จากการรายงานจากสื่อต่างประเทศ รายได้ของภาพยนตร์ฟอร์มยักษ์ “The Meg 2: The Trench เม็ก 2: อภิมหาโคตรหลามร่องนรก” ในช่วงสัปดาห์แรกของการเข้าฉาย สามารถสร้างรายได้รวมทั่วโลกอยู่ที่ 154.98 ล้านเหรียญสหรัฐ มากกว่าเงินลงทุนที่ 130 ล้านเหรียญสหรัฐ โดยเฉพาะตลาดภาพยนตร์ในสาธารณรัฐประชาชนจีนที่ได้รับกระแสตอบรับดีมาก และคาดการณ์รายได้น่าจะมากกว่า 500 ล้านเหรียญสหรัฐ
The Meg 2 : The Trench เป็นหนึ่งในภาพยนตร์ต่างประเทศที่เดินทางเข้ามาลงทุนถ่ายทำตามสถานที่ท่องเที่ยวในประเทศไทย เมื่อวันที่ 13 เมษายน – 18 พฤษภาคม 2565 โดยคณะถ่ายทำได้ปักหลักถ่ายทำในพื้นที่จังหวัดภูเก็ต และยังมีบางส่วนถ่ายทำในพื้นที่จังหวัดกระบี่และจังหวัดสมุทรปราการ อาทิ หาดพาราไดซ์ อำเภอกระทู้ (Paradise Beach) ภูเก็ต แอร์พาร์ค อำเภอถลาง ถลางมณีคราม อำเภอเมืองภูเก็ต เกาะห้อง อุทยานแห่งชาติธารโบกขรณี จังหวัดกระบี่ และเดอะ สตูดิโอ พาร์ค อำเภอบางบ่อ จังหวัดสมุทรปราการ โดยมีบริษัทอินโดไชน่า โปรดักส์ชั่น (สยาม) จำกัด เป็นผู้ประสานงานการถ่ายทำ
นายจาตุรนต์ ภักดีวานิช อธิบดีกรมการท่องเที่ยว กล่าวว่า คณะถ่ายทำภาพยนตร์ The Meg 2 : The Trench จากสหราชอาณาจักรฯ ได้ติดต่อประสานงานกรมการท่องเที่ยว (DOT) กองกิจการภาพยนตร์และวีดิทัศน์ต่างประเทศ (Thailand Film Office) เมื่อช่วงเดือนตุลาคม 2564 เพื่อเข้าพบและนำเสนอ Project การถ่ายทำในประเทศไทย ซึ่งกรมการท่องเที่ยวได้แนะนำสถานที่ถ่ายทำที่เหมาะสมกับภาพยนตร์ โดยเฉพาะทะเลทางภาคใต้ของไทยที่มีความสอดคล้องกับบทภาพยนตร์ รวมทั้งแนะนำมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย Incentive และการอำนวยความสะดวกด้านต่างๆ ให้แก่คณะถ่ายทำ โดยปัจจัยหลักที่ทำให้คณะถ่ายทำตัดสินใจเข้ามาลงทุนในประเทศไทยครั้งนี้ คือ การเข้าร่วมมาตรการ Incentive ในรูปแบบการคืนเงิน (Cash Rebate) จำนวนร้อยละ 20 จากงบลงทุนในประเทศไทยมากกว่า 300 ล้านบาท ซึ่งสามารถสร้างงานให้กับทีมงานชาวไทย และกระจายรายได้ไปสู่ภาคธุรกิจภาพยนตร์ ธุรกิจท่องเที่ยว และธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง จำนวนมากกว่า 3,500 ราย โดยมีค่าใช้จ่ายหลัก เช่น ค่าจ้างทีมงานชาวไทย จำนวน 33% ค่าเช่าอุปกรณ์ถ่ายทำ 24% ค่าที่พัก 18% เป็นต้น
กรมการท่องเที่ยว (DOT) ในฐานะหน่วยงานภาครัฐ ที่มีภารกิจในการพิจารณาอนุญาต ส่งเสริมและอำนวยความสะดวกให้แก่กองถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ได้ให้ความสำคัญกับการส่งเสริมการถ่ายทำของคณะถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศ ทั้งการสนับสนุนด้วยมาตรการส่งเสริมการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย (Incentive Measures) การลดขั้นตอนการขออนุญาตถ่ายทำภาพยนตร์ การประชาสัมพันธ์ในงานเทศกาลภาพยนตร์ในต่างประเทศ รวมถึงการแก้ไขปัญหาและอำนวยความสะดวกให้กับกองถ่ายต่างประเทศ เพื่อเป็นการสร้างรายได้ให้กับประเทศ สร้างงานให้กับบุคลากรชาวไทย และกระจายไปสู่ชุมชนท้องถิ่นที่เป็นสถานที่ถ่ายทำ รวมทั้งภาคธุรกิจที่เกี่ยวเนื่อง ทั้งในภาคอุตสาหกรรมภาพยนตร์และภาคการท่องเที่ยว ทั้งนี้ สามารถติดตามข่าวสารการถ่ายทำภาพยนตร์ต่างประเทศในประเทศไทย ผ่านทาง Facebook: TFO Thailand Film Office