สภาพัฒน์ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/65 ขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสที่ 1/65 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเร่งตัวของภาคบริการ
Advertisement
Leaderboard 728x90

สำนักงานสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) หรือสภาพัฒน์ เปิดเผยผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ (GDP) ไตรมาสที่ 2/65 ขยายตัว 2.5% ต่อเนื่องจากการขยายตัว 2.3% ในไตรมาสที่ 1/65 โดยมีปัจจัยสำคัญมาจากการเร่งตัวของภาคบริการที่มีแรงสนับสนุนจากการผ่อนคลายมาตรการควบคุมการแพร่ระบาดของ COVID-19 ประกอบกับการดำเนินมาตรการเพื่อสนับสนุนการท่องเที่ยวอย่างต่อเนื่องของภาครัฐ ส่งผลให้นักท่องเที่ยวชาวต่างชาติและผู้เยี่ยมเยือนชาวไทยขยายตัวสูง

ดนุชา พิชยนันท์

นายดนุชา พิชยนันท์  เลขาธิการสภาพัฒนาการเศรษฐกิจและสังคมแห่งชาติ (สศช.) แถลงผลิตภัณฑ์มวลรวมในประเทศ(GDP) ไตรมาสที่ 2/2565 ของปี และแนวโน้มเศรษฐกิจไทยในช่วงที่เหลือของปี พ.ศ.2565 ว่าเศรษฐกิจไทยในไตรมาสที่ 2 ปีนี้ ขยายตัวได้ 2.5% จากไตรมาสที่ผ่านมาที่จีดีพีขยายตัวได้ 2.3% รวมครึ่งปีแรกเศรษฐกิจไทยขยายตัวได้ 2.4% ในส่วนของเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2565 จะสามารถขยายตัวได้ต่อเนื่องจากปี พ.ศ.2564 ที่ผ่านมา นอกจากนี้สภาพัฒน์ได้มีการปรับคาดการณ์การเติบโตเศรษฐกิจไทยในปี พ.ศ.2565 จากก่อนหน้านี้ที่มีการคาดการณ์ไว้ที่ 2.5 – 3.5% เป็น 2.7 – 3.2% โดยการปรับลดประมาณการตัวบนจาก 3.5% เป็น 3.2% เนื่องจากผลจากความขัดแย้งในภูมิภาคต่างๆ และการปรับขึ้นดอกเบี้ยนโยบาย เป็นต้น

Advertisement
Kreamy Proof

สำหรับส่วนเศรษฐกิจในช่วงไตรมาส2 ที่ผ่านมาได้รับอานิสงค์จากการขยายตัวของสินค้าและบริการที่มาจากการท่องเที่ยวที่เพิ่มขึ้นด้วย ซึ่งขยายตัวได้มากถึง 54.3% การอุปโภคและบริโภคภาคเอกชนที่เพิ่มขึ้น 6.9%  และการอุปโภคภาครัฐบาลที่เพิ่มขึ้น 2.4% โดยในปีนี้ สศช.ได้ปรับคาดการณ์รายได้จากการท่องเที่ยวไปอยู่ที่ 6.6 แสนล้านบาท มีนักท่องเที่ยวต่างชาติเข้าไทยประมาณ 9 ล้านคน จากเดิมคาดการณ์ว่ารายได้ 5.7 แสนล้านบาท

“ในไตรมาสนี้ รายรับจากนักท่องเที่ยวชาวไทย เพิ่มขึ้นต่อเนื่องเป็นไตรมาสที่ 2 โต85.5 %เป็นผลมาจากการดำเนินมาตรการผ่อนคลายการควบคุมการแพร่ระบาดของCOVID-19 ของภาครัฐ ความคืบหน้าในการกระจายวัคซีน และการดำเนินมาตรการส่งเสริมการท่องเที่ยวภายในประเทศอย่างต่อเนื่อง เพิ่มขึ้นในเกณฑ์สูงจากฐานที่ต่ำในปีก่อน “นายดนุชา กล่าว

รายละเอียดของการประมาณการเศรษฐกิจในปี พ.ศ.2565 ในด้านต่าง ๆ มีดังนี้

การใช้จ่ายเพื่ออุปโภคบริโภค

Advertisement
The Xpozir
  1. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคบริโภคภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 4.4% ปรับตัวดีขึ้นจาก 0.3% ในปี พ.ศ.2564 และเป็นการปรับขึ้นจาก 3.9% ในการประมาณการครั้งก่อน โดยเป็นผลจากการขยายตัวของการบริโภคในช่วงครึ่งแรกของปีที่สูงกว่าประมาณการเป็นสำคัญ และยังมีแนวโน้มขยายตัวในเกณฑ์ดีต่อเนื่องในช่วงครึ่งปีหลังตามฐานรายได้ในระบบเศรษฐกิจที่ปรับตัวดีขึ้น และมาตรการสนับสนุนการใช้จ่ายภายในประเทศของภาครัฐ
  2. การใช้จ่ายเพื่อการอุปโภคภาครัฐบาล คาดว่าจะลดลง 0.2% เทียบกับการขยายตัว 3.2% ในปี พ.ศ.2564 และเท่ากับการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการคงสมมติฐานอัตราการเบิกจ่าย งบประจำภายใต้งบประมาณรายจ่ายประจำปี พ.ศ.2565 ที่ 98% ของวงเงินงบประมาณ รวมทั้งการเบิกจ่ายภายใต้แผนงานและโครงการที่ได้รับการอนุมัติภายใต้พระราชกำหนดเงินกู้ฯ เพิ่มเติม พ.ศ.2564 วงเงิน 5 แสนล้านบาท

การลงทุน

สำหรับด้านการลงทุน คาดว่าจะเพิ่มขึ้น 2.8% เทียบกับ 3.4% ในปี พ.ศ.2564 และเป็นการปรับลดจากการขยายตัว 3.5% ในประมาณการครั้งก่อน

  1. การลงทุนภาคเอกชน คาดว่าจะขยายตัว 3.1% เทียบกับ 3.3% ในปี พ.ศ.2564 และปรับลดจาก 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อน สอดคล้องกับการปรับลดประมาณการการส่งออก และแนวโน้มเศรษฐกิจโลกที่ชะลอตัวลงเร็วกว่าสมมติฐานการประมาณการครั้งที่ผ่านมา
  2. การลงทุนภาครัฐ คาดว่าจะขยายตัว 2.0% เทียบกับ 3.8% ในปี พ.ศ.2564 และปรับลดลงจาก 3.4% ในการประมาณการครั้งที่ผ่านมา ตามอัตราการเบิกจ่ายงบประมาณรายจ่ายลงทุนในช่วงสามไตรมาสแรกของปีงบประมาณที่ยังอยู่ในระดับต่ำกว่าในช่วงเดียวกันของปีก่อน และการปรับลดประมาณการอัตราการเบิกจ่ายงบลงทุนของรัฐวิสาหกิจ

การส่งออก

  1. มูลค่าการส่งออกสินค้าในรูปเงินดอลลาร์ สรอ. คาดว่าจะขยายตัว 7.9% เทียบกับ 19.2% ในปี พ.ศ.2564 และปรับเพิ่มจาก 7.3% ในการประมาณการครั้งก่อน ตามการปรับเพิ่มสมมติฐานราคาส่งออกจากเดิม 3.3 – 4.3% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 4.0 – 5.0% ในการประมาณการครั้งนี้
  2. ขณะที่ปรับลดประมาณการปริมาณการส่งออกสินค้าจากการขยายตัว 3.5% ในการประมาณการครั้งก่อนเป็น 3.4% ตามการปรับลดสมมติฐานการขยายตัวของเศรษฐกิจและปริมาณการค้าโลกและเมื่อรวมกับการปรับเพิ่มปริมาณการส่งออกบริการตามการปรับเพิ่มสมมติฐานจำนวนนักท่องเที่ยวต่างชาติ ทำให้ปริมาณการส่งออกสินค้าและบริการในปี พ.ศ.2565 มีแนวโน้มที่จะขยายตัว 9.0% เทียบกับการขยายตัว 8.3% ในการประมาณการครั้งก่อน และ 10.4% ในปี พ.ศ.2564

ในส่วนอัตราเงินเฟ้อของไทยคาดว่าจะปรับตัวลงในช่วงครึ่งปีหลัง โดยคาดว่าเงินเฟ้อเฉลี่ยของไทยในปีนี้จะอยู่ที่ 6.6% ขณะเดียวกันต้องดูแลและแก้ไขปัญหาหนี้สินของลูกหนี้รายย่อยท่ามกลางแนวโน้มการเพิ่มขึ้นของอัตราดอกเบี้ย ทั้งภาคครัวเรือนและภาคธุรกิจขนาดกลางและขนาดย่อม (SMEs) รวมทั้งเตรียมมาตรการเพื่อสนับสนุนการปรับตัวของภาคธุรกิจ สำหรับสถานการณ์ความขัดแย้งต้องจับตาดูอย่างใกล้ชิด รวมทั้งมาตรการการคว่ำบาตรต่างๆที่จะเกิดขึ้นต่อเนื่องที่อาจจะกระทบกับเศรษฐกิจและการค้าโลกด้วย

อย่างไรก็ตาม ดัชนีความเชื่อมั่นผู้บริโภคเกี่ยวกับภาวะเศรษฐกิจโดยรวมในไตรมาสนี้ลดลงมาอยู่ที่ระดับ 34.9 จากระดับ 37.3 ในไตรมาสก่อนหน้า ตามความกังวลเกี่ยวกับการเพิ่มขึ้นของภาระค่าครองชีพท่ามกลางความยืดเยื้อของสถานการณ์ความขัดแย้งระหว่างรัสเซียและยูเครน


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard