บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอล จำกัด มหาชน (PRINC) ผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพในเครือพริ้นซิเพิลเฮลท์แคร์ และ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC) ผู้นำธุรกิจพอลิเมอร์ครบวงจรเพื่อความยั่งยืน พร้อมด้วย แบ็กซ์เตอร์เฮลธ์แคร์ (Baxter Healthcare) บริษัทด้านยาและเวชภัณฑ์ระดับโลกที่มุ่งให้ความสำคัญกับสุขภาพไตของคนไทยและ ไดโนเฟล็กซ์ (Dynoflex) ผู้ผลิต จัดจำหน่ายและบริการติดตั้งวัสดุตกแต่งพื้นไวนิลทั้งในและต่างประเทศลงนามบันทึกความร่วมมือด้านเศรษฐกิจหมุนเวียนโครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไต (Circular Economy Collaboration: Dialysis Solution Bags to Recycled PVC Tiles) นับเป็นครั้งแรกในประเทศไทยที่นำถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วกลับเข้าสู่กระบวนการรีไซเคิลอย่างถูกวิธีเพื่อเพิ่มมูลค่าเป็นกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูงนำร่องติดตั้งที่หอพักผู้ป่วยโรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิและจะขยายไปยังโรงพยาบาลในเครืออีก 3 จังหวัดสะท้อนการใช้ทรัพยากรให้เกิดประโยชน์สูงสุดตามหลักการเศรษฐกิจหมุนเวียนและพร้อมขับเคลื่อนประเทศไทยสู่สังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรม
นพ.กฤตวิทย์ เลิศอุตสาหกูล กรรมการผู้จัดการ บริษัท พริ้นซิเพิล แคปิตอลจำกัด มหาชน (PRINC)เปิดเผยว่า PRINC มุ่งเป็นต้นแบบโมเดลการบริหารจัดการโรงพยาบาลอย่างยั่งยืน (sustainable hospital) จึงให้ความสำคัญกับการบริหารจัดการ ‘ขยะทางการแพทย์’ซึ่งถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นหนึ่งในขยะทางการแพทย์ที่มีจำนวนมากและเป็นประเภทขยะพลาสติกที่ไม่ได้สัมผัสกับผู้ป่วยหากมีการบริหารจัดการขยะที่ดีและถูกต้องจะทำให้ขยะดังกล่าวไม่กลายเป็นขยะติดเชื้อประกอบกับปัจจุบันคนไทยป่วยเป็นโรคไตเรื้อรัง 8 ล้านคนและมีแนวโน้มมากขึ้นทุกปี โดยมีผู้ป่วยมากกว่า 25,000 คนจำเป็นต้องรักษาด้วยวิธีการล้างไตทางช่องท้อง ซึ่งผู้ป่วย 1 คนใช้น้ำยาล้างไตประมาณ 1,460 ถุงต่อปี คิดเป็นขยะทางการแพทย์ถึง 145 ตันต่อเดือน หรือ 1,740 ตันต่อปี ในฐานะที่ PRINC เป็นผู้ดำเนินธุรกิจบริหารจัดการโรงพยาบาลเอกชนและธุรกิจสุขภาพที่มีนโยบายในการส่งเสริมการดำเนินงานอย่างยั่งยืนการสนับสนุนกระเบื้องพีวีซีรักษ์โลกโดยความร่วมมือกับ SCGC ผู้เชี่ยวชาญด้านพอลิเมอร์ที่เป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมส่งผลให้พัฒนากระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลออกมาได้สำเร็จ สามารถใช้งานได้จริงสอดคล้องกับนโยบายเศรษฐกิจหมุนเวียน (circular economy) ของ PRINC อย่างแท้จริง
