บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เผยกำไรครึ่งปีแรกนี้อยู่ที่ 4.5 พันล้านบาท ลดลง 80.29% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 2.3 หมื่นล้านบาท ยันคงกระแสเงินสดแข็งแกร่ง และขยายห่วงโซ่คุณค่าธุรกิจผลิตไฟฟ้าในสหรัฐฯ สร้างการเติบโตในธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน
นางสมฤดี ชัยมงคล ประธานเจ้าหน้าที่บริหาร บริษัท บ้านปู จำกัด (มหาชน) (BANPU) เปิดเผยว่า ผลการดำเนินธุรกิจครึ่งแรกของปี 2566 บริษัทมีรายได้จากการขายรวม 23,498 ล้านบาท มีกำไรก่อนหักภาษี ดอกเบี้ย ค่าเสื่อมและค่าใช้จ่ายตัดจ่าย (EBITDA) รวม 25,474 ล้านบาท และมีกำไรสุทธิ 4,543 ล้านบาท ลดลง 80.29% จากช่วงเดียวกันปีก่อนที่มีกำไรสุทธิ 23,053 ล้านบาท
แม้ว่าบริษัทมีกำไรลดลง แต่บริษัทฯ ยังคงรักษากระแสเงินสดในการดำเนินงานอย่างต่อเนื่อง แม้ในสถานการณ์ที่ไม่เอื้ออำนวย บริษัทฯ จึงมุ่งดำเนินธุรกิจโดยเน้นความยืดหยุ่นและสามารถปรับเปลี่ยนกลยุทธ์การดำเนินงานเพื่อลดความเสี่ยงจากตลาดพลังงานที่มีความผันผวนสูง บริษัทฯ ยังคงให้ความสำคัญต่อการดำเนินธุรกิจในประเทศยุทธศาสตร์ โดยเฉพาะการต่อยอดธุรกิจที่เกี่ยวข้องกับก๊าซธรรมชาติในสหรัฐฯ และเร่งพัฒนาโครงการดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (Carbon Capture, Utilization and Storage: CCUS) เพื่อตอบโจทย์การลดการปล่อยคาร์บอนไดออกไซด์ (Decarbonization) เดินหน้าเปลี่ยนผ่านธุรกิจเพื่อตอกย้ำจุดยืนในการส่งมอบอนาคตพลังงานเพื่อความยั่งยืน (Smarter Energy for Sustainability)
“ในช่วงครึ่งแรกปี 2566 นี้ บ้านปูยังสามารถรักษาเสถียรภาพของการดำเนินงานในทุกกลุ่มธุรกิจไว้ได้ แม้ว่าสถานการณ์พลังงานโลกและสภาพอากาศมีความผันผวน ซึ่งล้วนส่งผลต่อแนวนโยบายในแต่ละประเทศ รวมทั้งแนวโน้มในอุปสงค์และอุปทานของการใช้พลังงาน อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ ได้เข้าซื้อโรงไฟฟ้าก๊าซธรรมชาติ Temple II ในรัฐเทกซัส สหรัฐอเมริกา ที่ใช้เทคโนโลยีที่ทันสมัยและเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม ซึ่งเป็นโรงไฟฟ้าข้างเคียงโรงไฟฟ้า Temple I ที่มีอยู่เดิม และเป็นสินทรัพย์ที่เปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์แล้วและสร้างกระแสเงินสดได้ทันที สามารถต่อยอดและผนึกกำลังร่วมกับโรงไฟฟ้า Temple I เพื่อเสริมความแข็งแกร่งของห่วงโซ่คุณค่าของธุรกิจในสหรัฐฯ ผนวกกับการยกระดับความยั่งยืนในกระบวนการผลิตโดยการนำเทคโนโลยีดักจับและกักเก็บก๊าซคาร์บอนไดออกไซด์ (CCUS) มาใช้ โดยดำเนินการครอบคลุมแหล่งก๊าซธรรมชาติบาร์เนตต์ ซึ่งเป็นแหล่งก๊าซที่ได้รับการรับรองมาตรฐานโกลด์จาก IES TrustWellจาก Project Canary ในฐานะแหล่งก๊าซธรรมชาติที่มีความรับผิดชอบ” นางสมฤดีกล่าว
หากแยกตามกลุ่มธุรกิจหลักในช่วง 6 เดือนแรกปีนี้ คือกลุ่มธุรกิจแหล่งพลังงาน (Energy Resources) ธุรกิจเหมือง ยังคงสามารถสร้างกระแสเงินสดที่ดีและมั่นคง ขณะที่ธุรกิจก๊าซธรรมชาติ เผชิญกับสภาวะราคาก๊าซธรรมชาติปรับตัวลดลงเนื่องจากปริมาณก๊าซธรรมชาติสำรองในสหรัฐฯ ยังอยู่ในระดับสูง อย่างไรก็ตาม บริษัทฯ เน้นบริหารจัดการเงินทุนให้สอดคล้องกับสถานการณ์ตลาด เพื่อให้คงความสามารถในการสร้างกระแสเงินสดอย่างต่อเนื่อง
กลุ่มธุรกิจผลิตพลังงาน (Energy Generation) การผลิตไฟฟ้าจากพลังงานความร้อนจากการดำเนินงานของโรงไฟฟ้าบีแอลซีพีในไทยและโรงไฟฟ้าเอชพีซีในลาว ยังคงสามารถรักษาค่าความพร้อมจ่าย (EAF) ไว้ได้ในระดับสูง ขณะที่ในไตรมาสที่ 2 โรงไฟฟ้า Temple I ในสหรัฐฯ ก็สร้างผลกำไรจากสภาพอากาศที่ร้อนจัดในรัฐเทกซัสที่ส่งผลต่อความต้องการใช้ไฟฟ้าที่เพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ สำหรับธุรกิจพลังงานหมุนเวียน โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ทั้งในจีน ญี่ปุ่น และเวียดนาม ต่างมีผลการดำเนินงานที่ดีจากสภาพอากาศที่เอื้ออำนวยและค่าความเข้มของแสงที่สูง นอกจากนั้น โรงไฟฟ้าพลังงานลมหวินเจา (Vinh Chau) ในเวียดนามยังสร้างแล้วเสร็จและผ่านกระบวนการทดสอบการทำงานของโรงไฟฟ้าเรียบร้อยแล้ว และกำลังอยู่ระหว่างยื่นเอกสารเพื่อขอเปิดดำเนินการเชิงพาณิชย์จากทางการเวียดนาม
กลุ่มธุรกิจเทคโนโลยีพลังงาน (Energy Technology) มีการเติบโตต่อเนื่องสอดรับกับนโยบายการผลิตและการใช้ยานยนต์ไร้มลพิษของภาครัฐ (Zero Emission Vehicle: ZEV) พร้อมช่วยขับเคลื่อนประเทศสู่สังคมคาร์บอนต่ำ บริษัทฯ เพิ่มสัดส่วนการลงทุนในดูราเพาเวอร์ (Durapower) เป็น 65.10% เพื่อต่อยอดธุรกิจแบตเตอรี่และระบบกักเก็บพลังงานในอนาคต ตั้งเป้ากำลังการผลิตเป็น 2 กิกะวัตต์ชั่วโมง ในปีหน้า
ในส่วนของธุรกิจซื้อขายพลังงานไฟฟ้าในประเทศญี่ปุ่นได้มีการทำสัญญาซื้อขายกับลูกค้าในภาคธุรกิจทั้งขนาดเล็กและขนาดกลางกว่า 500 ราย ในครึ่งปีแรกของปี 2566 เป็นจำนวนรวม 268 กิกะวัตต์ชั่วโมง สำหรับในประเทศไทย บริษัทฯ ยังนำเสนอโซลูชันพลังงานที่เข้ากับไลฟ์สไตล์ของผู้คนมาโชว์เคสในโครงการ ‘Infinite Cafe Powered by Banpu NEXT’ ป็อปอัพคาเฟ่ที่ใช้พลังงานสะอาดแบบครบวงจร ผ่านระบบผลิตไฟฟ้าแบบ Off-Grid ที่มีระบบโซลาร์พร้อมแบตเตอรี่กักเก็บไฟฟ้า เพื่อขยายสู่กลุ่มลูกค้าธุรกิจขนาดย่อม