การประชุมคณะกรรมการค่าจ้าง ชุดที่ 21 (กรรมการไตรภาคี) ครั้งที่ 8/2565 เพื่อพิจารณากลั่นกรองข้อเสนออัตราค่าจ้างขั้นต่ำปี พ.ศ.2565 ร่วมกับผู้แทนฝ่ายนายจ้าง ผู้แทนฝ่ายลูกจ้าง และผู้แทนหน่วยงานภาครัฐ โดยมีนายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน เป็นประธาน โดยคณะกรรมการฯ มีทั้งหมด 19 คน เป็นฝ่ายรัฐบาล 5 คน ฝ่ายนายจ้าง 4 คน ลูกจ้าง 5 คน ที่ปรึกษา 5 คน การลงมติจะต้องใช้เสียง 3 ใน 5 ของคณะกรรมการแต่ละฝ่ายโดยคณะกรรมการไตรภาคี มรมติปรับขึ้นค่าแรงขั้นต่ำโดย “ชลบุรี-ระยอง-ภูเก็ต” ปรับขึ้นสูงสุด 354 บาท/วันขณะที่ กทม. และปริมณฑลได้ 353 บาท/วัน และเตรียมเสนอเข้า ครม.โดยเร็วที่สุด เพื่อประกาศใช้ตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป
นายบุญชอบ สุทธมนัสวงษ์ ปลัดกระทรวงแรงงาน กล่าวภายหลังเป็นประธานการประชุมคณะกรรมการค่าจ้างชุดที่ 21 ครั้งที่ 8/2565 ว่า คณะกรรมการค่าจ้างได้ประชุมพิจารณาและมีมติการขึ้นอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ประจำปี พ.ศ.2565 โดยได้ข้อสรุปร่วมกันในการปรับขึ้นซึ่งแบ่งเป็น 9 อัตรา ได้แก่
- ค่าจ้าง 354 บาท มี 3 จังหวัด คือ ชลบุรี ระยอง และภูเก็ต
- ค่าจ้าง 353 บาท มี 6 จังหวัด คือ กรุงเทพมหานคร นนทบุรี นครปฐม ปทุมธานี สมุทรปราการ และสมุทรสาคร
- ค่าจ้าง 345 บาท มี 1 จังหวัด คือ ฉะเชิงเทรา
- ค่าจ้าง 343 บาท มี 1 จังหวัด คือ พระนครศรีอยุธยา
- ค่าจ้าง 340 บาท มี 14 จังหวัด คือ ปราจีนบุรี หนองคาย อุบลราชธานี พังงา กระบี่ ตราด ขอนแก่น เชียงใหม่ สุพรรณบุรี สงขลา สุราษฎร์ธานี นครราชสีมา ลพบุรี และสระบุรี
- ค่าจ้าง 338 บาท มี 6 จังหวัด คือ มุกดาหาร กาฬสินธุ์ สกลนคร สมุทรสงคราม จันทบุรี และนครนายก
- ค่าจ้าง 335 บาท มี 19 จังหวัด คือ เพชรบูรณ์ กาญจนบุรี บึงกาฬ ชัยนาท นครพนม พะเยาสุรินทร์ ยโสธร ร้อยเอ็ด เลย พัทลุง อุตรดิตถ์ นครสวรรค์ ประจวบคีรีขันธ์ พิษณุโลก อ่างทอง สระแก้ว บุรีรัมย์ และเพชรบุรี
- ค่าจ้าง 332 บาท มี 22 จังหวัด คือ อำนาจเจริญ แม่ฮ่องสอน เชียงราย ตรัง ศรีสะเกษ หนองบัวลำภู อุทัยธานี ลำปาง ลำพูน ชุมพร มหาสารคาม สิงห์บุรี สตูล แพร่ สุโขทัย กำแพงเพชร ราชบุรี ตาก นครศรีธรรมราช ชัยภูมิ ระนอง และพิจิตร
- ค่าจ้าง 328 บาท มี 5 จังหวัด คือ ยะลา ปัตตานี นราธิวาส น่าน และอุดรธานี
ทั้งนี้ การพิจารณาค่าจ้างขั้นต่ำในปี พ.ศ.2565 ที่ประชุมได้พิจารณากำหนดบนพื้นฐานของความเสมอภาค เพื่อให้นายจ้างสามารถประกอบธุรกิจอยู่ได้ ลูกจ้างสามารถดำรงชีวิตอยู่ได้อย่างเป็นสุข และเพื่อเพิ่มกำลังซื้อภายในประเทศ ทั้งนี้ เมื่อมีการกำหนดอัตราค่าจ้างขั้นต่ำ ปี 2565 แล้ว คณะกรรมการค่าจ้างได้มีข้อเสนอให้รัฐบาลมีการออกมาตรการเพื่อลดผลกระทบจากการปรับอัตราค่าจ้างขั้นต่ำในส่วนค่าใช้จ่ายของผู้ประกอบการ เพื่อนำเรื่องนี้เสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณามอบหมายให้กระทรวงที่เกี่ยวข้องดำเนินการ ทั้งนี้ กระทรวงแรงงานจะนำผลสรุปเสนอเข้าที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) พิจารณาให้ความเห็นชอบโดยเร็วที่สุด เพื่อให้มีผลใช้บังคับตั้งแต่วันที่ 1 ตุลาคม พ.ศ.2565 เป็นต้นไป