คณะกรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (กสทช.)เดินหน้าประมูลสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม 15 มกราคม พ.ศ.2566 นี้ โดยอนุมัติผู้ผ่านคุณสมบัติเป็นผู้เข้าร่วมประมูล จำนวน 3 รายได้แก่ บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ทำให้ทั้ง 3 บริษัท มีสิทธิที่จะเข้าร่วมประมูลในวันที่ 15 ม.ค.2566 โดยจะมีการประมูลสาธิต (mock auction) ให้ผู้เข้าร่วมประมูลในวันที่ 14 มกราคม พ.ศ.2566 ที่ สำนักงาน กสทช.
พล.อ.ท.ธนพันธุ์ หร่ายเจริญ กรรมการกิจการกระจายเสียง กิจการโทรทัศน์ และกิจการโทรคมนาคมแห่งชาติ (บอร์ดกสทช.) กล่าวว่า บอร์ดกสทช.ได้ตรวจสอบคุณสมบัติของผู้ประสงค์ประมูลวงโคจรดาวเทียมประจำที่ ทั้ง 3 บริษัผ่านทั้งหมด ได้แก่ บริษัท สเปซเทค อินโนเวชั่น จำกัด, บริษัท โทรคมนาคมแห่งชาติ จำกัด (มหาชน) หรือ เอ็นที และ บริษัท พร้อม เทคนิคคอล เซอร์วิสเซส จำกัด ซึ่ง พร้อม เทคนิคคอล นั้นผ่านคุณสมบัติทั้งเรื่องการเงินซึ่งมีสถาบันการเงินรับรองพร้อมจะปล่อยสินเชื่อ ไม่ต่ำกว่า 1,000 ล้านบาท , ผู้ถือหุ้นเป็นคนไทย และมีประสบการณ์ติดตั้งดาวเทียมบนแท่นขุดเจาะน้ำมัน ทั้งวงโคจรในประเทศและต่างประเทศ ดังนั้นทำให้วันประมูลจะเกิดขึ้นในวันที่ 15 ม.ค. 2566 คาดว่าแพ็คเกจที่น่าสนใจคือ ชุดที่ 2,3 และ 4 ตั้งเป้านำเงินเข้ารัฐไม่ต่ำกว่า 800 ล้านบาท
สำหรับการประมูลครั้งนี้ใช้วิธี Sequential Ascending Clock Auction กล่าวคือ ผู้เข้าร่วมประมูลจะต้องตัดสินใจตาม ระยะเวลาที่กำหนดในแต่ละรอบ (20 นาที) ด้วยการเคาะซึ่งจะทำให้ราคาสูงขึ้นครั้งละ 5% ของราคาขั้นต่ำ โดยผู้ชนะ คือ ผู้ให้ราคาสุดท้ายสูงสุด อย่างไรก็ตามผู้เข้าร่วมประมูลจะไม่ทราบว่าผู้ร่วมแข่งขันรายใดต้องการสิทธิวงโคจรชุดใดและมีความต้องการกี่ชุด รวมทั้งลำดับชุดในการการประมูลนั้น กสทช.จะกำหนดลำดับในวันประมูล เพื่อป้องกันการสมยอมกันระหว่างผู้เข้าร่วมประมูล ซึ่งการประมูลในลักษณะนี้จะทำให้เกิดการแข่งขันที่โปร่งใสและเป็นธรรมมากที่สุด รวมทั้งรายได้ที่เกิดขึ้นหลังหักค่าใช้จ่ายในการประมูล กสทช.จะนำส่งเป็นรายได้แผ่นดินทั้งหมด
ส่วนกรณีข้อเรียกร้องให้ยกเลิกการประมูลครั้งนี้ และให้ เอ็นที ซึ่งเป็นหน่วยงานของรัฐเป็นผู้ดำเนินการตามบทบัญญัติของรัฐธรรมนูญ นั้น ตามรัฐธรรมนูญแห่งราชอาณาจักรไทย พุทธศักราช 2560 มาตรา 60 บัญญัติให้ “รัฐต้องรักษาไว้ซึ่งคลื่นความถี่และสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมอันเป็นสมบัติของชาติ เพื่อใช้ให้เกิดประโยชน์แก่ประเทศชาติและประชาชน” นั้น กสทช. ซึ่งเป็นองค์กรของรัฐที่มีความเป็นอิสระในการปฏิบัติหน้าที่ เป็นผู้รับผิดชอบการดำเนินการตามที่กฎหมายกำหนด จึงมีหน้าที่และอำนาจในการกำหนดหลักเกณฑ์และวิธีการอนุญาต ให้สอดคล้องตามแผนการบริหารสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียม รวมทั้งตามนโยบายในการส่งเสริมการแข่งขันโดยเสรีและเป็นธรรมในการประกอบกิจการดาวเทียม
