Advertisement
Leaderboard 728x90

สนค. เผยเงินเฟ้อ ก.พ.67 ลบ 0.77% ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน เหตุราคาเนื้อสัตว์ ผักสดปรับลง

สำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เผยเงินเฟ้อ ก.พ.67 ลบ 0.77% ลดลงต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน เหตุราคาเนื้อสัตว์ ผักสดปรับลง ได้อานิสงค์จากมาตรการรัฐ ลดน้ำมันและไฟฟ้า และฐานปีก่อนสูง ยอดรวม 2 เดือน ลด 0.94% คาด มี.ค.-เม.ย. จะติดลบต่อ แต่เดือน พ.ค. จะกลับมาบวก หลังมาตรการลดน้ำมัน ค่าไฟ หมด คงเป้าทั้งปี ติดลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7%

นายพูนพงษ์ นัยนาภากรณ์ ผู้อำนวยการสำนักงานนโยบายและยุทธศาสตร์การค้า (สนค.) เปิดเผยว่า ดัชนีราคาผู้บริโภค (เงินเฟ้อทั่วไป) เดือน ก.พ.2567 เท่ากับ 107.22 เทียบกับ ม.ค.2567 เพิ่มขึ้น 0.22% เทียบกับเดือน ก.พ.2566 ลดลง 0.77% เป็นการลดลงต่อเนื่องเป็นเดือนที่ 5 ติดต่อกัน โดยมีสาเหตุสำคัญจากราคาอาหารสด ทั้งเนื้อสัตว์ และผักสด ที่ปริมาณผลผลิตเข้าสู่ตลาดจำนวนมาก และราคาปรับลดลง รวมทั้งน้ำมันดีเซลและค่ากระแสไฟฟ้า ราคายังต่ำกว่าเดือนเดียวกันของปี 2566 จากมาตรการช่วยเหลือของภาครัฐ ประกอบกับฐานราคาเดือน ก.พ.2566 ที่ใช้คำนวณเงินเฟ้อยังอยู่ระดับสูง มีส่วนทำให้อัตราเงินเฟ้อทั่วไปลดลง ส่วนสินค้าและบริการอื่น ๆ ราคาเคลื่อนไหวในทิศทางปกติ และหากรวมเงินเฟ้อ 2 เดือนของปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) ลดลง 0.94%

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

ทางด้านเงินเฟ้อพื้นฐานเดือน ก.พ.2567 เมื่อหักอาหารสดและพลังงานออก เพิ่มขึ้น 0.02% เมื่อเทียบกับเดือน ม.ค.2567 และเพิ่มขึ้น 0.43% เมื่อเทียบกับเดือน ก.พ.2566 เฉลี่ย 2 เดือน ปี 2567 (ม.ค.-ก.พ.) เพิ่มขึ้น 0.47%

แนวโน้มอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเดือน มี.ค.2567 คาดว่าจะยังคงลดลงต่อเนื่อง และไตรมาสแรกปี 2567 เงินเฟ้อเฉลี่ยน่าจะอยู่ที่ลดลง 0.7-0.8% และเดือน เม.ย.2567 ก็จะยังลด โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากมาตรการลดค่าครองชีพด้านพลังงาน ที่มีการตรึงราคาค่ากระแสไฟฟ้าที่ 3.99 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนที่ใช้ไฟฟ้าไม่เกิน 300 หน่วยต่อเดือน และที่ 4.18 บาทต่อหน่วย สำหรับครัวเรือนทั่วไป มาตรการตรึงราคาน้ำมันดีเซลไม่ให้เกิน 30 บาทต่อลิตร จนถึงวันที่ 19 เม.ย.2567 ฐานราคาที่สูงในปีก่อนหน้าของเนื้อสุกรและผักสด และเศรษฐกิจของไทยขยายตัวในระดับต่ำอย่างต่อเนื่อง โดยจีดีพีไตรมาส 4 ขยายตัว 1.7% และทั้งปี 2566 ขยายตัว 1.9% แต่เงินเฟ้อจะเริ่มเป็นบวกในเดือน พ.ค.2567 เพราะฐานเดือน พ.ค.2567 อยู่ในระดับต่ำ และมาตรการช่วยช่วยค่าครองชีพ โดยเฉพาะน้ำมันจะสิ้นสุด 19 เม.ย.2567 และค่าไฟฟ้าสิ้นสุด 30 เม.ย.2567 ซึ่งต้องติดตามมาตรการรัฐต่อไป

นอกจากนี้ ยังมีปัจจัยที่ทำให้อัตราเงินเฟ้อเพิ่มขึ้น ได้แก่ สถานการณ์ความขัดแย้งในตะวันออกกลางที่ยืดเยื้อ ซึ่งอาจส่งผลให้ราคาสินค้าโภคภัณฑ์ที่สำคัญปรับสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาน้ำมันดิบในตลาดโลก เงินบาทมีแนวโน้มอ่อนค่า ส่งผลให้การนำเข้าสินค้ามีราคาสูงขึ้น สภาพอากาศที่มีความแปรปรวนในช่วงท้ายของปรากฏการณ์เอลนีโญ รวมทั้งการเข้าสู่ฤดูร้อน ซึ่งจะส่งผลกระทบต่อต้นทุนและปริมาณผลผลิตทางการเกษตร และการขยายตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ส่งผลให้อุปสงค์และราคาของสินค้าและบริการที่เกี่ยวข้องกับภาคการท่องเที่ยวปรับตัวสูงขึ้น โดยเฉพาะราคาค่าโดยสารเครื่องบิน

อย่างไรก็ตาม สนค.ยังคงคาดการณ์อัตราเงินเฟ้อทั่วไปปี 2567 อยู่ระหว่างลบ 0.3% ถึงเพิ่ม 1.7% ค่ากลาง 0.7% ซึ่งเป็นอัตราที่สอดคล้องกับสถานการณ์เศรษฐกิจในปัจจุบัน และหากสถานการณ์เปลี่ยนแปลงอย่างมีนัยสำคัญจะมีการทบทวนอีกครั้ง

Advertisement
The Xpozir

Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard