Advertisement
Leaderboard 728x90

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จับมือ ซันโทรี่ เดินหน้าโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ปีที่ 3

กระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม (ทส.) โดยกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) ร่วมกับ ซันโทรี่ เบเวอเรจแอนด์ฟู้ด ประเทศไทย และ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) ร่วมเปิด โครงการน้ำมิตซุยกุ ปีที่ 3 เพื่อร่วมส่งเสริมความรู้ด้านสิ่งแวดล้อม อนุรักษ์น้ำ และฟื้นฟูแหล่งทรัพยากรธรรมชาติให้กับเยาวชน เพื่อส่งต่ออนาคตที่ยั่งยืนให้กับคนรุ่นหลัง

กรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม จับมือ ซันโทรี่ เดินหน้าโครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ปีที่ 3

นายสมศักดิ์ สรรพโกศลกุล อธิบดีกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม (สส.) กล่าวว่า น้ำเป็นทรัพยากรสำคัญที่มีความจำเป็นอย่างยิ่งต่อการดำรงชีวิตของมนุษย์ และในปีนี้องค์การสหประชาชาติได้ขับเคลื่อนพันธกิจตามเป้าหมายการพัฒนาอย่างยั่งยืน (SDGs) โดยทรัพยากรน้ำเป็นหนึ่งในเป้าหมายสำคัญที่มีการสร้างหลักประกันว่า จะมีการจัดให้มีน้ำและสุขอนามัยสำหรับทุกคน และมีการบริหารจัดการที่ยั่งยืน ดังนั้นภาครัฐจึงมุ่งมั่นที่จะพัฒนา บริหารจัดการ บำรุงรักษา ปรับปรุง ฟื้นฟู และอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำในทุกมิติ เพื่อให้เกิดความสมดุลและยั่งยืน ทั้งนี้ต้องขอขอบคุณหน่วยงานภาคเอกชน ทั้งซันโทรี่ เบเวอเรจแอนด์ฟู้ด ประเทศไทย และ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) ที่ได้สร้างสรรค์กิจกรรมเพื่อการอนุรักษ์ทรัพยากรน้ำ โดยเข้ามาผนึกกำลังกับภาครัฐ ด้วยการนำองค์ความรู้มาสร้างกระบวนการเรียนรู้กับเด็กนักเรียนโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) หรือโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน ซึ่งมีการพัฒนาโรงเรียนทั้งระบบ เพื่อสนับสนุนกระบวนการเรียนรู้ที่ส่งเสริมและพัฒนานักเรียนให้เติบโตเป็นพลเมืองที่ตระหนักถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมและการพัฒนาท้องถิ่น เกิดความรู้ ความเข้าใจ จากการเรียนรู้ลงมือปฏิบัติจริง พร้อมเข้าไปมีส่วนร่วมในการป้องกัน ฟื้นฟู รักษา ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม

Advertisement
Kreamy Proof

ในปัจจุบันมี โรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม มากกว่า 517 แห่งทั่วประเทศ ที่จะช่วยปลูกฝังความเป็นพลเมืองสิ่งแวดล้อม โดยใช้กระบวนการสิ่งแวดล้อมศึกษาเป็นเครื่องมือ “โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ” จะทำให้เยาวชนได้รับองค์ความรู้จากประสบการณ์จริงในห้องเรียนธรรมชาติ เข้าใจเรื่องน้ำอย่างลึกซึ้ง เกิดมุมมองและทักษะรอบด้านในการแก้ไขปัญหาและปกป้องดูแลทรัพยากรน้ำในบ้านเกิดของตนเอง รวมถึงจุดประกายความเป็นผู้นำการเปลี่ยนแปลงให้กับเยาวชน โดยมีครูเป็นผู้ส่งต่อและสร้างแรงบันดาลใจ เพื่อขับเคลื่อนการอนุรักษ์น้ำและทรัพยากรสิ่งแวดล้อมจากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศต่อไป

