ดวงใจ อัศวจินตจิตร์ เลขาธิการคณะกรรมการส่งเสริมการลงทุน (BOI) กล่าวว่า BOI ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรมต่างๆ ที่เกี่ยวเนื่องกับกิจการกลุ่ม Bio-Circular-Green Economy (BCGEconomy) ซึ่งเป็นหนึ่งในอุตสาหกรรมเป้าหมายของประเทศ กิจการในกลุ่ม BCG ซึ่งมุ่งเน้นการใช้ทรัพยากรอย่างคุ้มค่า คำนึงถึงการนำวัสดุต่างๆ กลับมาใช้ประโยชน์ให้ได้มากที่สุด สอดรับการพัฒนาเศรษฐกิจสีเขียวที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมีความสำคัญมากต่อเศรษฐกิจไทยและมีการลงทุนในอุตสาหกรรมนี้อย่างต่อเนื่อง จากสถิติขอรับการส่งเสริมการลงทุน ตั้งแต่ปี 2558 – มิถุนายน พ.ศ.2565 คำขอรับการส่งเสริมการลงทุนในอุตสาหกรรม BCG มีจำนวนรวม 3,320 โครงการ มูลค่าเงินลงทุนรวม 752,691 ล้านบาท โดยที่ผ่านมาBOI มีมาตรการสนับสนุนธุรกิจในกลุ่ม BCG และอุตสาหกรรมที่เกี่ยวเนื่อง ครอบคลุมหลากหลายประเภทกิจการ ไม่ว่าจะเป็นธุรกิจขนาดใหญ่หรือเล็ก และตระหนักถึงความสำคัญของผู้ประกอบการสตาร์ตอัปที่มีเทคโนโลยีและนวัตกรรม โดยให้การสนับสนุนในด้านเงินลงทุนแก่สตาร์ทอัป ตาม พ.ร.บ. ส่งเสริมการลงทุน พ.ศ. 2520 และ พ.ร.บ. การเพิ่มขีดความสามารถในกำรแข่งขันของประเทศ สำหรับอุตสาหกรรมเป้าหมาย พ.ศ. 2560 ซึ่ง BOI เชื่อว่าจะสร้างการเปลี่ยนแปลงให้แก่เศรษฐกิจและสังคม และช่วยส่งเสริมความเข้มแข็งและยกระดับเศรษฐกิจไทยไปสู่การพัฒนาที่ยั่งยืนในอนาคต สำหรับการให้การสนับสนุนบริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด ซึ่งบริษัทสตาร์ทอัปไบโอเทคไทยผู้ผลิตพลาสติกชีวภาพชนิด PHA รายแรกของไทยนั้น BOI มองเห็นโอกาสและศักยภาพในการดำเนินการของบริษัทฯที่จะต่อยอดธุรกิจและจำหน่ายสินค้าที่มีคุณภาพตามแนวทาง BCG ของประเทศไทยให้เป็นที่รู้จักในตลาดการค้าในระดับสากลได้
รักชัย เร่งสมบูรณ์ ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด จำกัด กล่าวว่า บริษัท ฟรุตต้า ไบโอเมด เป็นบริษัทผู้พัฒนาเทคโนโลยีชีวภาพและผลิตไบโอโพลิเมอร์ต้นน้ำชนิด PHA (Polyhydroxylalnakoates) จากของเหลือทางการเกษตรผลไม้พืชผัก รายแรกในเอเชียตะวันออกเฉียงใต้ก่อตั้งในปี พ.ศ.2563 โดยได้มีการพัฒนาเทคโนโลยีเครื่องจักรและกระบวนการผลิตต่อยอดมาจากความเชี่ยวชาญหลักทางด้านการควบคุมเชื้อจุลินทรีย์โดยกลศาสตร์ของไหล (Fluid Mechanics) กระบวนการสร้างสารสำคัญให้กับผลิตภัณฑ์เครื่องดื่มและอาหาร ซึ่งเป็นบริษัทที่เกี่ยวเนื่องกัน เป็นผู้ผลิตเครื่องดื่มด้วยเทคโนโลยีบรรจุเย็นแบบปลอดเชื้อ อีกทั้งเกิดจากความพยายามแก้ปัญหาเรื่องขยะอินทรีย์ที่เกิดจากกระบวนการผลิตเครื่องดื่มผลไม้ ของเหลือจากการเกษตร และผลิตผลการเกษตรที่ล้นตลาด โดยมีทีมวิศวกรพัฒนากระบวนการผลิต เครื่องจักร ไลน์ผลิตที่ทำให้ต้นทุนการผลิตพลาสติกชีวภาพมีต้นทุนที่ผู้บริโภคทั่วไปเข้าถึงง่ายขึ้นในวงกว้างมากขึ้น และได้รับการส่งเสริมการลงทุนจาก BOI ทำให้เพิ่มความสามารถในการแข่งขันได้เพิ่มขึ้นอีกมาก
บริษัทฯ มีทีมวิศวกรรมและช่างเทคนิคที่สามารถประกอบ ออกแบบ เขียนโปรแกรม ติดตั้งวางระบบการผลิตเครื่องจักรได้เอง โดยมีการนำเข้าอุปกรณ์ที่ใช้เทคโนโลยีสูงเฉพาะทางมาประกอบ และวางระบบ Mechatronic, Automation & Computer Programming Control เองได้สามารถก่อสร้างโรงงานและไลน์ผลิตห้องปลอดเชื้อ ระบบควบคุม ระบบสนับสนุน ระบบไอน้ำ ระบบหล่อเย็น ระบบไฟฟ้า มีทีมวิศวกรรมเฉพาะทางที่ออกแบบและก่อสร้างได้เองเป็นส่วนใหญ่ อีกทั้งมีการใช้พลังงานความร้อนจากกระบวนการผลิตอาหารเครื่องดื่มที่ต้องเสียพลังงานในการลดอุณหภูมิด้วย Cooling Tower รวมถึงการต่อน้ำเย็นจากที่เหลือของ Chiller และห้องเย็นมาใช้ประโยชน์จึงทำให้สามารถผลิตผลิตภัณฑ์ทางชีวภาพ โดยมีการลงทุนที่มีประสิทธิภาพ ต้นทุนต่อหน่วยต่ำลง
สำหรับการขอรับการส่งเสริมการลงทุนจากทาง BOI นั้นทางบริษัทได้มีการยื่นขอรับการส่งเสริมการยื่นขอรับการส่งเสริมการลงทุน เพื่อกำลังการผลิตผลิตภัณฑ์จากพลาสติกชีวภาพ PHA ประมาณ 1,500 ล้านชิ้น มูลค่าการลงทุนในประมาณ 320 ล้านบาท ซึ่งได้รับสิทธิพิเศษ ทั้งด้านภาษีเงินได้ ภาษีการนำเข้าเครื่องจักร รวมไปถึงการจ้างงานบุคลากรที่มีความเชี่ยวชาญสูงจากต่างประเทศมาร่วมพัฒนาทและให้องค์ความรู้แก่พนักงานในบริษัทให้มีการผลิตผลิตภัณฑ์ที่ตอบโจทย์ความต้องการของตลาด และด้วยเครื่องจักรและกระบวนการผลิตที่มี เริ่มต้นจากการผลิตไบโอโพลิเมอร์เรซิน เพื่อเป็นสารตั้งต้นนำการนำไปต่อยอดเป็นผลิตภัณฑ์ที่หลากหลาย โดยใช้วัตถุดิบหลักเป็นของเหลือจากอุตสาหกรรมพืชผักผลไม้แปรรูปและขยะอาหารมาเป็นวัตถุดิบในการผลิตพลาสติกกันกระแทกเชิงพาณิชย์รายแรกของโลก ได้มีการจดสิทธิบัตรผลิตภัณฑ์และเทคโนโลยีกระบวนการผลิตแล้ว ยังมีผลิตภัณฑ์บรรจุภัณฑ์ชีวภาพอีกหลายหลายประเภทถุงบรรจุภัณฑ์ ฟิล์มห่อหุ้มอาหาร ฟิล์มแพ็คสินค้า กล่องใส่อาหาร แก้ว ถุงขยะ ถุงเพาะกล้าเพื่อการเกษตรแบบไม่ต้องนำถุงออก ย่อยสลายไปกับดิน พร้อมเสริมธาตุอาหาร สารชีวภาพป้องกันศัตรูพืช เป็นต้นโดยจัดจำหน่ายในแบรนด์ “FruitPlast” ฟรุตพลาส เพื่อให้เข้าใจง่ายๆ ว่าคือ พลาสติกจากผลไม้ โดยบริษัทจัดจำหน่ายเป็นผลิตภัณฑ์แปรรูปเพิ่มมูลค่าจาก Biopolymer เท่านั้น ไม่ได้มีการจัดจำหน่ายเป็นวัตถุดิบเรซินพลาสติกชีวภาพ ประเภท PHA เป็นเพียงชนิดเดียว ที่เกิดภายในเซลล์ของสิ่งมีชีวิต คือแบคทีเรีย ทำให้เข้ากับสิ่งมีชีวิตได้ดี เปลี่ยนโครงสร้างเกิดการย่อยของจุลินทรีย์ได้ง่ายในธรรมชาติ ทิ้งร่วมกับขยะอาหารได้ จึงเรียกว่า Home Compostable สามารถย่อยสลายไปพร้อมกับขยะอาหาร ภายในระยะเวลาเพียง 3-6 เดือนในสภาวะที่ปริมาณจุลินทรีย์สูง มีอากาศ ความชื้นเพียงพอ เท่านั้น เช่น ในขยะอาหาร ฝังดิน หรือในแหล่งน้ำไม่ส่งผลเป็นอันตรายต่อสิ่งแวดล้อมที่สำคัญจะช่วยลดการใช่พลาสติกที่ย่อยสลายได้ยากในอนาคตได้
