‘รฟท. ขสมก. และกรุงไทย’ผนึกกำลัง เปิดตัว บัตรเหมาจ่ายนั่งรถไฟฟ้า ‘สายสีแดง-รถเมล์’ 2,000 บาท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. ตั้งเป้าจ่ายผ่านบัตรวันละหมื่นคน จากปัจจุบัน 4-5 พันคนต่อวัน ส่วนขสมก. คาดเพิ่มขึ้น 5.5-6 หมื่นคนต่อวัน จากเดิม 5 หมื่นคนต่อวัน พร้อมประเมินผล 6 เดือน หนุนรองรับพรรคการเมืองออกนโยบายประหยุดค่าครองชีพ
นายนิรุฒ มณีพันธ์ ผู้ว่าการรถไฟแห่งประเทศไทย (รฟท.) พร้อมด้วย นางพริ้มเพรา วงศ์สุทธิรัตน์ รองผู้อำนวยการฝ่ายบริหาร องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.), นายสุเทพ พันธุ์เพ็ง กรรมการผู้อำนวยการใหญ่ บริษัท รถไฟฟ้า ร.ฟ.ท. จำกัด หรือผู้ให้บริการรถไฟฟ้าชานเมืองสายสีแดง และ นายกิตติพัฒน์ เพียรธรรม รองกรรมการผู้จัดการใหญ่ ธนาคารกรุงไทย ร่วมกันเปิดโครงการบัตรเหมาจ่าย TRANSIT PASS RED LINE BKK X BMTA หรือ บัตรเหมาจ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถโดยสาร (รถเมล์) ของ ขสมก. เพื่ออำนวยความสะดวกผู้ใช้บริการระบบขนส่งสาธารณะ 2 ระบบ คือ ทางรางและทางบกเดินทางได้ด้วยการใช้บัตรใบเดียว
บัตรเหมาจ่ายจัดจำหน่ายใบละ 2,000 บาท และค่าธรรมเนียมออกบัตร 100 บาท รวมค่าใช้จ่าย 2,100 บาท โดยหาซื้อบัตรเหมาจ่ายได้จากจุดจำหน่ายบัตรของ ขสมก. และ รฟท. ส่วนการใช้งานสามารถใช้บัตรเหมาจ่ายแตะชำระค่าโดยสารที่เครื่องชำระค่าโดยสารอัตโนมัติ หรือ EDC บน รถเมล์ ขสมก. ที่ให้บริการปัจจุบัน 2,885 คัน และจุดรับชำระค่าโดยสารที่ รฟท. กำหนด หลังจากเติมเงินบัตรจะมีอายุการใช้งาน 30 วัน นับตั้งแต่วันที่แตะชำระครั้งแรกที่ ขสมก. และ รฟท. อย่างใดอย่างหนึ่ง เช่น ผู้โดยสารชำระค่าโดยสารครั้งแรกที่ ขสมก. วันที่ 1 เม.ย.66 บัตรจะใช้งานทั้ง ขสมก. และ รฟท. ได้ถึงวันที่ 30 เม.ย.66 เท่านั้น จนกว่าการเติมเงินครั้งถัดไป โดยสามารถใช้งานกับรถเมล์ ขสมก. ทุกประเภทแบบไม่จำกัดเที่ยว
ส่วนกรณีใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงจะนับจำนวนเที่ยวสูงสุด 50 เที่ยวต่อการเติมเงินหนึ่งครั้ง หากใช้จำนวนเที่ยว 50 เที่ยวหมดก่อน 30 วัน จะไม่สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อีก แต่ยังใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ได้จนกว่าครบ 30 วัน เช่น ผู้โดยสารใช้งานรถไฟฟ้าสายสีแดงครั้งแรกวันที่ 1 เม.ย.66 ครบ 50 เที่ยวในวันที่ 25 เม.ย.66 ผู้โดยสารไม่สามารถใช้ชำระค่าโดยสารรถไฟฟ้าสายสีแดงได้อีก แต่ยังคงใช้ชำระค่าโดยสารรถเมล์ ขสมก. ได้จนถึงวันที่ 30 เม.ย.66 ตามปกติ จนกว่าจะเติมเงินรอบต่อไป
