ศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจเผย ผลสำรวจการใช้จ่ายช่วงเทศกาลกินเจปี 66 กลับมาคึกคัก ประชาชนมั่นใจเศรษฐกิจ-ท่องเที่ยวฟื้นตัว ค่าใช้จ่ายปีนี้สูง 4,587 บาท สูงในรอบ 16 ปี คาดเงินสะพัด 44,558 ล้านบาท
นายธนวรรธน์ พลวิชัย อธิการบดีมหาวิทยาลัยหอการค้าไทย และประธานที่ปรึกษาศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจและธุรกิจ เปิดเผยว่า ศูนย์พยากรณ์ฯ สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายของประชาชนในช่วงเทศกาลกินเจ คาดว่าปีนี้คึกคัก เพราะบรรยากาศของการกลับมากินเจ เศรษฐกิจดีขึ้น การท่องเที่ยวฟื้นตัว และมาตรการกระตุ้นเศรษฐกิจของภาครัฐ จึงมีผลต่อการจับจ่ายซื้อสินค้าในช่วงเทศกาล ซึ่งคาดว่าสูงขึ้น 30% และเศรษฐกิจฟื้นก็มีผลต่อการใช้จ่ายที่จะเพิ่มขึ้นปี 2566 นี้ อยู่ที่ 4,587 บาท สูงสุดในรอบ 16 ปี นับตั้งแต่มีการสำรวจในปี 2551 ทำให้คาดการณ์ว่าเงินจะสะพัดในช่วงกินเจ 44,558 ล้านบาท ขยายตัว 5.5% แต่ก็ยังไม่เท่าก่อนที่จะเกิดโควิด
นางอุมากมล สุนทรสุรัติ ผู้ช่วยผู้อำนวยการศูนย์พยากรณ์เศรษฐกิจ และธุรกิจ มหาวิทยาลัยหอการค้าไทย กล่าวว่า ได้สำรวจพฤติกรรมการใช้จ่ายช่วงเทศกาลกินเจและความคิดเห็นต่อสถานการณ์ในปัจจุบัน สำรวจระหว่างวันที่ 27 ก.ย. – 3 ต.ค. 2566 จากกลุ่มตัวอย่าง 1,280 ตัวอย่างทั่วประเทศ พบว่า คนจะเริ่มกินเจตั้งแต่วันที่ 14-15 ต.ค. 2566 โดยกลุ่มตัวอย่าง 39.4% กินเจ เพราะตั้งใจทำบุญ เพื่อสุขภาพ ลดการกินเนื้อสัตว์ และ 60.6% ไม่กินเจ เพราะอาหารแพง ไม่ตั้งใจจะกิน เศรษฐกิจไม่ดี
ทั้งนี้ส่วนพฤติกรรมการกินเจที่ผ่านมาและแนวโน้มในอนาคต ส่วนใหญ่ 82.2% ที่เคยกินก็ยังกินต่อเนื่อง ส่วน 17.8% ไม่เคย ปีนี้อาจจะไม่กินแต่ บางกลุ่มก็บอกว่าจะลองกินในปีนี้ และการกินเจปีนี้ก็พบว่า 61.4% จะกินตลอดเทศกาล จะมีเพียง 38.6% ที่จะกินเป็นบางมื้อ ช่องทางที่จะเลือกซื้อส่วนใหญ่ 88.8% ไปซื้อด้วยตัวเอง และ11.2% ไม่ได้ไปซื้อด้วยตัวเอง โดยซื้อผ่านเดลิเวอรี่ ออนไลน์
นอกจากนี้ วัตถุดิบและคาดว่าราคาอาหารเจปี 2566 นี้ คนส่วนใหญ่คิดว่า 57.1% แพงขึ้น มีเพียง 0.7% ราคาลดลง และ 42.2% ที่คิดว่าเท่าเดิม การไปทำบุญเฉลี่ยต่อคนปีนี้ 1,504 บาทต่อคน และมูลค่าการเดินทางไปทำบุญเฉลี่ย 3,589 บาทต่อคน ส่วนมูลค่าการใช้จ่ายในช่วงเทศกาลอยู่ที่ 4,587 บาท ทำให้คาดการณ์ว่าเงินจะสะพัดในช่วงกินเจ 44,558 ล้านบาท ขยายตัว 5.5%