นายธนารัตน์ งามวลัยรัตน์ ผู้จัดการ ธนาคารเพื่อการเกษตรและสหกรณ์การเกษตร (ธ.ก.ส.)กล่าวว่า ปัญหาการเปลี่ยนแปลงของสภาพภูมิอากาศได้ส่งผลกระทบ ทั้งมิติสิ่งแวดล้อม สังคม และเศรษฐกิจโดยเฉพาะในภาคเกษตรกรรมที่ต้องพึ่งพาปัจจัยในการเติบโตจากสภาพอากาศ ซึ่ง ธ.ก.ส.ตระหนักถึงความสำคัญในปัญหาดังกล่าว และพร้อมเข้าไปเป็นส่วนหนึ่งในการพัฒนาศักยภาพลูกค้า โดยร่วมกับภาคีเครือข่าย ทั้งภาครัฐ เอกชน สถาบันการศึกษา เข้าไปเติมองค์ความรู้ ทั้งในด้านนวัตกรรมและเทคโนโลยี รวมถึงกระบวนการผลิต เพื่อลดต้นทุนและเพิ่มมูลค่าผลผลิตให้ได้คุณภาพมาตรฐานสากล
ทั้งนี้ ธ.ก.ส.ได้จัดเตรียมผลิตภัณฑ์สินเชื่อหลากหลาย ผ่านสินเชื่ออัตราดอกเบี้ยผ่อนปรนวงเงินรวมกว่า 1.5 แสนล้าน เพื่อให้ผู้ประกอบการได้เข้าถึงแหล่งเงินทุนที่มีอัตราดอกเบี้ยต่ำได้แก่ สินเชื่อธุรกิจชุมชนสร้างไทย ที่เน้นสนับสนุนสหกรณ์การเกษตร วิสาหกิจชุมชน กองทุนหมู่บ้าน และกลุ่มเกษตรกร ในการขับเคลื่อนชุมชนให้เกิดการรวมกลุ่มของเกษตรกร เพื่อต่อยอดธุรกิจ สร้างรายได้ ยกระดับเศรษฐกิจชุมชน โดยการนำนวัตกรรมและเทคโนโลยีมาลดต้นทุน และเพิ่มมูลค่าให้กับผลิตภัณฑ์ผ่านการแปรรูปผลผลิต วงเงินรวม 50,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ย 0.01% ต่อปี
นอกจากนี้มุ่งสนับสนุนผู้ประกอบการ SME เกษตรหัวขบวนและผู้ประกอบการรุ่นใหม่ (Smart Farmer) เพื่อเพิ่มประสิทธิภาพในการผลิต และยกระดับขีดความสามารถในการแข่งขัน ผ่านนวัตกรรมและเทคโนโลยี และเปิดโอกาสให้คนรุ่นใหม่ที่มีใจรักอาชีพเกษตรกรรม รวมถึงผู้ที่ได้รับผลกระทบจาก COVID-19 ที่พร้อมนำความรู้และประสบการณ์กลับไปพัฒนาและต่อยอดธุรกิจที่บ้านเกิด ผ่านสินเชื่อเสริมแกร่ง SME เกษตรสินเชื่อสานฝันสร้างอาชีพ และสินเชื่อนวัตกรรมดีมีเงินทุน อัตราดอกเบี้ย 4% ต่อปี วงเงินรวม 90,000 ล้านบาท เป็นต้น
“ธ.ก.ส.ยังได้ส่งเสริมการดำเนินงานและกระบวนการผลิตที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม ภายใต้หลัก BCG ด้วยการทำเกษตรแบบอินทรีย์และเกษตรปลอดภัย การใช้พลังงานทางเลือกหรือพลังงานสะอาด รวมถึงการอนุรักษ์ทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม ผ่านโครงการส่งเสริมและสนับสนุนสินเชื่อสีเขียว (Green Credit) วงเงิน 15,000 ล้านบาท อัตราดอกเบี้ยMRR -(0.5-1) ต่อปี เป็นต้น” นายธนารัตน์กล่าว