กลุ่ม KTIS เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2566 สิ้นสุด 30 กันยายน 2566 เติบโตกว่าปี 2565 ถึง 325.0% โดยมีกำไรสุทธิ 1,939.4 ล้านบาท และมีรายได้รวม 19,878.8 ล้านบาท สูงกว่าปีก่อน 43.2% เผยปัจจัยหลักมาจากปริมาณและคุณภาพอ้อยที่ดีขึ้น โดยรายได้สายธุรกิจน้ำตาลเติบโต 45.0% สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวลเติบโต 69.1% และสายธุรกิจเอทานอลเติบโต 10.5%
นายสมชาย สุวจิตตานนท์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารสายธุรกิจอ้อยและน้ำตาล กลุ่มบริษัท เกษตรไทย อินเตอร์เนชั่นแนล ชูการ์คอร์ปอเรชั่น จำกัด (มหาชน) หรือกลุ่ม KTISผู้นำในอุตสาหกรรมน้ำตาลและอุตสาหกรรมต่อเนื่องครบวงจร เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานของกลุ่ม KTIS ในรอบบัญชีปี 2566 (ตุลาคม 2565 – กันยายน 2566) มีรายได้รวม 19,878.8 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 43.2% จากปีก่อนซึ่งอยู่ที่ 13,886.2 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 1,939.4 ล้านบาท สูงกว่างวดเดียวกันของปีก่อน 325.0%
“ปัจจัยหลักที่สนับสนุนให้มีรายได้และกำไรสุทธิที่สูงขึ้นมาจากปริมาณและคุณภาพอ้อยในปีการผลิต 2565/2566 ที่ดีขึ้นมาก ทำให้ได้ผลผลิตน้ำตาลทรายต่อตันอ้อยสูงขึ้น และมีวัตถุดิบที่ส่งต่อไปยังสายธุรกิจต่างๆ มากขึ้น” นายสมชายกล่าว
ทั้งนี้ จากปริมาณอ้อยปี 2565/2566 ของกลุ่ม KTIS ที่มีจำนวน 6.9 ล้านตัน สามารถผลิตน้ำตาลทรายได้มากถึง 8.0 ล้านกระสอบ เทียบกับฤดูการผลิตปีก่อนหน้านั้น ซึ่งอ้อย 6.2 ล้านตัน ผลิตน้ำตาลทรายได้เพียง 6.4 ล้านกระสอบ ทำให้รายได้ในสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายปี 2566 เติบโตถึง 45.0% มาอยู่ที่ 15,033.0 ล้านบาท
นอกเหนือจากสายธุรกิจน้ำตาลทรายแล้ว ในสายธุรกิจชีวภาพก็มีการเติบโตที่ดีเช่นกัน โดยเฉพาะธุรกิจผลิตไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล ซึ่งมีรายได้ในปี 2566 เพิ่มขึ้นจากปี 2565 ถึง 69.1% จาก 847.3 ล้านบาท เป็น 1,432.8 ล้านบาท เนื่องจากทั้งราคาและปริมาณการขายไฟฟ้าที่สูงขึ้น
สำหรับสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอลมีรายได้ปี 2566 จำนวน 1,131.7 ล้านบาท สูงกว่าปี 2565 ซึ่งมีรายได้ 1,024.0 ล้านบาท คิดเป็นอัตราที่เพิ่มขึ้น 10.5% เนื่องจากราคาขายที่สูงขึ้น ส่วนรายได้ของสายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย ปี 2566 ทำได้ 414.4 ล้านบาท ทรงตัวเมื่อเทียบกับปี 2565
“หากดูสัดส่วนรายได้ของสายธุรกิจต่างๆ เทียบกับรายได้รวมของกลุ่ม KTIS สำหรับงวดปี 2566 พบว่า สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายน้ำตาลทรายมีสัดส่วนรายได้ 79.4% สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายไฟฟ้าจากเชื้อเพลิงชีวมวล มีสัดส่วน 7.6% สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเอทานอล มีสัดส่วน 6.0% สายธุรกิจผลิตและจำหน่ายเยื่อกระดาษชานอ้อย มีสัดส่วน 2.2% และอื่นๆ อีก 4.9%” นายสมชายกล่าว