ศักดิ์สยาม ชิดชอบ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม เร่งกระทรวงคมนาคม เบิกจ่ายงบปี พ.ศ.2566 มูลค่า 2.28 แสนล้านให้ได้ตามเป้าหมายรัฐ จี้ลงนามสัญญาปีเดียวให้ครบ มกราคม พ.ศ.2566 ส่วนผูกพันใหม่ต้องจบ มีนาคม พ.ศ.2566 ขีดเส้นหน่วยงานรัฐวิสาหกิจต้องเบิกให้ได้ 95% กันยายน พ.ศ.2565
นายศักดิ์สยาม ชิดชอบ รมว.คมนาคม เปิดเผยภายหลังการประชุมเร่งรัดติดตามการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ร่วมกับหน่วยงานในสังกัดกระทรวงคมนาคม ว่า การประชุมครั้งนี้ เป็นการประชุมรายงานผลการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 และติดตามการดำเนินงาน การลงนามในสัญญา เพื่อเร่งรัดการเบิกจ่ายงบประมาณปี 2566 ของหน่วยงานในสังกัดให้สามารถเบิกจ่ายเงินได้ตามเป้าหมายของรัฐบาล ซึ่งจะเป็นการช่วยกระตุ้นระบบเศรษฐกิจของประเทศ
ทั้งนี้ กระทรวงคมนาคม มีผลการเบิกจ่าย ดังนี้ โดยเบิกจ่ายงบประมาณปี 2565 ได้ 186,034 ล้านบาท หรือ 89.15% ในส่วนของรายจ่ายลงทุนเบิกจ่ายได้ 160,540 ล้านบาท หรือ 87.89% ซึ่งสูงกว่าเป้าหมายที่รัฐบาลกำหนดอยู่ที่ 75% และหากจำแนกเป็นรายกระทรวง กระทรวงคมนาคมจะอยู่ในอันดับที่ 2 ที่มีผลการเบิกจ่ายสูงสุด
กระทรวงคมนาคมได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี 2566 (8 ส่วนราชการ 5 รัฐวิสาหกิจ) ในภาพรวม จำนวน 228,930.28 ล้านบาท แบ่งเป็น รายจ่ายประจำ 27,419.32 ล้านบาท หรือ 11.98% และรายจ่ายลงทุน 201,510.96 ล้านบาท หรือ 88.02%
อย่างไรก็ตามโดยปัจจุบันรายจ่ายลงทุนอยู่ในขั้นตอนการจัดซื้อจัดจ้าง ทั้งนี้ รายการปีเดียว วงเงิน 80,245.04 ล้านบาท จะได้ตัวผู้รับจ้างใน ธ.ค. 2565 และจะลงนามในสัญญาครบทุกรายการภายใน ม.ค. 2566 สำหรับรายการผูกพันใหม่ วงเงิน 10,386.22 ล้านบาท คาดว่าจะลงนามในสัญญาได้ครบภายใน มี.ค. 2566
ขณะที่ งบลงทุนรัฐวิสาหกิจปี พ.ศ.2566 (11 รัฐวิสาหกิจ) วงเงินเบิกจ่ายรวม 108,924.41 ล้านบาท ประกอบด้วย ทางราง คือ การรถไฟแห่ประเทศไทย (รฟท.), การรถไฟฟ้าขนส่งมวลชนแห่งประเทศไทย (รฟม.) และบริษัท รถไฟฟ้า รฟฟท. จำกัด (SRTA) วงเงิน 63,525.06 ล้านบาท ส่วนทางบก คือ การทางพิเศษแห่งประเทศไทย (กทพ.), องค์การขนส่งมวลชนกรุงเทพ (ขสมก.) และบริษัท ขนส่ง จำกัด (บขส.) วงเงิน 11,334.87 ล้านบาท
ทางน้ำ คือ การท่าเรือแห่งประเทศไทย (กทท.) วงเงิน 1,915.76 ล้านบาท และทางอากาศ คือ สถาบันการบินพลเรือนแห่งประเทศไทย (สบพ.) บริษัท ท่าอากาศยานไทย จำกัด (มหาชน) หรือ ทอท., บริษัท วิทยุการบินแห่งประเทศไทย จำกัด (บวท.) และโรงแรมท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ (รทส.) วงเงิน 32,148.72 ล้านบาท
ทั้งนี้ มีโครงการสำคัญขนาดใหญ่ที่จะเบิกจ่ายในปีงบประมาณ 2566 เช่น โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงลพบุรี-ปากน้ำโพ, โครงการก่อสร้างรถไฟทางคู่ ช่วงนครปฐม-ชุมพร, โครงการรถไฟไทย-จีน ระยะที่ 1 (ช่วงกรุงเทพฯ-นครราชสีมา) อีกทั้ง โครงการรถไฟฟ้าสายสีม่วง ช่วงเตาปูน-ราษฎร์บูรณะ โครงการรถไฟฟ้าสายสีส้ม ช่วงศูนย์วัฒนธรรม-มีนบุรี โครงการทางพิเศษสายพระราม 3-ดาวคะนอง-วงแหวนรอบนอกกรุงเทพฯ ด้านตะวันตก รวมทั้ง โครงการทางพิเศษสายกะทู้-ป่าตอง จ.ภูเก็ต โครงการพัฒนาท่าเรือแหลมฉบัง ระยะที่ 3 และโครงการก่อสร้างทางวิ่งเส้นที่ 3 ท่าอากาศยานสุวรรณภูมิ เป็นต้น
“ได้กำชับให้หน่วยงานที่ได้รับจัดสรรงบประมาณแผ่นดินปี พ.ศ.2566 ลงนามในสัญญาให้ครบทุกรายการโดยเร็ว และเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล ในส่วนของงบลงทุนรัฐวิสาหกิจ ขอให้หน่วยงานรัฐวิสาหกิจเร่งรัดเบิกจ่ายเงินให้เป็นไปตามเป้าหมายของรัฐบาล 95% ภายใน ก.ย. 2566” นายศักดิ์สยาม กล่าว