ดังนั้นสิทธิในการเข้าใช้วงโคจรดาวเทียมที่นำมาประมูลในครั้งนี้ เป็นการนำสิทธิที่ประเทศไทยมีอยู่เดิม และมีลักษณะการให้บริการในเชิงพาณิชย์ จึงได้ใช้วิธีการประมูลในการคัดเลือกผู้ขอรับการอนุญาต ซึ่งเป็นวิธีที่มีความโปร่งใส เป็นธรรม และเป็นกลไกในการจัดสรรทรัพยากรให้เกิดความคุ้มค่าและประโยชน์สูงสุด
หากยกเลิกการประมูลและให้ เอ็นที เป็นผู้ดำเนินการแต่เพียงผู้เดียว ย่อมส่งผลกระทบ ขาดความต่อเนื่อง และอาจถูกเพิกถอนสิทธิจาก ITU ได้ กรณีที่ไม่สามารถส่งดาวเทียมได้จริง รวมทั้งไม่ก่อให้เกิดการแข่งขันในการให้บริการดาวเทียมในประเทศไทย กลับไปสู่การผูกขาด และขัดกับรัฐธรรมนูญ มาตรา 75 วรรค 2 ที่บัญญัติให้ “รัฐต้องไม่ประกอบกิจการที่มีลักษณะเป็นการแข่งขันกับเอกชน เว้นแต่กรณีที่มีความจำเป็นเพื่อประโยชน์ในการรักษาความมั่นคงของรัฐหรือการจัดทำบริการสาธารณะ”
อย่างไรก็ตาม การประมูลครั้งนี้ กสทช.ได้คำนึงถึงประโยชน์สาธารณะ ดังจะเห็นได้จาก การกำหนดให้ผู้ชนะการประมูลต้องมีหน้าที่จัดช่องสัญญาณสำหรับการให้บริการสาธารณะและประโยชน์ของรัฐโดยไม่คิดค่าใช้จ่ายในแต่ละชุดของข่ายงานดาวเทียมจำนวน 1 transponder กรณีดาวเทียม broadcast และจำนวน 400 Mbps กรณีดาวเทียม broadband ซึ่งหากเทียบกับสัมปทานเดิม รัฐได้รับทั้งหมดเพียง 1 transponder เท่านั้น ไม่ว่าจะมีดาวเทียมกี่ดวงก็ตาม รวมทั้งในชุดที่ 3 ยังเปิดโอกาสให้รัฐสามารถตั้งสถานีควบคุมบริหารจัดการดาวเทียมในส่วนที่รัฐรับผิดชอบได้ เป็นต้น
สำหรับดาวเทียมที่ประมูลประกอบไปด้วย 5 ชุด ได้แก่ ชุดที่ 1 วงโคจร 50.5E (ข่ายงาน C1, N1 และ P1R) และวงโคจร 51E (ข่ายงาน 51) เป็นวงโคจรที่พร้อมใช้งาน ทำตลาดในประเทศแถบอาหรับ ราคาเริ่มต้น 374 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 2 วงโคจร 78.5E (ข่ายงาน A2B และ LSX2R) มีความน่าสนใจตรงที่เป็นวงโคจรที่ให้บริการอยู่ในประเทศไทย เหมาะกับกลุ่มคนที่ทำตลาดในเมืองไทย ราคาเริ่มต้น 360 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 3ประกอบด้วย วงโคจร 119.5E (ข่ายงาน IP1, P3 และ LSX3R) และวงโคจร 120E (ข่ายงาน 120E) ใช้สำหรับการให้บริการบรอดแบนด์ ราคาเริ่มต้น 397 ล้านบาทเศษ
ชุดที่ 4วงโคจร 126E (ข่ายงาน 126E) ราคาเริ่มต้น 8 ล้านบาทเศษ และชุดที่ 5วงโคจร 142E (ข่ายงาน G3K และ N5) ราคาเริ่มต้น 189 ล้านบาทเศษ โคจรอยู่แถบแปซิฟิก ดังนั้น บริการที่สามารถให้บริการได้จะเป็นบริการดาวเทียมสำหรับเรือ