บริษัท ไทยเพรซิเดนซ์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตมาม่าเผยแผนการดำเนินธุรกิจ 3 ปีใช้งบลงทุน 2,000 ล้านบาท เพื่อสร้างโรงงานใหม่ ซื้อเครื่องจักร-ที่ดิน 50 ไร่ ขยายกำลังการผลิต รองรับการเติบโต 10 ปี เล็งพื้นที่ EEC หรือ CLMV
นายพันธ์ พะเนียงเวทย์ ผู้จัดการใหญ่ บริษัท ไทยเพรซิเดนซ์ฟูดส์ จำกัด (มหาชน) หรือ TFMAMA ผู้ผลิตมาม่า เปิดเผยว่า ปัจจุบันบริษัทมีโรงงานผลิตมาม่าอยู่ 8 แห่ง แบ่งเป็น1. ในประเทศ 5 แห่ง โดย 3 แห่ง เป็นโรงงานผลิตเส้นบะหมี่ ได้แก่ อ.ศรีราชา จ.ชลบุรี 1 แห่ง กำลังการผลิต 261.53 ตันต่อวันจังหวัดลำพูน 1 แห่ง กำลังการผลิต 136.08 ตันต่อวัน และจังหวัดระยอง 1 แห่ง กำลังการผลิต 94.01 ตันต่อวัน และโรงงานผลิตเส้นขาวจังหวัดราชบุรีจำนวน 2 แห่ง มีกำลังการผลิตรวม 60.32 ตันต่อวันและ 2. โรงงานผลิตในต่างประเทศ อีก 4 แห่ง ได้แก่ เมียนมาร์ กัมพูชา บังคลาเทศ และฮังการี มีกำลังการผลิตรวม 16,044 ตันต่อปี
นอกจากนี้ หากแบ่งประเภทกำลังการผลิตบะหมี่ประเภทซองอยู่ที่ 964,320 หีบต่อเดือน กำลังการผลิตบะหมี่ประเภทถ้วยอยู่ที่ 1,159,498 หีบต่อเดือน กำลังการผลิตผลิตภัณฑ์จากข้าวอยู่ที่ 193,125 หีบต่อเดือน
โดยความเร็วในไลน์ผลิตแบบซองความเร็วสูงสุดอยู่ที่ 450 ซองต่อนาที ความเร็วไลน์ผลิตแบบถ้วยสูงสุดอยู่ที่ 300 ถ้วยต่อนาทีอย่างไรก็ตาม ตลาดบะหมี่กึ่งสำเร็จรูปมีอัตราการโตปีละ 4-5% และขณะนี้กำลังการผลิตที่สามารถเพิ่มเครื่องจักรได้ 1 เครื่อง เหลือที่โรงงาน จ.ระยอง นอกนั้นเต็มศักยภาพ
สำหรับทิศทางการทำธุรกิจในอนาคต บริษัท ฯ จะมุ่งต่อยอดสู่ Future food โดยจะมีการพัฒนาผลิตภัณฑ์ใหม่ออกมาอย่างต่อเนื่อง ตามความต้องการของตลาดและไลฟ์สไตล์ของผู้บริโภคที่เปลี่ยนไปและไม่หยุดนิ่ง โดยวางทิศทางการลงทุนไว้ว่าใน 3 ปีนี้ มาม่าจะมีการลงทุนใหญ่อีกครั้ง โดยใช้งบประมาณ 2,000 ล้านบาท แบ่งเป็นลงทุนเครื่องจักร 6-8 ตัว ราคา 100-200 ล้านบาท/เครื่อง นอกนั้นจะเป็นการซื้อที่ดินราว 50-60 ไร่ และก่อสร้างโรงงานใหม่
สำหรับพื้นที่ที่เล็งสร้างไว้มองเป็นเขต EEC ตลอดจนในเขตประเทศ CLMV โดยคาดว่าการลงทุนโรงงานใหม่นี้ จะรองรับการเติบโตของมาม่าได้อีก 10 ปี
ด้านผลประกอบการคาดว่าในปี 2566 นี้ จะมีอัตราการเติบโตขึ้นจากปี 2565 อยู่ที่ 4 %โดยคาดการณ์ว่าในปี 2567 จะสามารถเติบโตอยู่ที่ 5 – 7 % โดยปัจจุบันสัดส่วนการทำตลาดแบ่งเป็นในประเทศ 70 % และต่างประเทศ 30 % ในอนาคตตั้งเป้าว่าจะเพิ่มสัดส่วนการทำตลาดต่างประเทศอยู่ที่ 40 – 50 %
สำหรับการขึ้นค่าแรงขั้นต่ำ ตามนโยบายของรัฐบาลใหม่นั้น บริษัทฯ ในฐานะธุรกิจที่สามารถปรับตัวรับมือได้ เราคิดเป็นค่าแรงต่อซอง กล่าวคือ ปัจจุบันกำลังการผลิตบริษัทอยู่ระหว่าง 300-450 ก้อน/นาที หากกำลังผลิตทำได้มากขึ้น ก็ไม่กระทบมาก เพราะ พนักงาน 1 คน สามารถผลิตมาม่าได้มากขึ้น
อย่างไรก็ตาม การเพิ่มกำลังผลิตต้องใช้เวลา ผ่านการซื้อเครื่องจักรใหม่ที่มีกำลังการผลิตเพิ่มขึ้น เช่น 450 ก้อน/นาที, 600 ก้อน/นาที
“ที่ผ่านมาค่าแรงขึ้นมาตลอด แต่ไม่กระชาก และอาจช้ากว่าค่าครองชีพ ตรงนี้รัฐบาลต้องไปปรับให้ไล่ตามกันได้ ควบคู่การให้เอกชนปรับตัวให้ทัน”นายพันธ์กล่าว