น.ส.ณัฏฐณิชา วรวรรณเศรษฐ์ รองประธานอาวุโสฝ่ายสนับสนุนการบริหารงานในองค์กร ซันโทรี่ เบเวอเรจแอนด์ฟู้ด ประเทศไทยและอินโดไชน่า กล่าวว่า บริษัทให้ความสำคัญกับการดูแลและอนุรักษ์น้ำมาโดยตลอด สะท้อนความมุ่งมั่นต่อคำสัญญา “To inspire the brilliance of life, by creating rich experiences for people, in harmony with nature.” หรือในภาษาไทยว่า “เพื่อบันดาลให้เกิดความล้ำเลิศของชีวิตด้วยการสร้างประสบการณ์อันล้ำค่าให้กับผู้คนอย่างสอดประสานกับธรรมชาติ” โดยยึดหลักปรัชญาว่าด้วยการรักษาน้ำให้ยั่งยืน ภายใต้แนวคิด “Growing for Good” เพื่อการเติบโตอย่างยั่งยืน

โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ได้เริ่มต้นขึ้นในปี พ.ศ.2564 ภายใต้แนวคิด “ช่วยน้ำ ช่วยโลก” โดยทำงานร่วมกับ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) ด้วยการพาเด็กๆ ในจังหวัดภูเก็ตไปเรียนรู้เรื่องราวของน้ำและการอนุรักษ์แหล่งน้ำ ผ่านห้องเรียนธรรมชาติที่ทะเลภูเก็ต เพื่อให้ตระหนักถึงความสำคัญของแหล่งน้ำในบ้านเกิด ต่อมาในปี 2565 ดำเนินงานภายใต้แนวคิด “คืนสมดุลให้น้ำ คืนสมดุลให้โลก” ร่วมกับ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) และสถาบันการเรียนรู้ของคนทุกวัยจังหวัดระยอง (RILA) เพื่อปลูกฝังให้เยาวชนเห็นถึงประโยชน์และความสำคัญของน้ำผ่านคุณครู นำไปสู่การออกแบบห้องเรียนสิ่งแวดล้อม ส่งต่อองค์ความรู้และแรงบันดาลใจให้แก่นักเรียน และในปี 2566 นี้ เป็นปีที่ 3 ทางซันโทรี่ เบเวอเรจแอนด์ฟู้ด ร่วมกับ ศูนย์สิ่งแวดล้อมศึกษา (EEC) และกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม ร่วมดำเนินงานภายใต้แนวคิด “รักษ์น้ำ ใส่ใจสิ่งแวดล้อม เพื่อประเทศไทยที่ยั่งยืน” ผ่านโรงเรียนในโครงการโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) และเครือข่ายด้านสิ่งแวดล้อมของกรมส่งเสริมคุณภาพสิ่งแวดล้อม เพื่อขยายโครงการดังกล่าว เป็นต้นแบบกระบวนการเรียนรู้จากระดับจังหวัดสู่ระดับประเทศ

ทั้งนี้ โครงการรักษ์น้ำมิตซุยกุ ได้วางแผนการดำเนินงานโครงการระยะยาวต่อเนื่อง 3 ปี ปีแรกคือ ปี พ.ศ.2566 นับเป็นจุดเริ่มต้นในการเพาะเมล็ดพันธุ์ ด้วยการสร้างแรงบันดาลใจเรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำในพื้นที่ ต่อมาในปี พ.ศ.2567 จะขยายเมล็ดด้วยการเพิ่มจำนวนคนและสร้างการรับรู้ที่เพิ่มขึ้น และในปี พ.ศ.2568 เป็นปีแห่งการปลูกเมล็ดพันธุ์ โดยการนำต้นแบบการเรียนรู้เข้าไปเป็นส่วนหนึ่งของหลักสูตรโรงเรียนสิ่งแวดล้อมศึกษาเพื่อการพัฒนาที่ยั่งยืน หรือโรงเรียนอีโคสคูล (Eco-School) พร้อมสร้างฐานการแลกเปลี่ยนเรียนรู้เรื่องสิ่งแวดล้อมและน้ำออกไปในวงกว้าง เพื่อสร้างพลเมืองสิ่งแวดล้อมในพื้นที่และสามารถนำความรู้ไปประยุกต์ใช้กับพื้นที่ของตนเองได้อย่างมีประสิทธิภาพที่สุด

Advertisement
The Xpozir

Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard