สำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.)ลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.มุกดาหาร เดินหน้าสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภคและปัญหาคุณภาพน้ำ พร้อมประสานหน่วยงานให้ความรู้ในการซ่อมแซมระบบประปาหมู่บ้านและการปรับปรุงคุณภาพน้ำให้ได้มาตรฐาน เพื่อมีน้ำสะอาดใช้ในทุกครัวเรือน ตามเป้าหมายแผนแม่บทฯน้ำ 20 ปี
ดร.สุรสีห์ กิตติมณฑล เลขาธิการสำนักงานทรัพยากรแห่งชาติ (สทนช.) เปิดเผยภายหลังการลงพื้นที่ จ.อำนาจเจริญ และ จ.มุกดาหาร ในระหว่างวันที่ 8-9 ม.ค. 67 เพื่อติดตามสถานการณ์น้ำและพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำ ตามมาตรการรองรับฤดูแล้ง ปี 2566/2567 ร่วมกับผู้แทนหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในพื้นที่ อาทิ กระทรวงมหาดไทย องค์กรปกครองส่วนท้องถิ่น กรมทรัพยากรน้ำ กรมทรัพยากรน้ำบาดาล กรมชลประทาน การประปาส่วนภูมิภาค และกรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย เป็นต้น ว่า การลงพื้นที่ในครั้งนี้ สืบเนื่องจากข้อห่วงใยของรองนายกรัฐมนตรี (นายสมศักดิ์ เทพสุทิน) ต่อสถานการณ์เอลนีโญที่ส่งผลกระทบในเรื่องปัญหาการขาดแคลนน้ำโดยเฉพาะน้ำเพื่อการอุปโภคบริโภค ซึ่ง สทนช. ได้บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการเร่งสำรวจพื้นที่เสี่ยงขาดแคลนน้ำอย่างต่อเนื่อง เพื่อดำเนินการในเชิงป้องกันและลดกระทบจากภัยแล้ง โดย สทนช.จะคอยติดตามสถานการณ์อย่างใกล้ชิดและเป็นหน่วยงานประสานทั้งนี้ ในการลงพื้นที่ติดตามสถานการณ์ภัยแล้งทั้ง 5 ตำบลของทั้ง 2 จังหวัด พบว่า บางพื้นที่กำลังจะขาดแคลนน้ำในช่วงเดือน ม.ค.นี้ และในบางพื้นที่คาดจะมีน้ำใช้เพียงพอแค่ 1-2 เดือน สาเหตุส่วนใหญ่เกิดจากอ่างเก็บน้ำอยู่ห่างไกลชุมชน อีกทั้งแหล่งน้ำขนาดเล็กในชุมชนมีปริมาณน้ำไม่เพียงพอในการผลิตน้ำประปาของระบบประปาหมู่บ้านในช่วงแล้ง และปัญหาคุณภาพน้ำที่ไม่ได้มาตรฐาน บางแห่งเป็นน้ำเค็มและบางแห่งน้ำมีลักษณะขุ่น ไม่สามารถนำมาใช้ดื่มกินหรือซักผ้าได้ ต้องใช้สารส้มแกว่งตะกอนเพื่อทำให้น้ำใส ซึ่งไม่ทันต่อความต้องการใช้น้ำของแต่ละครัวเรือน นอกจากนี้ยังพบระบบประปาหมู่บ้านชำรุดเสื่อมโทรม เนื่องจากผู้ดูแลขาดความรู้ในการซ่อมแซมและบำรุงรักษาที่ถูกต้อง
“สทนช. ได้หารือกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง โดยเฉพาะกรมทรัพยากรน้ำบาดาล ในการเตรียมสำรวจพื้นที่ที่เหมาะสมในการดำเนินการขุดเจาะแหล่งน้ำบาดาลเพิ่มเติม เพื่อเพิ่มแหล่งกระจายน้ำให้กับประชาชนในพื้นที่ ส่วนการประปาส่วนภูมิภาค อาสาเป็นพี่เลี้ยงในการแนะนำให้ความรู้ในกระบวนการผลิตน้ำประปาที่มีประสิทธิภาพและการควบคุมคุณภาพน้ำที่ได้มาตรฐาน ด้านกรมทรัพยากรน้ำ กรมป้องกันและบรรเทาสาธารณภัย และกรมชลประทาน ได้เตรียมพร้อมเครื่องจักรเครื่องมือในการสนับสนุนรถบรรทุกน้ำและการสูบน้ำจากหนองน้ำธรรมชาติ เพื่อแจกจ่ายให้ประชาชนที่ขาดแคลนน้ำได้ทันท่วงที นอกจากนี้ ยังได้กำชับให้ท้องถิ่น พิจารณาแผนงาน/โครงการที่มีความพร้อมและเหมาะสมเพื่อขอสนับสนุนงบประมาณทั้งระยะกลางและระยะยาวต่อไป ในส่วนการแก้ไขปัญหาการปนเปื้อนคุณภาพน้ำในระยะยาว สทนช. เตรียมประสานหน่วยงานด้านการวิจัยเพื่อนำเทคโนโลยีมาใช้ในการแก้ปัญหาสารปนเปื้อนในน้ำอุปโภคบริโภคด้วย เพื่อให้ประชาชนมีน้ำสะอาดใช้ในทุกครัวเรือน ตามเป้าหมายของแผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค ภายใต้แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และสอดคล้องกับการขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) สร้างหลักประกันเรื่องน้ำและการสุขาภิบาลให้มีการจัดการอย่างยั่งยืนและมีสภาพพร้อมใช้สำหรับทุกคนด้วย” เลขาธิการ สทนช. กล่าว
สำหรับแผนขับเคลื่อนน้ำสะอาดเพื่อการอุปโภคบริโภค (พ.ศ. 2566–2580) เป็นแผนที่จัดทำขึ้นภายใต้เป้าหมาย ยุทธศาสตร์ชาติ 20 ปี แผนแม่บทภายใต้ยุทธศาสตร์ชาติ แผนแม่บทการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำ 20 ปี และสอดคล้องกับ การขับเคลื่อนตามเป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืน เป้าหมายที่ 6 (SDG 6) ที่องค์การอาหารและการเกษตรแห่งสหประชาชาติ (FAO) ได้กำหนดไว้เป็นตัวชี้วัดเพื่อขับเคลื่อนการดำเนินการด้านน้ำให้มีความยั่งยืนและครอบคลุมทุกมิติมากขึ้น สู่เป้าหมายการพัฒนาที่ยั่งยืนของประเทศไทย โดย สทนช. เป็นเจ้าภาพหลัก บูรณาการร่วมกับหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ประกอบด้วย 4 กลยุทธ์สำคัญ ได้แก่ 1.บำรุงรักษาและซ่อมแซมระบบประปา 2.การพัฒนา ขยายเขตระบบประปา เพิ่มประสิทธิภาพประปา และเพิ่มปริมาณน้ำต้นทุน 3.ติดตาม ตรวจสอบคุณภาพน้ำอุปโภคบริโภคให้ได้มาตรฐาน และ 4.การบริหารจัดการ