการผสมแม่ปุ๋ยให้ตรงกับสภาพดินและความต้องการของพืช ส่งเสริมให้เกษตรกรใช้ปุ๋ยเคมีและปุ๋ยอินทรีย์แบบผสมผสาน ซึ่งจะช่วยลดค่าปุ๋ยเคมีลงได้ นอกจากนี้ ควรส่งเสริมให้เกษตรกรรวมกลุ่มกันทำเกษตรแปลงใหญ่ ซึ่งจะช่วยลดต้นทุนการผลิต เพิ่มผลผลิตได้มากขึ้น และช่วยเพิ่มอำนาจต่อรองทางการตลาดได้ และในกรณีที่ต้นทุนการผลิตเพิ่มสูงมากเกินไป ภาครัฐควรพิจารณาใช้งบประมาณช่วยเหลือตามความเหมาะสม
ด้านแนวโน้มค่าเงินบาทปี พ.ศ.2566 ที่คาดว่าจะแข็งค่าและมีความผันผวนสูง ผู้ส่งออกสินค้าเกษตรควรพิจารณาบริหารความเสี่ยงด้วยการทำประกันอัตราแลกเปลี่ยนเงินตราต่างประเทศเพื่อล็อกผลกำไรจากการขาย ซึ่งจะช่วยรักษารายได้สุทธิของเกษตรกรได้ต่อไป