สำหรับแผนการลงทุนในอนาคตนั้น บริษัทฯมีแผนขยายสร้างโรงงานผลิตเครื่องจักรเพื่อเพิ่มความสามารถในการขยายกำลังการผลิต โดยจะตั้งโรงงานผลิตเตาปฏิกรณ์ชีวภาพ หรือ Bioreactor ร่วมกับผู้ผลิตที่เชี่ยวชาญจากต่างประเทศ เพื่อเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเองและการแข่งขันในอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพและยาชีววัตถุของไทย นับเป็นโรงงานผลิตเครื่องจักรเพื่อใช้ในการผลิตวัคซีนและยาชีววัตถุแห่งแรกของประเทศไทย โดยวัคซีนยาชีววัตถุ เป็นผลิตภัณฑ์ตัวยาที่สำคัญที่ผลิตหรือได้มาจากสิ่งมีชีวิต เช่น อินซูลิน ฮอร์โมน ยาที่ลดการใช้เคมี เป็นต้น โดยนำมาใช้แพร่หลายทั้งในคนและสัตว์ ถูกจัดอยู่ในกลุ่มอุตสาหกรรมยาชีววัตถุซึ่งเป็นกลุ่มยาที่มีคุณภาพสูง ที่ผ่านมาประเทศไทยจำเป็นต้องพึ่งพาการนำเข้าจากต่างประเทศทั้งตัวยาเครื่องจักรและเทคโนโลยีการผลิต ซึ่งหากประเทศไทยต้องการมีบทบาทและเพิ่มความสามารถในการพึ่งพาตนเอง และเพิ่มความสามารถในการแข่งขันของอุตสาหกรรมเทคโนโลยีชีวภาพ การพัฒนาปัจจัยการผลิต พัฒนาเทคโนโลยีในการผลิต รวมถึงการสร้างโรงงานผลิตหรือผลิตเครื่องจักรบางประเภทเพื่อใช้ในอุตสาหกรรมตนเองเพื่อลดการนำเข้าเครื่องจักรที่มีราคาแพงจากต่างประเทศนอกจากนี้มีแผนร่วมลงทุนต่อยอดให้กับนักวิจัย ที่มีผลงานวิจัยแต่ยังไม่สามารถต่อยอดไปสู่เชิงพาณิชย์ ที่ขาดทั้งเงินทุน โรงงานผลิตที่ได้มาตรฐาน ผ่านการรับรองระดับนานาชาติโดยมีการสร้างกลไกความเชื่อมโยงจากงานวิจัยของนักวิจัยไทยที่มีโอกาสแข่งขันได้ในระดับโลก มาผนวกกับความเชี่ยวชาญด้านการผลิตด้วยเทคโนโลยีชีวภาพ ร่วมกับทรัพยากร ทีมงาน เครื่องจักรที่ทาง Fruita Biomed มีซึ่งสามารถพัฒนา ผลิตและสร้างประโยชน์ให้กับโครงการ ต่อยอดงานวิจัยออกสู่การผลิตเชิงพาณิชย์โดยเชื่อมกับผู้กระจายสินค้าในด้านนี้ในต่างประเทศให้ได้ เพื่อสร้างโรงงานผลิตกระจกตาเทียมชีวภาพแบบมีการฝัง Stem Cell (เซลล์ต้นกำเนิด) และ Growth Factor ซึ่งเป็นสารธรรมชาติที่กระตุ้นการเจริญเติบโตของเซลล์ โดยเป็นเทคโนโลยีที่ต่อยอดจุดยืนที่บริษัทต้องการพัฒนา Biocompatible Material (วัสดุที่เข้ากับเซลล์ของสิ่งมีชีวิตได้ดี) ให้เกิดการนำไปใช้ประโยชน์ที่หลากหลาย เพื่อสร้างมูลค่าเพิ่ม แก้ปัญหาให้กับประชาชนและสิ่งแวดล้อมในโลกนี้