Advertisement
Leaderboard 728x90

กระทรวงพาณิชย์ เผยส่งออกปี’66 ทำได้ดีเกิดคาด เหลือลบ 1% ตั้งเป้าปี’67 โต 1-2%

กระทรวงพาณิชย์ เผยการส่งออก ธ.ค.66 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 4.7% บวกต่อเนื่อง 5 เดือนติด รวมทั้งปี 66 เหลือติดลบ 1% ต่ำกว่าที่หลายฝ่ายคาดไว้ และติดลบน้อยกว่าเพื่อนบ้านและคู่แข่งรายสำคัญ ส่วนปี 67 ตั้งเป้าทำงานโต 1-2% ลุ้นมูลค่าทะลุ 10 ล้านล้านบาท

นายกีรติ รัชโน ปลัดกระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยว่า การส่งออกเดือน ธ.ค.2566 มีมูลค่า 22,791.6 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 4.7% เป็นบวกต่อเนื่อง 5 เดือนติดต่อกัน เมื่อคิดเป็นเงินบาทมีมูลค่า 795,823.9 ล้านบาท การนำเข้ามีมูลค่า 21,818.8 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 3.1% คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 770,821.6 ล้านบาท เกินดุลการค้ามูลค่า 972.8 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาทมูลค่า 25,002.4 ล้านบาท รวมการส่งออก 12 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-ธ.ค.) มีมูลค่า 284,749.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 9,809,007.7 ล้านบาท นำเข้ามูลค่า 289,533.2 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 3.1% คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 10,111,448.4 ล้านบาท ขาดดุลการค้า มูลค่า 5,192.5 ล้านเหรียญสหรัฐ คิดเป็นเงินบาท มูลค่า 302,925.9 ล้านบาท

Advertisement
Kreamy Proof

“ตัวเลขทั้งปีที่ออกมาติดลบ 1% ถือว่าผิดคาด จากที่หลายฝ่ายคาดการณ์ว่าจะติดลบ 2% ขึ้นไป ซึ่งการส่งออกที่เหลือลบน้อยลง เป็นผลมาจากการทำงานอย่างหนักระหว่างภาครัฐและเอกชนที่ทำกันเต็มที่ โดยในใจก็ต้องบอกว่าดีใจ แม้ภาพรวมจะติดลบ เพราะติดลบได้น้อยลงตามที่เคยประกาศไว้ว่าจะผลักดันให้การส่งออกปี 2566 ขยายตัวติดลบน้อยที่สุด และสุดท้ายก็ทำได้”นายกีรติกล่าว

ทั้งนี้ การส่งออกของไทยในปี 2566 เมื่อเทียบกับประเทศเพื่อนบ้านและคู่แข่งรายสำคัญ ถือว่า การส่งออกไทยขยายตัวติดลบน้อยกว่ามาก ลบแค่ 1% ส่วนไต้หวัน ลบ 9.8% เวียดนาม ลบ 4.8% เกาหลีใต้ ลบ 7.5% ญี่ปุ่น ลบ 3.9% จีน ลบ 4.6% อินเดีย ลบ 4.7% สิงคโปร์ ลบ 7.7% อินโดนีเซีย ลบ 11.3% มาเลเซีย ลบ 11.1% เป็นต้น

สำหรับสินค้าส่งออก 10 อันดับแรกในปี 2566 ได้แก่ รถยนต์ อุปกรณ์และส่วนประกอบ สัดส่วน 10.9% ของการส่งออกทั้งหมด เครื่องคอมพิวเตอร์และส่วนประกอบ สัดส่วน 6.3% อัญมณีและเครื่องประดับ สัดส่วน 5.2% ผลิตภัณฑ์ยาง สัดส่วน 4.7% น้ำมันสำเร็จรูป สัดส่วน 3.6% แผงวงจรไฟฟ้า สัดส่วน 3.4% เม็ดพลาสติก สัดส่วน 3.1% เครื่องจักรกลและส่วนประกอบของเครื่องจักรกล สัดส่วน 3.1% เคมีภัณฑ์ สัดส่วน 2.8% และเหล็ก เหล็กกล้าและผลิตภัณฑ์ สัดส่วน 2.4%

ส่วนตลาดส่งออก 10 อันดับแรก ได้แก่ สหรัฐฯ สัดส่วน 17.2% ของการส่งออกทั้งหมด จีน สัดส่วน 12% ญี่ปุ่น สัดส่วน 8.7% ออสเตรเลีย สัดส่วน 4.3% มาเลเซีย สัดส่วน 4.2% เวียดนาม สัดส่วน 3.9% ฮ่องกง สัดส่วน 3.9% สิงคโปร์ สัดส่วน 3.6% อินเดีย สัดส่วน 3.6% และอินโดนีเซีย สัดส่วน 3.5%

Advertisement
The Xpozir

กระทรวงพาณิชย์ได้ตั้งเป้าหมายการส่งออกปี 2567 โดยเป็นเป้าทำงานไว้ที่ขยายตัว 1-2% มูลค่า 280,000-290,000 ล้านดอลลาร์สหรัฐ หรือ 9.8-10 ล้านล้านบาท โดยมีปัจจัยหนุนจากการขยายตัวของเศรษฐกิจโลกที่มีเสถียรภาพ แรงกดดันจากเงินเฟ้อลดลง การสิ้นสุดนโยบายการเงินตึงตัวของประเทศเศรษฐกิจหลัก ส่งผลดีต่อการค้าโลกให้ขยายตัว อีกทั้งมีแรงหนุนจากการสำรองสินค้าเกษตรและอาหารตามความมั่งคงทางอาหารและการฟื้นตัวของสินค้าอิเล็กทรอนิกส์ทั่วโลก

อย่างไรก็ตาม มีปัจจัยเสี่ยงที่ต้องเฝ้าระวัง ได้แก่ ความตึงเครียดทางภูมิรัฐศาสตร์ เช่น ทะเลแดง ที่จะกระทบต่อต้นทุนการขนส่งสินค้าของไทย ผลกระทบจากภัยแล้งทั่วโลก และเศรษฐกิจจีนฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด โดยกระทรวงพาณิชย์ได้เตรียมแผนผลักดันการส่งออก 400 กิจกรรม เช่น กรบุกตลาดเมืองรองในจีน แม้ว่าจีนจะชะลอตัว ก็ยังต้องบุกเจาะ โดยเฉพาะการใช้อินฟลูเอนเซอร์ มาช่วยโปรโมต รวมถึงตลาดอินเดีย ที่จะเจาะลงเมืองรองมากขึ้น เพื่อทดแทนการส่งออกตลาดจีน และยังเป็นตลาดที่มีแนวโน้มเติบโต รวมถึงจะบุกเจาะตลาดนแอฟริกาใต้ ที่ขณะนี้เป็นทางผ่านของการขนส่งสินค้าที่เลี่ยงทะเลแดง จึงจะทำวิกฤตให้เป็นโอกาส และจะเร่งการเจรจา FTA เพื่อสร้างโอกาสให้กับการส่งออกของไทย


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard