สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สภาพัฒน์) รายงานตัวเลขเศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ของปี 2566 ที่ผ่านมานั้นเติบโตแค่ 1.5% เท่านั้น ซึ่งต่ำกว่านักวิเคราะห์คาดไว้ โดยปัจจัยหลักในไตรมาสนี้ที่ยังทำให้เศรษฐกิจไทยเติบโตได้คือ ภาคการบริโภค รวมถึงภาคการท่องเที่ยว อย่างไรก็ดีปัจจัยที่ฉุดรั้งเศรษฐกิจไทยไตรมาสนี้คือภาคการส่งออก
นายดนุชา พิชยนันท์ เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 3/2566 ว่า เศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ผ่านมาขยายตัวได้ 1.5% ชะลอลงจาก 1.8% ในไตรมาสที่ 2/2566 โดยสาเหตุที่เศรษฐกิจในไตรมาสที่ 3 ปีนี้โตเป็นผลจาก การส่งออกรวมชะลอลง จากการส่งออกสินค้าที่ลดลง
ขณะที่บริการ รับขยายตัวจากนักท่องเที่ยวชาวต่างชาติที่เพิ่มขึ้น การใช้จ่ายรัฐบาลยังคงลดลง ปัจจัยหลักมาจากการลดลงของการใช้จ่ายด้านสาธารณสุขที่เกี่ยวข้องกับโรคติดเชื้อไวรัสโคโรนา 2019 ลดลง ขณะที่การอุปโภคบริโภคของครัวเรือนขยายตัวต่อเนื่อง และการลงทุนของภาคเอกชนที่เร่งขึ้น ส่งผลให้ 9 เดือนปี 2566 เศรษฐกิจไทยขยายตัว 1.9%
ด้านการลงทุนรวม ขยายตัว 1.5% จากการขยายตัว 0.4 % ในไตรมาสที่ 2/2566 โดยการลงทุนภาคเอกชนขยายตัว 3.1% เร่งขึ้น จากขยายตัว 1.0% ในไตรมาสที่ 2/2566 เป็นการขยายตัวทั้งด้านการก่อสร้าง และด้านเครื่องจักรเครื่องมือ
ขณะที่การลงทุนภาครัฐลดลง 2.6% ต่อเนื่องจากที่ลดลง 1.1% ในไตรมาสที่ 2/2566 เป็นการลดลงทั้งด้านการก่อสร้างและด้านเครื่องจักรเครื่องมือ
ทั้งนี้ สภาพัฒน์ คาดการณ์แนวโน้มเศรษฐกิจไทยในปี 66 คาดขยายตัว 2.5% จากครั้งก่อนคาดโตในช่วง 2.5-3.0% ขณะที่อัตราเงินเฟ้อคาดว่าจะอยู่ที่ 1.4% และดุลบัญชีเดินสะพัดจะเกินดุล 1.0% ของ GDP
ขณะที่ประมาณการแนวโน้มเศรษฐกิจไทยปี 67 ขยายตัวในช่วง 2.7-3.7% โดยมีปัจจัยสนับสนุนจากการกลับมาขยายตัวของการส่งออก การขยายตัวในเกณฑ์ดีของการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชน และการฟื้นตัวอย่างต่อเนื่องของภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ คาดว่าการบริโภคและการลงทุนภาคเอกชนจะขยายตัว 3.2% และ 2.8% ตามลำดับ มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปดอลลาร์ สรอ. ขยายตัว 3.8% ส่วนอัตราเงินเฟ้อทั่วไปเฉลี่ยอยู่ในช่วง 1.7 – 2.7% ดุลบัญชีเดินสะพัดเกินดุล 1.5% ของ GDP