Advertisement
Leaderboard 728x90

นายสุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรน้ำแห่งชาติ (สทนช.) กล่าวว่า สทนช.ได้จัดประชุมรับฟังความคิดเห็นในระดับพื้นที่รวม 7 พื้นที่ทั่วประเทศ ระหว่างวันที่ 22 สิงหาคมพ.ศ.2565 -2 กันยายน พ.ศ.2565 ที่ผ่านมาได้แก่ ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนบน ภาคตะวันออกเฉียงเหนือตอนล่าง ภาคตะวันออก ภาคกลาง ภาคใต้ตอนล่าง ภาคใต้ตอนบน และภาคเหนือ ครอบคลุมทั้ง 22 ลุ่มน้ำ เพื่อรับฟังปัญหาด้านน้ำในแต่ละพื้นที่และข้อเสนอแนะต่างๆ จากคณะกรรมการลุ่มน้ำ องค์กรผู้ใช้น้ำ หน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำในระดับพื้นที่และภาคประชาชน สำหรับนำมาปรับปรุงแผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี ให้สอดคล้องกับสถานการณ์ปัจจุบันและความต้องการของประชาชนมากที่สุด

โดยจากการประชุมรับฟังความคิดเห็นของประชาชนและผู้แทนคณะกรรมการลุ่มน้ำ 22 ลุ่มน้ำทั่วประเทศ ดำเนินการเสร็จเรียบร้อยแล้ว ซึ่งเป็นขั้นตอนการรวบรวมข้อมูลจากประชาชนในแต่ละลุ่มน้ำ ที่สะท้อนปัญหาและให้ความคิดเห็นในแต่ละประเด็น ทั้ง 5 ด้านได้แก่ 1.การจัดการน้ำอุปโภคบริโภค 2.การสร้างความมั่นคงของน้ำภาคการผลิต (เกษตร/อุตสาหกรรม) 3.การจัดการน้ำท่วมและอุทกภัย 4.การอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำ 5.การบริหารจัดการ สร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ เพื่อจัดทำกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปีในช่วงปี พ.ศ.2566-2580 ซึ่งคาดว่าจะแล้วเสร็จภายในสิ้นเดือนกันยายน พ.ศ.2565

Advertisement
อ่าวขนอม ซีฟู้ด

ทั้งนี้ จะนําเสนอต่อคณะกรรมการน้ำแห่งชาติ (กนช.) เพื่อพิจารณาเห็นชอบในเดือนตุลาคม 2565 และประกาศใช้เพื่อเป็นกรอบแนวทางเป้าหมายในการดำเนินการของหน่วยงานที่เกี่ยวข้องด้านน้ำ และเป็นข้อมูลสำคัญสำหรับดำเนินการจัดทำแผนแม่บทลุ่มน้ำ ที่สะท้อนกับประเด็นปัญหาของพื้นที่ลุ่มน้ำ ในลำดับต่อไป

“แผนแม่บทฯ น้ำฉบับใหม่นี้มีการปรับปรุงหลายอย่างให้ทันสมัยและครอบคลุมรอบด้าน รองรับการเปลี่ยนแปลง หรือความท้าทายใหม่ ๆ ที่จะเกิดขึ้น ที่สำคัญคือต้องการผลักดันให้ภาคประชาชนและท้องถิ่นเข้ามามีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำมากยิ่งขึ้นด้วย สำหรับการเปิดเวทีรับฟังความคิดเห็นจากประชาชนผู้ใช้น้ำจากทั่วประเทศ ทำให้ได้ทราบถึงความต้องการของประชาชนอย่างแท้จริง สามารถนำไปกำหนดแผนการบริหารจัดการน้ำของประเทศได้อย่างมีประสิทธิภาพ และตรงต่อความต้องการของประชาชนในพื้นที่ได้ดียิ่งขึ้น เพราะเป็นการร่วมมือกันออกแบบระหว่างหน่วยงานรัฐและภาคประชาชน จึงเป็นแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปีที่เรียกว่า ถูกที่ ถูกเวลา และถูกคน”นายสุรสีห์กล่าว

สำหรับผลการประชุมกลุ่มย่อยทั้ง 22 ลุ่มน้ำ พบว่าประเด็นที่เจอแต่ละพื้นที่มีลักษณะปัญหาและความต้องการที่แตกต่างกันไปในแต่ละพื้นที่ลุ่มน้ำ โดยสรุปแล้วส่วนใหญ่จะมีความต้องการคล้ายคลึงกันในแผนบริหารจัดการน้ำอุปโภคบริโภค ประชาชนต้องการให้มีการควบคุมคุณภาพน้ำ จัดการน้ำกินน้ำใช้ให้เพียงพอต่อความต้องการ เพิ่มประสิทธิภาพและคุณภาพประปาหมู่บ้าน และการบริหารจัดการ โดยสร้างกระบวนการมีส่วนร่วมในทุกระดับ ประชาชนต้องการมีบทบาทในการบริหารจัดการน้ำในพื้นที่ของตนเอง โดยมีภาครัฐให้การสนับสนุนข้อมูล เครื่องมือ และงบประมาณให้กับท้องถิ่นในการดำเนินโครงการเกี่ยวกับน้ำ ทั้งนี้ ข้อคิดเห็นต่าง ๆ เหล่านี้จะถูกนํามาพิจารณาอยู่ในแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปีฉบับปรับปรุง ร่วมกับประเด็นที่เพิ่มเติมเข้ามา เพื่อรับมือกับการเปลี่ยนแปลงของสถานการณ์ทั้งในประเทศและสถานการณ์โลก เช่น สถานการณ์COVID-19 ทำให้แรงงานคืนถิ่นนําไปสู่ความต้องการใช้น้ำที่เพิ่มมากขึ้นทั้งน้ำกิน น้ำใช้ และน้ำเพื่อการเกษตร เพื่อสร้างรายได้ รองรับการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศที่ส่งผลกระทบต่อการบริหารจัดการน้ำและภัยธรรมชาติที่ทำให้เกิดภัยพิบัติด้านน้ำรุนแรงขึ้น การใช้ข้อมูลเทคโนโลยีดิจิทัล (Digital Transformation) การแก้ปัญหาโดยวิธีธรรมชาติ (natural-based solution) การพัฒนาเศรษฐกิจ สังคมควบคู่กับการอนุรักษ์และฟื้นฟูระบบนิเวศทรัพยากรน้ำการมีส่วนร่วมของภาคประชาชน เอกชน และทุกภาคส่วนได้อย่างแท้จริง

อย่างไรก็ดี ในการประชุมปัจฉิมนิเทศร่วมกับหน่วยงานและผู้มีส่วนได้ส่วนเสีย “โครงการศึกษาปรับปรุงกรอบแนวทางและค่าเป้าหมายแผนแม่บทการบริหารจัดการน้ำ 20 ปี” มีตัวแทนลุ่มน้ำ มีข้อเสนอ อาทิ โครงการ โขง เลย ชี มูล ยังไม่ชัดเจน อีกทั้งปัญหาน้ำเค็ม ปริมาณน้ำในแผนควรมีแผนการจัดการน้ำต้นทุน สร้างระบบการกระจายน้ำให้ชัดเจน แผนลุ่มน้ำควรมีรายละเอียดให้สามารถวางเเผนการใช้ประโยชน์ที่ดิน ท้ายสุดคือเรื่องการกระจายอำนาจน้ำตรงจุดที่ท้องถิ่น หรือต้องมีกองทุนน้ำระดับตำบล ควรมีแผนของตัวเองเพื่อก้าวข้ามปัญหางบประมาณที่ต้องใช้เวลานาน

Advertisement
The Xpozir

Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard