คณะรัฐมนตรีมีมติเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) (ความตกลง ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) รวมทั้งให้กระทรวงการต่างประเทศ (กต.) เป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ตามที่กระทรวงอุตสาหกรรม (อก.) เสนอ
เรื่องเดิม
1. คณะรัฐมนตรีมีมติ (26 มกราคม 2531) อนุมัติให้ประเทศไทยสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) และมอบหมายให้ กต. ดำเนินการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าว โดยการภาคยานุวัติภายในวันที่ 15 กุมภาพันธ์ 2531 [ความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) สิ้นสุดลงเมื่อวันที่ 31 ธันวาคม 2535]
2. คณะรัฐมนตรีมีมติ (8 ธันวาคม 2535) ให้ส่งเรื่องการสมัครเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ให้คณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจพิจารณาก่อน และให้ อก. เสนอข้อมูลผลการดำเนินงานที่ผ่านมาในการที่ประเทศไทยเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2530 (ค.ศ. 1987) ผลดีผลเสีย หรือผลประโยชน์ที่ได้รับเป็นไปตามวัตถุประสงค์หรือไม่ และหากประเทศไทยไม่เข้าร่วมเป็นสมาชิกต่อไปจะมีผลกระทบอย่างใด รวมทั้งภาระผูกพันที่ประเทศไทยจะต้องปฏิบัติตามในฐานะภาคีความตกลง ISA เพิ่มเติมเพื่อประกอบการพิจารณาด้วย
3. คณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2535) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) และใช้บังคับความตกลงดังกล่าวเป็นการชั่วคราวก่อน และให้ กต. ดำเนินการเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวโดยสมบูรณ์ในโอกาสที่เหมาะสม ตามที่ อก. เสนอ ตามมติคณะกรรมการรัฐมนตรีฝ่ายเศรษฐกิจ [ความตกลง ISA ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) มีผลใช้บังคับโดยสมบูรณ์ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2536 ถึงวันที่ 31 ธันวาคม 2538 เว้นแต่จะได้รับการขยายออกไปอีก หรือสิ้นสุดก่อนกำหนดเวลาก็ได้ ทั้งนี้ ความตกลง ISA ฉบับนี้มีบทบัญญัติเฉพาะในส่วนที่เกี่ยวกับเรื่องการบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติอันเป็นภาระผูกพันในเรื่องที่เกี่ยวกับเศรษฐกิจฯ
สาระสำคัญ
กระทรวงอุตสาหกรรมเสนอคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบการปรับปรุงแก้ไขความตกลงว่าด้วยน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Agreement: ISA) ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992) ซึ่งคณะรัฐมนตรีมีมติ (22 ธันวาคม 2535) เห็นชอบในหลักการให้ประเทศไทยแสดงความจำนงที่จะเข้าเป็นภาคีความตกลงดังกล่าวแล้ว และให้กระทรวงการต่างประเทศเป็นผู้ลงนามในตราสารการยอมรับการแก้ไขเพิ่มเติมความตกลงดังกล่าว ซึ่งจะต้องแจ้งผลการพิจารณาภายในวันที่ 28 กุมภาพันธ์ 2567 โดยความตกลงดังกล่าวมีสาระสำคัญเป็นเพียงการกำหนดเกี่ยวกับการบริหารจัดการและการปฏิบัติงานของประเทศสมาชิกอำนาจ หน้าที่ รวมถึงองค์ประกอบการประชุมต่าง ๆ ภายใต้องค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ ซึ่งองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศจะต้องทำหน้าที่เป็นศูนย์กลางในการรวบรวมและเผยแพร่ข้อมูลทางสถิติและการศึกษาการผลิต ราคา การส่งออกและนำเข้า การบริโภค และสต๊อกน้ำตาลของน้ำตาลและสารให้ความหวานอื่น ๆ ซึ่งเป็นบทบัญญัติทางด้านบริหารเท่านั้น ไม่มีบทบัญญัติทางด้านเศรษฐกิจ กฎข้อบังคับผูกพันในเรื่องโควตาการส่งออกและระบบการเก็บสต๊อกพิเศษแต่อย่างใด ประเทศสมาชิกสามารถส่งออกได้โดยเสรี ทั้งนี้ เมื่อคณะรัฐมนตรีพิจารณาให้ความเห็นชอบแล้ว การแก้ไขความตกลงดังกล่าวจะมีผลบังคับใช้ตั้งแต่วันที่ 1 มกราคม 2568 โดยการปรับปรุงแก้ไขในครั้งนี้ก็เป็นเพียงการปรับปรุงแก้ไขเกี่ยวกับบทบัญญัติเฉพาะทางด้านบริหาร ดังนี้
1) นิยามของ “น้ำตาล” ให้ครอบคลุมถึงสารให้ความหวานพลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอรีไฟเนอรี เนื่องจากปัจจุบันอุตสาหกรรมน้ำตาลมีความเกี่ยวข้องกับสารให้ความหวาน พลังงานชีวภาพ เชื้อเพลิงเอทานอลและไบโอรีไฟเนอรีมากขึ้น หรืออาจรวมไปถึงผลิตภัณฑ์อื่น ๆ ในอนาคต รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขขอบเขตความร่วมมือขององค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ (International Sugar Organization: ISO) ให้ครอบคลุมถึงนิยามที่ปรับแก้ข้างต้นด้วย (ปรับแก้ข้อ 1 วัตถุประสงค์ ข้อ 32 การให้ข้อมูลเพื่อศึกษา ข้อ 33 ข้อมูลทางสถิติ การบริโภคและแนวโน้มตลาดน้ำตาล ข้อ 34 การวิจัยและการพัฒนาของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)]
2) วาระการดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการบริหารในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ เพื่อให้การดำรงตำแหน่งของผู้อำนวยการมีความชัดเจนและโปร่งใสจากเดิมที่ไม่ได้มีการกำหนดวาระการดำรงตำแหน่งที่ชัดเจน รวมทั้งปรับปรุงแก้ไขการคำนวณโหวต และค่าสมาชิกของประเทศสมาชิก เพื่อให้การคำนวณโหวตมีความทันสมัยและเป็นปัจจุบันมากขึ้นบนพื้นฐานสัดส่วนการส่งออก การนำเข้า การผลิต การบริโภคน้ำตาลทรายและความสามารถในการจ่ายเงินของประเทศสมาชิกในอัตราส่วนที่เท่า ๆ กัน จากเดิมที่คำนวณเฉพาะการส่งออกและนำเข้าในตลาดเสรีและตลาดพิเศษ [ปรับแก้ข้อ 23 การแต่งตั้งผู้อำนวยการบริหารและเจ้าหน้าที่ในองค์การน้ำตาลระหว่างประเทศ และข้อ 25 การคำนวณโหวตและค่าสมาชิกของประเทศสมาชิกของความตกลง ฉบับปี พ.ศ. 2535 (ค.ศ. 1992)]
ซึ่งการแก้ไขปรับปรุงความตกลงข้างต้นไม่มีประเด็นใดที่ขัดต่อกฎข้อบังคับหรือข้อผูกพันเกี่ยวกับปริมาณโควตาการนำเข้าและส่งออกน้ำตาลของประเทศไทยตามพันธกรณีที่ได้ผูกพันไว้กับองค์การการค้าโลก (WTO) รวมทั้งมิได้มีบทบัญญัติที่ขัดต่อกฎหมาย ระเบียบ และข้อบังคับที่มีอยู่ในปัจจุบัน