อีซูซุมอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น และ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด แถลงนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนในระดับโลกและระดับประเทศ ผ่าน “โซลูชั่นอันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” พัฒนาพลังงานสะอาดรูปแบบใหม่ รวมถึงระบบการจัดการและกิจกรรมด้านสิ่งแวดล้อมการประกาศนโยบายครั้งนี้ ไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ หรือรถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน แต่ยังรวมถึงพลังงานอื่นๆ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอนกับเครื่องยนต์สันดาปภายในอีกด้วยโดย “รถกระบะไฟฟ้าอีซูซุ หรือ Isuzu D-Max EV ผลิตที่ไทย พร้อมส่งออกปี 68 ไปนอร์เวย์ที่แรก ตามด้วยอังกฤษ ออสเตรเลีย และไทย ชูจุดเด่นใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง 2 ตัว แรงบิดรวมกัน 325 นิวตัน-เมตร มอเตอร์ไฟฟ้าคู่กำลังสูง
มร. ทาคาชิ โอไดระ กรรมการผู้จัดการ และรองประธานบริหารรับผิดชอบด้านวิศวกรรม และกลยุทธ์ความเป็นกลางทางคาร์บอน บริษัท อีซูซุมอเตอร์ ประเทศญี่ปุ่น กล่าวว่า อีซูซุได้ประกาศเป้าหมายว่าจะ “สร้างเสริมการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ของโลก” (Creating the Movement of the Earth) เมื่อเดือนพฤษภาคมปีที่แล้ว โดยตระหนักว่าอุตสาหกรรมยานยนต์โลกอยู่ในยุคการเปลี่ยนผ่านในรอบศตวรรษ รถเพื่อการพาณิชย์ก็ต้องเร่งพัฒนาด้วยเช่นกัน เรากำลังเผชิญกับความท้าทายทางสังคมที่ต้องเอาชนะ และเพิ่มการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ สำหรับผู้คนและสินค้าทั้งหมดในโลก อาทิ ความจำเป็นเร่งด่วนที่ต้องบรรลุเป้าหมายสังคมความเป็นกลางทางคาร์บอน ความสูญเสียจากอุบัติเหตุจราจรเป็นศูนย์ การจัดการปัญหาการขาดแคลนแรงงาน และการปรับปรุงประสิทธิภาพการผลิต
อีซูซุมุ่งมั่นที่จะส่งมอบความมั่นใจและความอุ่นใจให้กับลูกค้าของเรามาโดยตลอด ด้วยการนำเสนอรถยนต์ไฟฟ้าประเภทต่างๆ และรถเครื่องยนต์ดีเซลหลากชนิด ที่มาพร้อมกับเทคโนโลยีความปลอดภัยขั้นสูง การให้บริการการบริหารจัดการระบบปฏิบัติการ และบริการหลังการขายต่างๆ ที่ถือเป็นคุณค่าผลิตภัณฑ์ ซึ่งเราได้นิยาม “คุณค่าผลิตภัณฑ์” ไว้ 3 ประการ ความเป็นมิตรกับสิ่งแวดล้อม (Environmental Friendliness), ความเป็นมิตรกับผู้ใช้รถ (User Friendliness), ความน่าเชื่อถือและความต่อเนื่องในการดำเนินงาน (Reliable and Continuous Operation)
สำหรับประเทศไทย เราวางแผนที่จะผลิตรถปิกอัพไฟฟ้าเพื่อส่งออกซึ่งจะเริ่มจากประเทศในโซนยุโรปในปี 2568 และจะทยอยเปิดตัวในประเทศอื่นๆ ตามกฎระเบียบและความคืบหน้าด้านความเป็นกลางทางคาร์บอนของแต่ละประเทศ
อีซูซุจะใช้เงินลงทุนทั้งสิ้น 1 ล้านล้านเยน หรือประมาณ 240,000 ล้านบาท ในด้านการวิจัยและพัฒนาภายในปีงบประมาณ 2573 เพื่อดำเนินการเรื่องการปฏิรูปทางดิจิทัลเกี่ยวกับความเป็นการทางคาร์บอนและโลจิสติกส์ (CN and logistics DX) อีกทั้งการสร้างศูนย์พัฒนาและทดสอบยานยนต์ไฟฟ้า ภายใต้ชื่อ “The EARTH Lab” ภายในปี 2569
เรามั่นใจว่าการเสริมความแข็งแกร่งให้กับธุรกิจปัจจุบัน และการลงทุนเชิงรุกในครั้งนี้จะรักษาความเป็นผู้นำตลาดไว้ได้อย่างมั่นคงในระยะสั้นถึงระยะกลาง และจะเป็นการเสริมสร้างรากฐานสำหรับการเติบโตที่ยั่งยืนในระยะยาวของเรา อีซูซุจะมีส่วนร่วมในการแก้ไขปัญหาต่างๆ ของโลกโดย “สร้างเสริมการขับเคลื่อนอย่างสร้างสรรค์ของโลก” ด้วยจุดแข็งของเราและก้าวไปข้างหน้าอย่างต่อเนื่องเพื่อบรรลุความเป็นกลางทางคาร์บอน
สำหรับนโยบายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอนของอีซูซุในประเทศไทย มร. ทาคาชิ ฮาตะ กรรมการผู้จัดการ บริษัท ตรีเพชรอีซูซุเซลส์ จำกัด ชี้แจงว่า ปัจจุบันประเทศไทยเป็นฐานการผลิตยานยนต์ที่สำคัญของโลก มีการผลิตรถยนต์ต่อปีมากถึง 1.8 – 1.9 ล้านคัน สูงที่สุดในอาเซียน และเป็นอันดับ 10 ของโลก ซึ่งเป็นการผลิตเพื่อจำหน่ายในประเทศ และการผลิตเพื่อส่งออกไปยังประเทศต่างๆ ทั่วโลก โดยเป็นรถยนต์เครื่องยนต์สันดาปภายใน (Internal Combustion Engines : ICE) เกือบทั้งหมด ในปี 2566 มีมูลค่าการส่งออกสูงถึง 9.73 แสนล้านบาท ซึ่งรถปิกอัพและอนุพันธ์ในฐานะ “โปรดักส์แชมเปี้ยน” เป็นรถที่ส่งออกมากที่สุดถึง 786,383 คัน คิดเป็น 70% จากรถทุกประเภท
นับจากนี้ไป อีซูซุในฐานะผู้นำรถเพื่อการพาณิชย์ของประเทศไทยพร้อมเดินหน้าสนับสนุนนโยบายรัฐบาลไทยในการมุ่งสู่สังคมที่เป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutrality Society) ในปี 2593 และการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ (Net Zero) ภายในปี 2608 ตลอดจนสนับสนุนเป้าหมายของประเทศไทยในการเป็นศูนย์กลางการผลิตยานยนต์ไฟฟ้าของภูมิภาคอาเซียน ด้วยแนวคิด “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality)
การนำเสนอผลิตภัณฑ์เพื่อตอบสนองความต้องการของผู้บริโภคที่ซับซ้อน และแตกต่างจากรถยนต์นั่ง ซึ่งเราต้องพิจารณาถึงการใช้งานเชิงพาณิชย์และส่วนตัว เราจึงพัฒนารถที่มี “โซลูชั่นส์อันหลากหลายสู่ความเป็นกลางทางคาร์บอน” (Multi-pathways to Carbon Neutrality) ไม่ใช่เพียงแต่รถไฟฟ้าแบตเตอรี่ (BEV) หรือรถไฟฟ้าเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (FCEV) เท่านั้น แต่หมายรวมถึงพลังงานอื่นๆ เช่น การใช้น้ำมันเชื้อเพลิงที่มีความเป็นกลางทางคาร์บอน (Carbon Neutral Fuel) กับเครื่องยนต์สันดาปภายใน อาทิ น้ำมันไบโอดีเซลเจนเนอเรชั่นใหม่จากพืชใช้แล้ว (HVO – Hydrotreated Vegetable Oil) และ น้ำมันเชื้อเพลิงสังเคราะห์ (e-Fuel) เพื่อประโยชน์สูงสุดของผู้ใช้รถอีซูซุด้วย
ซึ่งในงานนี้ Isuzu เตรียมนำรถมาจัดแสดงถึง 4 รุ่น คือ
รถปิกอัพไฟฟ้าต้นแบบ “อีซูซุ ดีแมคซ์” (Isuzu D-Max EV Concept) ซึ่งเป็นรถปิกอัพ 4 ประตู ระบบขับเคลื่อน 4 ล้อแบบ Full Time โดยใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับรถปิกอัพเครื่องยนต์ดีเซล ชุดมอเตอร์คู่และเฟืองท้ายภายใต้ “eAxle” ที่พัฒนาขึ้นใหม่ ทำงานร่วมกันทั้งด้านหน้าและด้านหลัง ผสานกับช่วงล่างด้านหลังใหม่หมดแบบ De-Dion มั่นใจบนทุกสภาพถนน เหมาะสมกับการใช้งานของรถปิกอัพ สร้างดุลยภาพในการขับขี่ทั้งความนุ่มนวล และความสามารถในการบรรทุกอันยอดเยี่ยม จุดเด่นคือ ใช้มอเตอร์ไฟฟ้ากำลังสูง 2 ตัว แรงบิดรวมกัน 325 นิวตัน-เมตร มอเตอร์ไฟฟ้าคู่กำลังสูง การออกแบบโครงและตัวถังที่แข็งแกร่งช่วยเพิ่มความสามารถในการลากจูงได้ มีแผนจะเริ่มผลิตเพื่อส่งออกอย่างเป็นทางการจากฐานการผลิตประเทศไทยในปี 2568 เนื่องจากวิธีการใช้งานของลูกค้าแตกต่างกัน รถปิกอัพไฟฟ้าต้นแบบ “อีซูซุ ดีแมคซ์” จึงเป็นอีกหนึ่งทางเลือกสำหรับลูกค้าผู้ใช้รถ จะเปิดตัวในประเทศภาคพื้นทวีปยุโรปบางประเทศ เช่น นอร์เวย์ ในปี 2568 จากนั้นมีกำหนดการจะเปิดตัวในสหราชอาณาจักร ออสเตรเลีย ไทย ตลอดจนประเทศหรือภูมิภาคอื่นๆ เป็นลำดับถัดไป ขึ้นอยู่กับความต้องการของตลาดและความพร้อมของสาธารณูปโภคด้านสถานีชาร์จรถไฟฟ้า
รถปิกอัพ “อีซูซุ ดีแมคซ์ไฮ-แลนเดอร์MHEV” 4 ประตู ซึ่งเป็นระบบการทำงานร่วมกันระหว่างเครื่องยนต์ดีเซลเทอร์โบ กับมอเตอร์ไฟฟ้าขนาดเล็ก โดยการติดตั้งแบตเตอรี่ 48 โวลต์ ทำหน้าที่เสริมกำลังขับเคลื่อนให้กับเครื่องยนต์ 1.9 Ddi Blue Power เพื่อลดภาระการทำงานของเครื่องยนต์ในช่วงออกตัว รวมถึงช่วยลดการสั่นสะเทือนในจังหวะสตาร์ทเครื่องยนต์และช่วยลด CO2 ซึ่ง “อีซูซุ ดีแมคซ์ไฮ-แลนเดอร์MHEV” คันนี้เป็นรถทดลองประกอบเพื่อเป็นหนึ่งในทางเลือกให้กับลูกค้าในการลด CO2 โดยรถประเภทนี้อาจจะเหมาะกับความต้องการของลูกค้าบางกลุ่ม ซึ่งเราอยู่ในระหว่างการสำรวจตลาดก่อนกำหนดแผนการจำหน่ายต่อไป
รถบรรทุกไฟฟ้า “อีซูซุเอลฟ์ อีวี” (Isuzu Elf EV) พัฒนาขึ้นภายใต้แนวคิด “Isuzu Modular Architecture and Component Standard : I-MACS” สำหรับรถบรรทุกขนาดกลางและขนาดใหญ่ในรูปแบบต่างๆ ได้อย่างมีประสิทธิภาพ พร้อมการออกแบบ “Center Drive System EV” ซึ่งเป็นการออกแบบรถบรรทุกไฟฟ้าโดยเฉพาะ เนื่องจากต้องคำนึงถึงความสมดุลของการกระจายน้ำหนักรถ ระยะช่วงล้อหลัง และรัศมีวงเลี้ยวที่เหมาะสม เหมาะกับการใช้งานบรรทุกเบา วิ่งระยะสั้น อาศัยความคล่องตัว โดยใช้แพลตฟอร์มเดียวกันกับรถบรรทุกเครื่องยนต์ดีเซล ซึ่งได้เปิดตัวครั้งแรกในโลกที่ประเทศญี่ปุ่นเมื่อมีนาคม 2566 ในขณะเดียวกันเรากำลังพัฒนาเทคโนโลยีการสับเปลี่ยนแบตเตอรี่ (Battery Swapping System) ในระยะเวลาอันสั้นเพื่อลดระยะเวลาในการจอดเพื่อชาร์จแบตเตอรี่ อีกทั้งยังสามารถเลือกแบตเตอรี่ได้ตั้งแต่จำนวน 2 – 5 ก้อน เพื่อให้เหมาะกับระยะทางการขนส่ง
รถบรรทุกไฟฟ้าขนาดกลางเซลล์เชื้อเพลิงไฮโดรเจน (Isuzu Elf FCEV) การพัฒนาร่วมกันระหว่างพันธมิตรทางธุรกิจ ภายใต้โครงการ Commercial Japan Partnership Technologies Corporation (CJPT) เหมาะกับการใช้งานบรรทุกหนัก สามารถเติมเชื้อเพลิงได้รวดเร็ว และไม่ก่อให้เกิดมลพิษ เป็นการเพิ่มตัวเลือกรถบรรทุกในตลาด ตอบรับกับความต้องการก้าวสู่ยุคความเป็นกลางทางคาร์บอน โดยในญี่ปุ่นได้มีการวิ่งทดสอบตามการใช้งานจริงตามเมือง และประเภทการใช้งานต่างๆ จำนวน 90 คัน เมื่อเดือนมกราคม 2566 ที่โตเกียว ฟุกุชิมะ และฟุกุโอกะ ส่วนประเทศไทยได้มีการวิ่งทดสอบแล้วจำนวน 4 คัน เมื่อเดือนกันยายน ถึงพฤศจิกายน 2566