
บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC แกนนำนวัตกรรมธุรกิจไฟฟ้ากลุ่ม ปตท. เปิดเผยว่า ผลการดำเนินงานปี 2567 บริษัทฯ มีรายได้รวมทั้งสิ้น 90,730 ล้านบาท ลดลง 0.4% ขณะที่มี EBITDA รวมทั้งสิ้น 19,009 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 8% เมื่อเทียบกับปี 2566 (YoY) ส่งผลให้กำไรสุทธิอยู่ที่ 4,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 10% โดยผลการดำเนินงานที่ปรับตัวเพิ่มขึ้นอย่างมีนัยสำคัญ มาจากกำไรขั้นต้นที่เพิ่มขึ้นจากปริมาณการขายทั้งไอน้ำและไฟฟ้าที่ยังคงเพิ่มขึ้นอย่างแข็งแกร่ง อีกทั้งการบริหารจัดการเชื้อเพลิงทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหิน ที่ช่วยเพิ่มประสิทธิภาพในการบริหารจัดการต้นทุนได้อย่างเป็นเลิศ แม้ว่าค่าไฟฟ้าผันแปร (ft) ในกลุ่มอุตสาหกรรมจะลดลงก็ตาม โดยส่วนใหญ่ของผลิตภัณฑ์ไอน้ำ และไฟฟ้า สามารถส่งผ่านต้นทุนได้
นายวรวัฒน์ พิทยศิริ ประธานเจ้าหน้าที่บริหารและกรรมการผู้จัดการใหญ่ บริษัท โกลบอล เพาเวอร์ ซินเนอร์ยี่ จำกัด (มหาชน) หรือ GPSC เปิดเผยผลการดำเนินงานปี 2567 ว่า มีกำไรสุทธิมูลค่า 4,062 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 368 ล้านบาท หรือ 10% เมื่อเทียบกับปี 2566 โดยหลักจากกำไรขั้นต้น 20,984 ล้านบาท เพิ่มขึ้น 1,122 ล้านบาท หรือ 6% ซึ่งสาเหตุหลักมาจาก โรงไฟฟ้าขนาดเล็ก (SPP) ที่เพิ่มขึ้น 3,057 ล้านบาท เนื่องมาจากปริมาณความต้องการไฟฟ้าและไอน้ำของลูกค้าอุตสาหกรรมเพิ่มขึ้น รวมถึงบริษัทฯ ได้มีการบริหารจัดการต้นทุนเชื้อเพลิง ทั้งก๊าซธรรมชาติและถ่านหินที่ได้อย่างมีประสิทธิภาพ แม้ว่าค่า Ft ซึ่งเป็นองค์ประกอบบางส่วน เฉพาะผลิตภัณฑ์ไฟฟ้าที่ส่งผลต่อราคาขายไฟฟ้าอุตสาหกรรมจะลดลงก็ตาม

“จากผลประกอบการของบริษัทฯ และบริษัทย่อย ประจำปี 2567 บริษัทฯ ยังคงมีทิศทางเติบโตต่อเนื่อง ซี่งคณะกรรมการฯ มีมติจ่ายเงินปันผล จำนวน 0.90 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นเงินปันผลต่อกำไรสุทธิ 62.5% ประกอบด้วยการจ่ายเงินปันผลสำหรับผลการดำเนินงานงวด 6 เดือนแรกของปี 2567 จำนวน 0.45 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น 1,268,878,215 บาท ซึ่งได้จ่ายแล้วเมื่อวันที่ 24 กันยายน 2567 และเงินปันผลสำหรับงวด 6 เดือนหลังของปี 2567 จำนวน 0.45 บาทต่อหุ้น หรือคิดเป็นจำนวนทั้งสิ้น1,268,878,215 บาท มีกำหนดจะจ่ายเงินปันผลดังกล่าว ในวันที่ 23 เมษายน 2568 โดยบริษัทฯ มีแผนจ่ายเงินปันผลดังกล่าวเมื่อได้รับการอนุมัติจากที่ประชุมสามัญผู้ถือหุ้นประจำปี 2568” นายวรวัฒน์ กล่าว
ทั้งนี้ นอกจากการสร้างความมั่นคงทางพลังงาน (Reliability) ให้แก่ธุรกิจและอุตสาหกรรมในประเทศแล้ว GPSC ยังมุ่งมั่นพัฒนาโครงการพลังงานหมุนเวียนในต่างประเทศ โดยเฉพาะประเทศที่มีการเติบโตของความต้องการใช้พลังงานไฟฟ้าในระดับสูงมาก โดยเฉพาะโครงการโรงไฟฟ้าพลังงานแสงอาทิตย์ในอินเดีย ซึ่งในปัจจุบันทางภาครัฐของอินเดียให้การสนับสนุน ทั้งในด้านการพัฒนาระบบสายส่งและการเปิดใช้งาน Third Party Access (TPA) ต่อยอดเทคโนโลยีจ่ายไฟฟ้าจากพลังงานสะอาดได้ 24 ชั่วโมง เพื่อรองรับไฟฟ้าสะอาด การส่งเสริม supply chain ภายในประเทศเพื่อลดการพึ่งพาต่างชาติและเพิ่มความสามารถในการแข่งขัน รวมถึงการให้การสนับสนุนงบลงทุน (CAPEX) เพื่อลดต้นทุน และเร่งการพัฒนาโครงการพลังงานสะอาดตามเป้าหมายของประเทศ ซึ่งทั้งหมดนี้ช่วยเสริมศักยภาพของ GPSC ในตลาดพลังงานหมุนเวียนระดับสากล ผ่านการถือหุ้นใน AEPL สัดส่วน 42.93 % ของทุนทั้งหมด โดยเป็นโครงการที่ชนะการประมูล และมีกำลังการผลิตไฟฟ้ารวมทั้งสิ้น 20,399 เมกะวัตต์ แบ่งเป็นโครงการที่สามารถจ่ายไฟฟ้าเข้าระบบแล้ว 37 โครงการ กำลังผลิต 4,696 เมกะวัตต์ โครงการที่อยู่ระหว่างก่อสร้าง 6 โครงการ กำลังผลิต 2,052 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถจ่ายไฟฟ้าเชิงพาณิชย์ได้ในปี 2568-2569 และมีโครงการที่อยู่ระหว่างการพัฒนา 23 โครงการ กำลังผลิต 13,651 เมกะวัตต์ คาดว่าจะสามารถผลิตและป้อนเข้าระบบได้ในปี 2568-2570
อย่างไรก็ดี บริษัทฯ ยังคงมุ่งมั่นในการพัฒนาธุรกิจเพื่อความยั่งยืน ด้วยเป้าหมายการพัฒนานวัตกรรมพลังงานสู่ Net Zero Emissions ทั้งการวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี ผ่านความร่วมมือการพัฒนาโครงการต่างๆ ร่วมกับบริษัทในกลุ่ม ปตท. เพื่อมุ่งสู่การลดการปล่อยก๊าซเรือนกระจกสุทธิเป็นศูนย์ และเตรียมความพร้อมในการลดความเข้มข้นของคาร์บอนในภาคสาธารณูปโภค (Utility Carbon Intensity) ให้กับลูกค้าอุตสาหกรรม เสริมสร้างขีดความสามารถในการแข่งขันด้านการส่งออก และรองรับมาตรการ CBAM ซึ่งจะสอดคล้องกับกฎระเบียบด้านภาษีคาร์บอนในอนาคต