บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“FWD ประกันชีวิต”) เปิดโมเดลต้นแบบโครงการพัฒนาชุมชนกับชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ พร้อมจับมือหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ลงพื้นที่เพื่อศึกษาแนวทางการพัฒนาชุมชนตั้งแต่ต้นน้ำไปจนถึงปลายน้ำ เพื่อสนับสนุนชุมชนให้เข้มแข็ง ร่วมพัฒนาสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม อย่างยั่งยืน
นายเดวิด โครูนิช ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท เอฟดับบลิวดี ประกันชีวิต จำกัด (มหาชน) (“FWD ประกันชีวิต”) เปิดเผยว่า “ด้วยเป้าหมายของ FWD ที่สนับสนุนให้ผู้คนในสังคมไทยได้ใช้ชีวิตอย่างเต็มที่โดยไม่ต้องกังวล เราจึงเริ่มโครงการเพื่อลดความเหลื่อมล้ำและสร้างประโยชน์ให้สังคมอย่างยั่งยืนตั้งแต่ปี 2564 โดยร่วมมือกับชุมชนและหน่วยงานต่างๆ เริ่มตั้งแต่การสำรวจพื้นที่ คัดเลือกชุมชนต้นแบบ และเริ่มทำงานพัฒนาชุมชนจนเป็นที่มาของ “โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น” อ.แม่อาย จ.เชียงใหม่ ที่เราได้ทำงานกับชุมชน “ลาหู่” ตั้งแต่นั้นเป็นต้นมา
โครงการพัฒนาชุมชนลาหู่ ดอยปู่หมื่น” เริ่มต้นจากกรอบแนวคิดการพัฒนาอย่างยั่งยืนใน 3 ด้านคือ สังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม ซึ่งในการทำงานของเราเริ่มจากการการคัดเลือกชุมชน ทั้งนี้ จากการลงสำรวจพื้นที่ พบว่า ชุมชนมีปัญหาในเรื่องความเป็นอยู่ เนื่องจากรายได้ไม่เพียงพอ และกลุ่มคนหนุ่มสาวรุ่นใหม่เดินทางเข้าไปทำงานในตัวเมืองเป็นจำนวนมากโดยทิ้งพื้นที่เพาะปลูกและการทำเกษตรกรรมชาอัสสัม ซึ่งเป็นพื้นฐานของครอบครัว นอกจากนี้ ผลผลิตจากการปลูกชา ซึ่งเป็นอาชีพหลัก ยังทำได้ไม่ดีพอ เนื่องจากชุมชนใช้วิธีการปลูกแบบดั้งเดิม และอาศัยวิธีการทางธรรมชาติเป็นหลัก ซึ่งผลผลิตที่ได้มีจำนวนจำกัด และคุณภาพชาไม่สม่ำเสมอ ส่งผลต่อรายได้ของชุมชนที่ไม่แน่นอน FWD จึงเข้าไปให้ความช่วยเหลือและพร้อมเคียงข้างสนับสนุนชุมชนให้พัฒนาตนเองได้อย่างยั่งยืน โดยเริ่มทำงานด้านการพัฒนาเศรษฐกิจผ่านการเพิ่มผลผลิตที่มีคุณภาพและได้มาตรฐาน พร้อมสนับสนุนให้ชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นเป็นที่รู้จัก เพื่อนำรายได้เข้าสู่ชุมชนมากยิ่งขึ้น ซึ่งจะช่วยลดปัญหาทางสังคมในเรื่องการทิ้งพื้นที่ของคนหนุ่มสาวในหมู่บ้านไปในเวลาเดียวกัน พร้อมกันนั้นเราได้เข้าไปให้ความช่วยเหลือในเรื่องของสิ่งแวดล้อมโดยได้สนับสนุนการสร้างจุดทิ้งขยะในชุมชน เพื่อช่วยลดปัญหาการทิ้งขยะไม่เป็นที่ซึ่งอาจส่งผลให้พื้นที่เพาะปลูกเสียคุณภาพ
การทำงานในครั้งนี้เราได้รับความร่วมมือจากคณะทรัพยากรชีวภาพและเทคโนโลยี มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี และองค์การบริหารการพัฒนาพื้นที่พิเศษเพื่อการท่องเที่ยวอย่างยั่งยืน หรือ อพท. เข้าช่วยพัฒนาโครงการทั้งหมด 3 โครงการ ได้แก่
โครงการธนาคารต้นกล้า
ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2564 โดยมีเป้าหมายเพื่อเพิ่มประชากรต้นกล้าชาและเพิ่มผลผลิตชาให้กับชุมชน จัดตั้งคณะทำงานธนาคารต้นกล้าเพื่อให้ชุมชนบริหารจัดการต้นกล้าชาอย่างเป็นระบบ เริ่มตั้งแต่การเพาะพันธุ์อย่างมีคุณภาพเพื่อผลผลิตที่สมบูรณ์ มอบต้นกล้าให้สมาชิกเพื่อเพิ่มปริมาณต้นชา และส่งเสริมให้เกิดการจัดการทรัพยากรต้นกล้าและเมล็ดพันธุ์อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมทั้งให้ความรู้ในการบริหารจัดการธนาคารต้นกล้า วางแผนการดำเนินงานและการจัดสรรทรัพยากรอย่างเป็นระบบ
โครงการพัฒนาคุณภาพชา แบ่งออกเป็นสองงานหลัก คือ
(1) เพิ่มคุณภาพจากผลผลิตในปัจจุบัน ผ่านการพัฒนาโรงอบใบชา ดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 ร่วมกับมหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าธนบุรี ศูนย์นวัตกรรมเทคโนโลยีหลังการเก็บเกี่ยว ร่วมออกแบบนวัตกรรม “โรงอบชาอัจฉริยะ” จากเดิมระบบอบแห้งที่ใช้พลังงานจากแสงอาทิตย์ ซึ่งไม่สามารถควบคุมอุณหภูมิภายในโรงอบให้สม่ำเสมอได้ ทำให้ยากต่อการคำนวนระยะเวลาในการตากชาในแต่ละรอบ มาตรฐานการผลิตจึงขึ้นอยู่กับสภาพอากาศซึ่งเป็นปัจจัย ดังนั้น “โรงอบชาอัจฉริยะ” จึงเข้ามาช่วยโดยการติดตั้งเครื่องมืออบแห้งแรงลม ที่สามารถใช้ได้ทั้งพลังงานไฟฟ้าและพลังงานแสงอาทิตย์ เพื่อทำให้กระบวนการผลิตสามารถควบคุมคุณภาพได้ดีขึ้นเป็นมาตรฐานเดียวกัน มีการตรวจวัดอุณหภูมิภายในโรงอบตลอด 24 ชม ในรูปแบบอุปกรณ์ IoTทำให้โรงอบชาสามารถปรับอุณหภูมิได้เหมาะสมเป็นอัตโนมัติ สามารถควบคุมและลดระยะเวลาการตากชาในโรงอบ เพิ่มผลผลิตต่อรอบต่อวัน เพิ่มคุณภาพผลผลิตให้เป็นมาตราฐาน เพื่อให้ชุมชนสามารถขายใบชาในปัจจุบันได้ในราคาที่สูงขึ้น
(2) เพิ่มปริมาณของผลผลิตใบชาในอนาคต ผ่านโครงการธนาคารต้นกล้า ที่มอบต้นกล้าชาและเมล็ดพันธุ์ให้กับชุมชนซึ่งเป็นสมาชิกในโครงการ พร้อมให้ความรู้จากผู้เชี่ยวชาญในการพัฒนาศักยภาพเกี่ยวกับกระบวนการเพาะปลูก ตั้งแต่การเพาะเมล็ดและคัดเลือกต้นกล้าที่แข็งแรง จัดอบรมเรื่องการดูแลต้นกล้า การใช้ปุ๋ยที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม และการเก็บเกี่ยวตามมาตรฐาน และในปีนี้ สมาชิกในชุมชนมีแนวคิดร่วมกันในการผลักดันให้ชาดอยปู่หมื่นก้าวสู่มาตรฐาน Organic Thailand เพื่อส่งผลให้ผลิตภัณฑ์ของพื้นที่มีราคาสูงขึ้นพร้อมทั้งเพิ่มรายได้ในระยะยาว
โครงการเพิ่มมูลค่าชาอัสสัม
เริ่มดำเนินการตั้งแต่ปี พ.ศ.2565 โดยมีแนวคิดในการนำใบชาไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์อื่นเพื่อยกระดับชาอัสสัมจากดอยปู่หมื่นให้เป็นที่รู้จักในวงกว้าง โดยได้รับการสนับสนุนจาก “เชฟชุมพล แจ้งไพร” เชฟมิชลิน2 ดาว ผู้นำเสนอประสบการณ์อาหารไทยแบบ Fine Dining นำใบชามารังสรรค์ 3 เมนูอาหารคาว และ 2 เมนูเครื่องดื่ม พร้อมวางขายเมนูพิเศษในร้านหวานไทย ตั้งแต่วันที่ 6 มีนาคม ถึง 31 พฤษภาคม พ.ศ.2566
“แผนการพัฒนาชุมชนขั้นต่อไปคือการเตรียมความพร้อมสำหรับช่องทางการจัดจำหน่าย โดยการอบรมให้ความรู้แก่ชุมชนและเตรียมอุปกรณ์ในการขายผ่านช่องทางต่างๆ อาทิ ช่องทางออนไลน์ รวมถึงการออกบูธแสดงสินค้า เป็นต้น โดยเรามุ่งหวังให้ชุมชนสามารถยืนอยู่ได้ด้วยตัวเองหลังจากได้รับการสนับสนุนและส่งเสริมความรู้ทั้งในเรื่องสังคม เศรษฐกิจ และสิ่งแวดล้อม โดย FWD ประกันชีวิต จะนำสิ่งที่ได้เรียนรู้จากโครงการนี้เป็นโมเดลต้นแบบในการพัฒนาชุมชนอื่นๆ ต่อไปในอนาคต” นายเดวิด กล่าว