Advertisement
Leaderboard 728x90

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน

คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) เผยผลสรุปภาพรวมการจัดงาน APEC 2022 : ประเทศไทยได้อะไรจากการประชุม” ชี้เอเปคสร้างเม็ดเงินเข้าระบบเศรษฐกิจไทยใน 3-5 ปีข้างหน้า 5-6 แสนล้านบาท หวังรัฐบาลใหม่ช่วยสานต่อผลสำเร็จที่ได้จากผลการประชุมเอเปคขับเคลื่อนประเทศให้เป็นรูปธรรมทุกมิติโดยเร็ว

สนั่น อังอุบลกุล

สนั่น อังอุบลกุล ประธานกรรมการหอการค้าไทยและสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย ในฐานะประธานคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน (กกร.) กล่าวว่า การจัดประชุมเอเปค2022 (APEC 2022) ที่มีผู้นำสมาชิกเขตเศรษฐกิจ 21 เขตเข้าร่วมประชุม ซึ่งเป็นการรวมกลุ่มเขตเศรษฐกิจที่ใหญ่ที่สุดในโลก โดยกลุ่มเอเปคมีประชากรร่วมกัน2,800 ล้านคน มี GDP ร่วมกันกว่า 59% ของ GDP โลก ซึ่งมีสัดส่วนการค้าระหว่างไทยกับสมาชิกสูงถึง 69.8% ของมูลค่าการค้าระหว่างประเทศของไทยทั้งหมด โดยที่ประชุมเห็นพ้องกับการนำแนวคิดเศรษฐกิจ BCG หรือเศรษฐกิจชีวภาพ (Bio Economy)  เศรษฐกิจหมุนเวียน (Circular Economy)และเศรษฐกิจสีเขียว (Green Economy)  มาขับเคลื่อนการฟื้นฟูเศรษฐกิจในยุคหลัง COVID-19 อย่างยั่งยืน สมดุล และครอบคลุม พร้อมรับมือความท้าทายในอนาคตโดยไม่ทิ้งใครไว้ข้างหลัง ซึ่งเศรษฐกิจ BCG จะทำให้คนไทยได้ประโยชน์มากที่สุดสำหรับผลที่คนไทยจะได้จากการประชุมเอเปค2022 นั้น ทาง กกร.เห็นควรที่จะนำผลการประชุมเหล่านั้นมาขยายต่อและสร้างเพื่อให้ก่อประโยชน์ต่อประเทศไทยให้อย่างเป็นรูปธรรมในทุกมิติทุกภาคส่วนไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดไหน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยต่อยอดโอกาสนี้ และขอให้รัฐบาลใหม่ไม่ว่าพรรคไหนขอให้สานต่อความสำเร็จของเอเปค เพราะเอกชนเดินต่อคนเดียวไม่ได้ ต้องมีแรงสนับสนุนจากรัฐบาลจะช่วยให้การขับเคลื่อนเกิดความสำเร็จได้

Advertisement
Kreamy Proof

ธนวรรธน์ พลวิชัย

ธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัย หอการค้าไทย กล่าวว่า สำหรับผลสำเร็จด้านเศรษฐกิจและสังคมจากการประชุมเอเปค และ APEC CEO Summit 2022 ว่า การเป็นเจ้าภาพเอเปคส่งประโยชน์ต่อเศรษฐกิจและสังคมไทยในช่วง 3-5 ปีข้างหน้ารวมทั้งสิ้นประมาณ 5-6 แสนล้านบาท แบ่งเป็นผลสำเร็จในช่วงระยะสั้นภายใน 3-6 เดือน จะช่วยสร้างภาพลักษณ์ และSoft Power ความเข้าใจต่อไทยผ่านการประชาสัมพันธ์ อาหาร และวัฒนธรรมไทยที่ได้นำเสนอผ่านการประชุมและงานเลี้ยงรับรองต่าง ๆ ซึ่งสร้างประโยชน์สำคัญ 2 เรื่องคือ 1. ส่งเสริมการท่องเที่ยว ซึ่งน่าจะเพิ่มจำนวนนักท่องเที่ยวให้มากขึ้น 1-2 แสนคน จากอิทธิพลของสื่อต่างๆ เรื่องเอเปค โดยจะสร้างรายได้ให้อุตสาหกรรมท่องเที่ยวและธุรกิจต่อเนื่องของไทยถึงประมาณ 1 หมื่นล้านบาท และ 2. สร้างการรับรู้และช่วยดึงดูดการลงทุนจากต่างชาติ (FDI) ในอุตสาหกรรม BCG พลังงาน ยานยนต์ ไฟฟ้า EV เศรษฐกิจดิจิทัล และอุตสาหกรรมภาคบริการ เช่น การท่องเที่ยว และธุรกิจบริการสุขภาพ เป็นต้น โดยเฉพาะในพื้นที่เขตพัฒนาพิเศษภาคตะวันออก หรือ EEC ซึ่งเป็นการส่งเสริมการท่องเที่ยวไทยและจะช่วยให้มีนักท่องเที่ยวเพิ่มขึ้น 1-2 แสนคน และประโยชน์ระยะยาวภายใน 3-5 ปี คาดว่าจะสร้างการลงทุน FDI มูลค่าประมาณ 6 แสนล้านบาท ภายใน 3-5 ปี จากปัจจัยต่อไปนี้

  1. การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างไทยกับจีน สำหรับการประชุมที่ผ่านมา ไทยและจีนเห็นพ้องกันในการเพิ่มมูลค่าและอำนวยความสะดวกทางการค้า โดยเฉพาะสินค้าเกษตรและผลไม้ พร้อมทั้งส่งเสริมการลงทุนซึ่งกันและกันในอุตสาหกรรมดิจิทัล ยานยนต์ไฟฟ้า และอุตสาหกรรมสีเขียวเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม นอกจากนี้ ไทย-จีนจะใช้ประโยชน์จากความตกลง RCEP และส่งเสริมความเชื่อมโยงด้านโครงสร้างพื้นฐาน โดยเฉพาะการเชื่อมโยงทางราง รวมถึงการดำเนินการโครงการรถไฟไทย-จีน ซึ่งคาดว่าการค้าและการลงทุนระหว่างไทยกับจีนจะเพิ่มขึ้นประมาณ 1-2 แสนล้านบาท
  2. การค้าและการลงทุนที่เพิ่มมากขึ้นระหว่างประเทศไทยกับซาอุดีอารเบียและกลุ่มประเทศอ่าวอาหรับ 6 (GCC) โดยเฉพาะการลงทุนในอุตสาหกรรมเป้าหมายของไทย 12 สาขาในด้านพลังงาน ปิโตรเคมี เกษตร เทคโนโลยีที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และสุขภาพและบริการ ในพื้นที่ EEC คาดว่าจะมีมูลค่าโดยรวมประมาณ 1-3 แสนล้านบาท
  3. การลงทุนในอุตสาหกรรม BCG ยานยนต์ไฟฟ้า และพลังงานทดแทนที่มาจากประเทศอื่นนอกจากประเทศจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น – 1 แสนล้านบาท
  4. การลงทุนในเศรษฐกิจดิจิทัลE-commerce และ Robot ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น – 1 แสนล้านบาท
  5. การลงทุนในธุรกิจบริการอื่น ๆ เช่น การท่องเที่ยว การบริการสุขภาพและความงาม และโลจิสติกส์ ที่มาจากประเทศอื่นนอกจากประเทศจีนและซาอุดีอาระเบีย ประมาณ 5 หมื่น – 1 แสนล้านบาท

นอกจากนี้จากการประเมินด้านเศรษฐกิจไทย การท่องเที่ยวและภาวะ COVID-19 คลี่คลายลง หอการค้าไทยเชื่อว่าในปี พ.ศ.2566 จำนวนนักท่องเที่ยวจะเพิ่มมากขึ้นกว่าปีนี้เป็นเท่าตัว และจะมีนักท่องเที่ยวจากจีนเพิ่มเติมอีกในปีหน้า ซึ่งจะทำให้ภาคท่องเที่ยวและบริการของไทยฟื้นตัวขึ้นได้อย่างโดดเด่น ดังนั้นจึงอยู่ที่เราทุกคนว่าจะใช้โอกาสนี้ให้เกิดประโยชน์ได้มากน้อยเพียงใด ซึ่งโอกาสดังกล่าวนี้ ถือเป็นเรื่องของคนไทยทุกคน ไม่ว่าจะเป็นภาครัฐหรือเอกชน ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดไหน ไม่ว่าจะอยู่ในเมืองหรือต่างจังหวัด ไม่ว่าจะเป็นเพศใด ทุกคนล้วนมีส่วนช่วยต่อยอดโอกาสนี้ ให้กลายเป็นความเข้มแข็งและความยั่งยืนของเศรษฐกิจไทยต่อไป


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard