คณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร.ประเมินเศรษฐกิจไทยปีนี้ โตไม่ต่ำกว่า 3 % จากแรงสนับสนุนภาคท่องเที่ยว แต่ยังห่วงสารพัดต้นทุนการผลิต อยู่ระดับสูง กระทบขีดแข่งขัน เสนอรัฐ ลดค่าไฟงวดต่อไป หลังราคาก๊าซธรรมชาติ ปรับลดลง
นายเกรียงไกร เธียรนุกุล ประธานสภาอุตสาหกรรมแห่งประเทศไทย เป็นประธานการประชุมคณะกรรมการร่วมภาคเอกชน 3 สถาบัน หรือ กกร. ประจำเดือนกุมภาพันธ์ พ.ศ.2566โดยมี นายภูมินทร์ หะรินสุต รองประธานกรรมการสภาหอการค้าแห่งประเทศไทย และนายกฤษณ์ จิตต์แจ้ง จากสมาคมธนาคารไทย เป็นประธานร่วมในการประชุม โดย กกร.คาดว่า เศรษฐกิจไทย ปีนี้ จะขยายตัว 3.0-3.5% มีแรงสนับสนุนหลักจากภาคการท่องเที่ยว โดยจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติปีนี้อาจมากกว่า 22.5 ล้านคน จากนักท่องเที่ยวกลุ่มยุโรป และสหรัฐฯ ที่ฟื้นตัวได้ดีกว่าคาด ขณะที่นักท่องเที่ยวจีน จะปรับตัวดีขึ้นอย่างชัดเจนในไตรมาส 2
ขณะที่การส่งออก มีแนวโน้มชะลอตัว คาดว่า จะขยายตัว 1 – 2 % โดยต้องติดตามปัจจัยที่มีผลกระทบอย่างใกล้ชิด ทั้งการแข็งค่าของค่าเงินบาท การชะลอตัวของเศรษฐกิจโลก แม้จีนจะฟื้นตัวได้เร็ว แต่อาจไม่เพียงพอที่จะทดแทนความต้องการสินค้าจากประเทศหลักอื่นๆ
ปัจจัยที่ กกร.เป็นห่วง คือ เรื่องต้นทุนการผลิตที่ยังทรงตัวในระดับสูง ทั้งค่าไฟฟ้า ,อัตราดอกเบี้ย ซึ่งอาจส่งผลกระทบต่อขีดความสามารถการแข่งขันของผู้ประกอบการ รวมถึงการส่งผ่านต้นทุนไปยังผู้บริโภค ผ่านราคาสินค้าและบริการ ที่เพิ่มขึ้น
จากการหารือระหว่าง กกร.และเลขาธิการสำนักงานคณะกรรมการกำกับกิจการพลังงาน หรือ กกพ. พร้อมหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านพลังงาน เพื่อหาแนวทางร่วมกันในการแก้ปัญหาค่าไฟฟ้า ที่ประชุมเห็นชอบแนวทางจัดตั้ง กรอ. พลังงาน และให้สำนักงาน กกร. จัดทำโครงสร้างรูปแบบการทำงาน เสนอหน่วยงานที่เกี่ยวข้องเห็นชอบเพื่อพิจารณาจัดตั้งต่อไป ซึ่งระหว่างการจัดตั้ง กรอ. พลังงาน ขอให้มีคณะทำงาน Task Force ด้านพลังงานเฉพาะกิจ เพื่อบูรณาการความร่วมมือแก้ปัญหา สร้างความเข้าใจในด้านพลังงาน และหารือมาตรการระยะสั้น-กลาง-ยาว
ที่ผ่านมา ภาคเอกชน ได้ช่วยลดการใช้ก๊าซธรรมชาติ โดยใช้พลังงานเชื้อเพลิงอื่นมาทดแทนไปส่วนหนึ่งแล้ว เพื่อให้การคำณวนค่าไฟฟ้าผันแปร (Ft) ในรอบถัดไปมีอัตราลดลง กกร.จึงเสนอให้ปรับลดค่า Ft งวดเดือนพฤษภาคม – สิงหาคม พ.ศ.2566 ไม่ควรเกิน 5 บาทต่อหน่วย จากงวดปัจจุบัน (ม.ค.เม.ย.66) อยู่ที่ 5.33 บาทต่อหน่วย เพราะมีปัจจัยสนับสนุนในด้านการเพิ่มขึ้นของก๊าซธรรมชาติในอ่าวไทย และราคาก๊าซธรรมชาติจากต่างประเทศ มีแนวโน้มลดลง