มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) จัดพิธีส่งมอบ “ยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ” ให้แก่การการไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.) เพื่อนำไปใช้ในการตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำในจุดเฝ้าระวังและเสี่ยงของ กฟผ. ที่เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี
ดร.สมฤกษ์ จันทรอัมพร รองอธิการบดีฝ่ายวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยีสารสนเทศ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) กล่าวว่า การวิจัยและพัฒนา “ยานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำ” ซึ่งได้รับการว่าจ้างจากทาง กฟผ. เป็นจำนวนเงินประมาณ 9,987,951.18 บาท เพื่อนำมาใช้ในการคิดค้น วิจัย สร้างยานต้นแบบสำหรับใช้สำรวจใต้น้ำโดยไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำบริเวณจุดเสี่ยง จุดที่นักประดาน้ำคนทั่วไปไม่สามารถที่จะดำน้ำลงไปแก้ไข้เหตุหรือปัญหาที่เกิดฉุกเฉินได้ทันถ่วงที ป้องกันเหตุที่จะเกิดขึ้นได้
ผศ. ดร.รามิลเกศวรกุล อาจารย์ประจำภาควิชาวิศวกรรมการผลิตและหุ่นยนต์ คณะวิศวกรรมศาสตร์ มหาวิทยาลัยเทคโนโลยีพระจอมเกล้าพระนครเหนือ (มจพ.) และหัวหน้าโครงการวิจัยพัฒนายานใต้น้ำไร้คนขับเพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำกล่าวว่า สำหรับการออกแบบ และสร้างยานใต้น้ำที่สามารถตรวจสอบสภาพทุ่นลอยน้ำ และทุ่นใต้น้ำของแผงผลิตไฟฟ้าได้ อีกทั้งยังมีการประยุกต์ใช้เทคโนโลยีการประมวลผลภาพประเภทตัวกรองสัญญาณ เพื่อใช้ในการตรวจสอบ และประเมินความเสียหายเบื้องต้นได้ จากผลการวิจัยพบว่ารูปแบบการวางชุดขับดันแบบตัดขวางทแยงมุมกัน สามารถทำให้ยานเคลื่อนที่ได้อย่างอิสระ อีกทั้งยานใต้น้ำไร้คนขับสามารถสำรวจในน้ำที่มีความลึกไม่น้อยกว่า 25 เมตร ระยะทางในการสำรวจสูงสุดแบบมีสายสัญญาณที่ 250 เมตร และระยะทางในการสำรวจสูงสุดแบบไร้สายสัญญาณที่ 500 เมตร ยานใต้น้ำไร้คนขับ ติดตั้งระบบกำหนดตำแหน่งบนโลก และระบบตรวจจับระยะด้วยเสียงรอบทิศทางแบบเชิงกล สามารถทำการขับเคลื่อนระยะไกล และถ่ายทอดภาพขณะปฏิบัติงานใต้น้ำแบบใช้สายสัญญาณได้โดยมีระบบไฟส่องสว่างใต้น้ำ พร้อมทั้งทดสอบระบบการทำงานแบบไร้สายสัญญาณใต้ของยานใต้น้ำ
โดยมีคณะทีมงานวิจัยประกอบด้วย ผู้ช่วยศาสตราจารย์ เจนจิรา สุขมณี มจพ. นาวาโทศราวุธ ศรีนาแก้ว สังกัดโรงเรียนนายเรือ เบื้องต้นยานใต้น้ำไร้นี้จะนำไปปฏิบัติงานที่โรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์แบบทุ่นลอยน้ำ ณ เขื่อนสิรินธร จังหวัดอุบลราชธานี เพื่อตรวจสอบสภาพแวดล้อมภายในเขื่อนศรีนครินทร์ว่ามีจุดบริเวณใดที่ควรซ่อมบำรุง หรือเกิดความเสี่ยงจากกระแสน้ำภายในเขื่อนป้องกันอันตรายที่เกิดจากการปฏิบัติงานด้วยมนุษย์ โดยผลงานวิจัยชิ้นนี้สามารถลดการนำเข้ายานใต้น้ำจากต่างประเทศ และสามารถพัฒนาในเชิงพาณิชย์ต่อไปได้
ประเวทย์ เกิดวัดท่า ผู้อำนวยการฝ่ายบำรุงรักษาเครื่องกล การไฟฟ้าฝ่ายผลิตแห่งประเทศไทย (กฟผ.)กล่าวว่า จุดเสี่ยงภายในเขื่อนสิรินธรที่จะนำยานใต้น้ำไร้คนขับไปใช้เพื่อตรวจสอบแผงผลิตไฟฟ้าลอยน้ำมีในหลายๆจุดเสี่ยงที่เจ้าหน้าที่ปฏิบัติงาน นักประดาน้ำไม่สามารถที่จะดำน้ำลงไปได้ เนื่องจากบางเวลากระแสน้ำค่อนข้างที่จะไหลเชี่ยวและแรง อาจจะทำให้นักประดาน้ำประสบอุบัติเหตุทางน้ำได้ แต่เมื่อมียานใต้น้ำไร้คนขับนี้ปฏิบัติงานร่วมกับเจ้าหน้าที่ของ กฟผ.จะช่วยลดความเสี่ยงในการทำงาน ลดเวลาและลดอุบัติเหตุที่ไม่คาดคิดได้