นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ เป็นประธานและสักขีพยานในการลงนามบันทึกข้อตกลงความร่วมมือ เรื่อง การคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กที่มีอายุก่อนถึงเกณฑ์การรับโทษทางอาญา ระหว่างกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ (พม.) สำนักงานอัยการสูงสุด สำนักงานตำรวจแห่งชาติ ศาลเยาวชนและครอบครัวกลาง กระทรวงยุติธรรม กระทรวงศึกษาธิการ และกระทรวงสาธารณสุข เป็นการแสดงเจตนารมณ์ร่วมกันในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็ก ทั้งในด้านกระบวนการยุติธรรมและการบำบัดฟื้นฟูเยียวยา ซึ่งเป็นการบูรณาการภารกิจของทุกหน่วยงานอย่างต่อเนื่อง ทั้งด้านการปฏิบัติงานและระบบสนับสนุน โดยไม่มีเด็กที่ตกหล่นจากการคุ้มครองสวัสดิภาพตามกฎหมาย ซึ่งมีการบูรณาการแนวทางการทำงานร่วมกันระหว่างหน่วยงาน ในการกำหนดวิธีการปฏิบัติต่อเด็กที่มีอายุก่อนถึงเกณฑ์การรับโทษทางอาญา ซึ่งภายหลังการลงนามจะมีดำเนินการจัดทำแนวปฏิบัติ (SOP) ที่เป็นมาตรฐาน เพื่อให้หน่วยงานที่เกี่ยวข้องสามารถใช้เป็นเครื่องมือในการคุ้มครองสวัสดิภาพเด็กต่อไป
นายวราวุธ ศิลปอาชา รัฐมนตรีว่าการกระทรวงการพัฒนาสังคมและความมั่นคงของมนุษย์ กล่าวว่า การลงนามบันทึกข้อตกลงวันนี้ของทั้ง 7 หน่วยงาน โดยทางกระทรวง พม. เป็นเจ้าภาพ ซึ่งสิ่งที่ตามมา คือ จะมีการทำคู่มือการปฏิบัติงานที่เป็นมาตรฐานเหมือนกันให้กับทุกๆ หน่วยงาน เพราะการดูแลเด็กที่อายุยังไม่ถึงเกณฑ์นั้น เป็นความละเอียดอ่อนอย่างยิ่ง ที่ทุกๆ หน่วยงาน ทั้งสำนักงานตำรวจแห่งชาติ ฝ่ายกระบวนการยุติธรรม และกระทรวง พม. และทุกๆ ฝ่ายนั้น ตามที่เรามีมาตรฐานการทำงานที่เหมือนกัน จะช่วยให้เด็กที่ข้ามเส้นไปกระทำความผิดแล้ว ได้มีโอกาสได้รับการคุ้มครอง
การให้ความคุ้มครองและการปกป้องสิทธิของเด็กนั้น ไม่ได้แปลว่าเข้าข้างเด็ก แต่ในวันนี้ สังคมมีกระแสต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย เวลาบางครั้งเด็กเป็นผู้กระทำความผิด หรือเป็นผู้ที่ได้รับผลกระทบ จะมีแนวความคิดต่างๆ เกิดขึ้นมากมาย แต่ขอย้ำว่าสิ่งที่เรากำลังดำเนินการในวันนี้ ไม่ได้เป็นการเข้าข้าง ไม่ได้เป็นการเห็นอกเห็นใจ แต่เป็นการปกป้องสิทธิของเด็ก และเป็นการดูแลเด็ก และเราต้องทำให้เด็กเหล่านั้นอยู่ในสภาวะที่ปลอดภัยจากสิ่งแวดล้อมที่เป็นพิษ และให้โอกาสเด็กๆ เหล่านั้นได้เติบโตขึ้นมาเป็นทรัพยากรมนุษย์ที่สำคัญของสังคมไทย ดังนั้น ภายใน 30 – 60 วันหลังจากนี้ จะได้เห็นมาตรฐานการทำงานที่ตรงกันของทุกๆ หน่วยงานที่มาลงนาม MOU ในวันนี้
ทั้ง 7 หน่วยงานที่มาลงนาม MOU จะมีมาตรฐานการทำงานที่เหมือนกัน เพราะประเทศไทยของเรานั้น เป็นหนึ่งในประเทศที่อยู่ภายใต้สนธิสัญญาคุ้มครองสิทธิเด็ก ดังนั้น มาตรฐานการทำงานของประเทศไทยจะไม่ต่างกับมาตรฐานของนานาอารยประเทศในเรื่องการดูแลเด็ก ซึ่งแน่นอนว่ามีทั้งแนวคิดและแนวทางหลากหลายที่สังคมได้รับความกระทบกระเทือนทางด้านจิตใจ แต่ขอฝากไว้ว่าไม่มีเด็กคนไหนที่เติบโตขึ้นมาแล้วตั้งใจอยากจะเป็นคนไม่ดี อยากจะไปก่อเหตุต่างๆ เนื่องจากบางครั้งพวกเขาอยู่ในสภาพแวดล้อมที่ก่อให้เกิดความเสี่ยงในการดำรงชีวิต ดังนั้น การเติบโตขึ้นมาจึงมีความจำเป็นอย่างยิ่งที่ทางหน่วยงานที่มาร่วมกัน MOU จะเป็นส่วนหนึ่งและเป็นกลไกในการดึงเด็กเหล่านั้นออกมาจากสภาพแวดล้อมที่จะเป็นภัยต่อตัวเด็กได้
กรณีที่หากเกิดเหตุกระทบต่อเด็กแล้วส่งผลกระทบต่อภาคสังคมอย่างรุนแรง เช่น กรณีที่ตำรวจจับเดนคุกที่ก่อเหตุกระทำชำเราต่อเนื่อง เด็กที่ใส่ชุดเครื่องแบบนักเรียน ซึ่งเรื่องดังกล่าวถือเป็นบริบทที่ทุกหน่วยงานที่เกี่ยวข้อง ไม่ว่าจะเป็นสำนักงานตำรวจแห่งชาติ และเจ้าหน้าที่ฝ่ายความมั่นคง ต้องเร่งดำเนินการดูแล ทั้งเรื่องความปลอดภัยของเด็กและเยาวชน และเร่งดำเนินคดีต่อผู้ก่อเหตุ