ปัจจุบันผู้ใช้บริการรถไฟฟ้าสายสีแดง 25,000 คนต่อวัน แบ่งเป็นใช้จ่ายผ่านบัตรประเภทต่างๆ รถไฟฟ้าสายสีแดงรองรับ 4,000-5,000 คนต่อวัน ที่เหลือจ่ายค่าโดยสารผ่านเหรียญโดยสาร คาดว่ามีบัตรเหมาจ่ายจะเพิ่มให้มีผู้มาใช้จ่ายผ่านบัตรเป็น 10,000 คนต่อวัน ส่วนค่าโดยสารจำนวน 50 เที่ยว จะมีค่าใช้จ่ายอยู่ที่ 1,250 บาท หรือ เฉลี่ย 25 บาทต่อเที่ยว เมื่อมีบัตรเหมาจ่ายจะจ่ายแค่ 1,100 บาท หรือเฉลี่ย 22 บาทต่อเที่ยว ช่วยประหยัดได้ 150 บาท หรือ 3 บาทต่อเที่ยว ขณะที่ซื้อบัตรโดยสารอิเล็กทรอนิกส์ ขสมก. ประเภทรถเมล์แอร์แบบรายเดือนราคา 1,020 บาท แต่เมื่อซื้อบัตรแบบเหมาจ่ายจะจ่ายแค่ 900 บาทต่อ 30 วัน ซึ่งช่วยประหยัดได้ 120 บาทต่อเดือน
ขณะนี้มีผู้โดยสารที่ชำระค่าโดยสารผ่านเครื่อง EDC อยู่ที่ 50,000 คนต่อวัน หากมีบัตรเหมาจ่ายตั้งเป้าจะเพิ่มยอดชำระผ่านเครื่อง EDC อยู่ที่ 55,000-60,000 คนต่อวัน จากจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการรถเมล์ประมาณ 700,000 คนต่อวัน หลังจากนี้ ขสมก. และรถไฟฟ้าสายสีแดงจะใช้เวลาประมาณเมิน 6 เดือน เกี่ยวกับจำนวนผู้โดยสารที่ใช้บริการ รวมทั้งระบบการใช้งานต่างๆ เพื่อปรับปรุงให้สอดคล้องกับการใช้งานต่อไป
นายพิเชฐ คุณาธรรมรักษ์ อธิบดีกรมการขนส่งทางราง (ขร.) กล่าวว่า สำหรับการจัดเก็บค่าโดยสารรถไฟฟ้าและค่าโดยสารรถ ขสมก. ผ่านบัตร EMV (EuropayMastercard and Visa) ซึ่งเป็นบัตรเดบิตและบัตรเครดิตทุกธนาคารที่มีสัญลักษณ์ Contactless ที่ใช้แตะแทนเงินสดนั้น ปัจจุบันบัตรดังกล่าวสามารถใช้เชื่อมต่อระหว่างรถไฟฟ้าสายสีน้ำเงิน,รถไฟฟ้าสายสีม่วง, รถไฟสายสีแดง และรถขสมก. แล้ว ล่าสุดธนาคารกรุงไทยได้ดำเนินการจัดทำระบบบัตรเหมาจ่ายรถไฟฟ้าสายสีแดงกับรถเมล์) ถือเป็นความร่วมมือนวัตกรรมทางการเงินที่เกิดขึ้น
“มองว่าเป็นการเตรียมความพร้อมสู่การเลือกตั้งของพรรคการเมืองที่มีนโยบายเกี่ยวกับค่าโดยสาร 20-40 บาทตลอดสาย หากอนาคตมีนโยบายจากรัฐบาลใหม่ที่มีความชัดเจนในการสนับสนุนค่าโดยสารให้ประชาชนสามารถดำเนินการได้ ถือเป็นการตอบโจทย์นโยบายพรรคการเมืองที่อยู่ระหว่างการหาเสียงได้มาก”นายพิเชฐ กล่าว
ส่วนในระยะต่อไปบัตรดังกล่าวจะเชื่อมต่อกับเส้นทาง อื่นๆ หรือไม่นั้นขึ้นอยู่กับความต้องการของประชาชน ขณะเดียวกันในอนาคตมีความเป็นไปได้ที่จะให้ผู้ประกอบการถร่วมเอกชนของ ขสมก. มาดำเนินการจำหน่ายบัตรโดยสารร่วมกัน ซึ่งจะช่วยเชื่อมต่อกับระบบขนส่งอื่นๆ ได้สะดวกมากขึ้น