ชาตรี เอี่ยมโสภณา ประธานเจ้าหน้าที่สายงานพาณิชย์ เอสซีจี เคมิคอลส์ (SCGC)กล่าวว่า ถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นพลาสติกชนิดพีวีซีนับเป็นขยะทางการแพทย์ที่มีปริมาณเพิ่มสูงขึ้นทุกปี อย่างไรก็ตามหากมีการจัดการแบบ Closed – Loop โดยเก็บกลับเข้าสู่ระบบอย่างถูกวิธีและใช้กระบวนการรีไซเคิลขั้นสูงจะสามารถเปลี่ยนเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ที่สร้างคุณประโยชน์ได้อีกมากสอดคล้องกับหลักเศรษฐกิจหมุนเวียนโดย SCGC ได้นำความเชี่ยวชาญด้านเทคโนโลยีรีไซเคิลพร้อมทั้งโซลูชันด้าน Green Polymer เปลี่ยนถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นเม็ดพลาสติกพีวีซีรีไซเคิลคุณภาพสูงด้วยเทคโนโลยีรีไซเคิลจาก SCGC โดยยังคงประสิทธิภาพและคุณสมบัติได้เช่นเดิมปลอดภัยในการใช้งาน สามารถผลิตเป็นกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลถือเป็นครั้งแรกในประเทศไทย โดยใช้ทดแทนพีวีซีได้ถึง 80% ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจก สู่วิถีสังคมคาร์บอนต่ำอย่างเป็นรูปธรรมตามแนวทาง Low Waste, Low Carbon เพื่อโลกที่ยั่งยืน โดยเบื้องต้นได้นำร่องรีไซเคิลถุงน้ำยาล้างไตใช้แล้วเป็นจำนวน 5,320 ถุงคิดเป็นขยะพลาสติกพีวีซี 800 กิโลกรัม ช่วยลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกกว่า 1,110 กิโลกรัมคาร์บอนไดออกไซด์ หรือเทียบเท่ากับการปลูกต้นไม้ 120 ต้น
พอล อุทัยชลานนท์ ผู้จัดการใหญ่ประจำประเทศ ไทย มาเลเซีย เวียดนาม บริษัทแบ็กซ์เตอร์ เฮลธ์แคร์ (ประเทศไทย) จำกัดกล่าวว่า ที่แบ็กซ์เตอร์เรามีความมุ่งมั่นในการดำเนินธุรกิจเพื่อการมีชีวิตอย่างยั่งยืนของผู้ป่วยสังคม และชุมชนซึ่งเราตระหนักดีถึงปัญหาสิ่งแวดล้อมจากขยะถุงน้ำยาล้างไตที่เพิ่มจำนวนมากขึ้นทุกปีแบ็กซ์เตอร์ในฐานะผู้นำในธุรกิจนี้ เราพร้อมให้ความร่วมมือกับภาคส่วนต่าง ๆเพื่อลดปริมาณขยะจากถุงน้ำยาล้างไต สำหรับโครงการฯนี้เราเน้นไปที่การประชาสัมพันธ์ให้ความรู้แก่ผู้ป่วยเกี่ยวกับวิธีการทำความสะอาดถุงน้ำยาล้างไตอย่างถูกต้องก่อนทิ้งตามแนวทางจากกรมอนามัยเพื่อนำขยะถุงน้ำยาล้างไตกลับมาแปรรูปเป็นผลิตภัณฑ์ใหม่ได้โดยเราเชื่อมั่นว่าความร่วมมือจากทุกภาคส่วนจะเป็นพลังสำคัญในการลดปริมาณขยะถุงน้ำยาล้างไตและสร้างสังคมที่ยั่งยืน
กนิษฐ์ สารสิน กรรมการผู้จัดการ บริษัท ผลิตอุปกรณ์ก่อสร้าง จำกัด (Dynoflex) กล่าวว่า Dynoflexมีความมุ่งมั่นในการพัฒนาผลิตภัณฑ์และกระบวนการผลิตเพื่อเพิ่มความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อมมาโดยตลอด เช่นการเข้าร่วมโครงการฉลากลดคาร์บอน (carbon reduction label) โครงการฉลากเขียว (green label) ของสถาบันสิ่งแวดล้อมไทยโครงการอุตสาหกรรมสีเขียว (green industry) ของกระทรวงอุตสาหกรรมและการจัดหาพลังงานทางเลือกมาใช้ในกระบวนการผลิตโครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตเป็นอีกโอกาสหนึ่งที่บริษัทได้ใช้เทคโนโลยี องค์ความรู้และประสบการณ์ในการร่วมพัฒนาผลิตภัณฑ์ที่สามารถนำขยะทางการแพทย์หมุนเวียนกลับมาใช้ประโยชน์โดยสามารถลดการใช้ทรัพยากรลงแต่ยังคงคุณลักษณะทางด้านคุณภาพตามมาตรฐานสากล เช่น ISO (International Standardization Organization) JIS (Japanese Industrial Standard ) หรือ ASTM (American Society for Testing and Material) เช่นเดิม
สำหรับโครงการกระเบื้องพีวีซีรีไซเคิลจากถุงน้ำยาล้างไตดังกล่าวมีแผนติดตั้งในพื้นที่อาคารปรับปรุงใหม่ของโรงพยาบาลในเครือ PRINC ทั้งหมด 4 แห่ง ได้แก่ โรงพยาบาลพริ้นซ์ สุวรรณภูมิโรงพยาบาลรวมแพทย์ พิษณุโลกโรงพยาบาลพริ้นซ์ ศรีสะเกษ และโรงพยาบาลพริ้นซ์ มุกดาหารคิดเป็นพื้นที่ติดตั้งทั้งหมด กว่า 9,000 ตารางเมตร