“กรมชลประทาน” ขอความร่วมมือเกษตรกรลุ่มเจ้าพระยา งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาปรัง 2) เพื่อลดความเสี่ยงขาดแคลนน้ำในอนาคต
นายประพิศ จันทร์มา อธิบดีกรมชลประทาน เปิดเผยว่า ปัจจุบันกรมชลประทานได้จัดสรรน้ำให้เกษตรกรเพาะปลูกข้าวนาปรัง ในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 ทั่วประเทศไปแล้ว 19,682 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 72 ของแผนฯ เฉพาะลุ่มเจ้าพระยามีการจัดสรรน้ำไปแล้วประมาณ 7,113 ล้าน ลบ.ม. คิดเป็นร้อยละ 79 ของแผนฯ จนถึงขณะนี้มีการเพาะปลูกพืชทั้งประเทศไปแล้ว 9.96 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 10.42 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 96 ของแผนฯ โดยมีพื้นที่ที่เก็บเกี่ยวแล้ว 2.052 ล้านไร่ เฉพาะพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยามีการเพาะปลูกแล้ว 6.31 ล้านไร่ จากแผนที่กำหนดไว้ 6.64 ล้านไร่ หรือคิดเป็นร้อยละ 95 ของแผนฯ เก็บเกี่ยวแล้ว 1.391 ล้านไร่ ซึ่งเป็นไปตามแผนที่กำหนด
อย่างไรก็ตาม เพื่อให้การบริหารจัดการน้ำในช่วงฤดูแล้งปี 2565/2566 เป็นไปตามแผนที่กำหนดไว้ กรมชลประทานจึงขอความร่วมมือจากเกษตรกร โดยเฉพาะในพื้นที่ลุ่มเจ้าพระยา ที่เพาะปลูกและเก็บเกี่ยวข้าวนาปรังแล้วเสร็จ ให้งดการเพาะปลูกข้าวนาปรังต่อเนื่อง (นาปรัง 2) เพื่อไม่ให้กระทบต่อแผนการจัดสรรน้ำฤดูแล้ง และเพื่อรักษาระดับน้ำเหนือเขื่อนเจ้าพระยาให้อยู่ในเกณฑ์ที่เหมาะสม สามารถส่งน้ำเข้าระบบชลประทาน ส่งไปสนับสนุนการใช้น้ำอุปโภคบริโภค และรักษาระบบนิเวศได้อย่างเพียงพอตลอดทั้งปี ลดความเสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ที่อาจจะเกิดขึ้นได้ในอนาคต รวมไปถึงเพื่อควบคุมคุณภาพน้ำในแม่น้ำเจ้าพระยาตอนล่างให้อยู่ในเกณฑ์ที่กำหนดด้วย
ทั้งนี้ กรมชลประทานได้ติดตามสภาพอากาศและสถานการณ์น้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อนำข้อมูลมาวิเคราะห์ สำหรับบริหารจัดการน้ำให้สอดคล้องกับสถานการณ์ที่เกิดขึ้นอย่างประณีต รวมทั้งปฏิบัติตาม 10 มาตรการรับมือฤดูแล้ง ที่กองอำนวยการน้ำแห่งชาติ (กอนช.) กำหนดอย่างเคร่งครัด พร้อมทั้งร่วมบูรณาการกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการให้ความช่วยเหลือพื้นที่ ที่เสี่ยงต่อปัญหาการขาดแคลนน้ำ ด้วยการจัดเตรียมเครื่องจักร เครื่องมือ อาทิ เครื่องสูบน้ำ รถบรรทุกน้ำไว้คอยช่วยเหลือประชาชนและเกษตรกรได้ทันที ตลอดจนประชาสัมพันธ์ขอความร่วมมือไปยังเกษตรกลุ่มผู้ใช้น้ำ และทุกภาคส่วนให้ช่วยกันประหยัดน้ำ เพื่อให้ปริมาณน้ำที่มีอยู่เพียงพอใช้ทุกกิจกรรมตลอดในช่วงฤดูแล้งนี้