สถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GIT เผยการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ เม.ย. 66 มูลค่า 450.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลด 28.85% เจอพิษเศรษฐกิจโลก เศรษฐกิจคู่ค้าชะลอตัว หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,265.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 16.29% ยอด 4 เดือน ไม่รวมทองคำเพิ่ม 5.35% หากรวมทองคำลด 18.01% ชี้ปัจจัยเสี่ยงยังมีอีกเพียบ แนะผู้ประกอบการบุกตะวันออกกลาง ใช้ออนไลน์ทำตลาด ทำกลยุทธ์ Go Green Go Fast และ Go First
นายสุเมธ ประสงค์พงษ์ชัย ผู้อำนวยการสถาบันวิจัยและพัฒนาอัญมณีและเครื่องประดับแห่งชาติ (องค์การมหาชน) หรือ GITกล่าวว่า การส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับ ไม่รวมทองคำ เดือน เม.ย. 2566 มีมูลค่า 450.81 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 28.85% ซึ่งเป็นไปในทิศทางเดียวกับการส่งออกภาพรวมที่ลดลง และยังได้รับผลกระทบจากเศรษฐกิจโลก และเศรษฐกิจของคู่ค้าสำคัญหลายประเทศชะลอตัว ภาวะเงินเฟ้อในบางประเทศยังคงอยู่ในระดับสูง และผลกระทบจากวิกฤตสถาบันการเงินในสหรัฐฯ และยุโรป ทำให้มีความต้องการสินค้าในกลุ่มนี้ลดลง แต่หากรวมทองคำมีมูลค่า 1,265.56 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่มขึ้น 16.29% และรวม 4 เดือนของปี 2566 (ม.ค.-เม.ย.) การส่งออก ไม่รวมทองคำมีมูลค่า 2,667.22 ล้านเหรียญสหรัฐ เพิ่ม 5.35% และรวมทองคำ มูลค่า 5,390.94 ล้านเหรียญสหรัฐ ลดลง 18.01%
สำหรับตลาดส่งออกสำคัญ พบว่ามีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยสหรัฐฯ ลดลง 10.58% เยอรมนี ลด 20.53% สหราชอาณาจักร ลด 20.45% เบลเยียม ลด 16.00% อินเดีย ลด 69.94% ญี่ปุ่น ลด 3.93% แต่อิตาลี เพิ่ม 61.47% ฮ่องกง เพิ่ม 169.19% สหรัฐอาหรับเอมิเรตส์ เพิ่ม 43.62%
ส่วนสินค้าส่งออกสำคัญ มีทั้งเพิ่มขึ้นและลดลง โดยเครื่องประดับทอง เพิ่ม 48.50% เครื่องประดับแพลทินัม เพิ่ม 24.37% พลอยก้อน เพิ่ม 28.26% พลอยเนื้อแข็งเจียระไน เพิ่ม 89.92% พลอยเนื้ออ่อนเจียระไน เพิ่ม 124.46% ส่วนเครื่องประดับเงิน ลด 21.13% เพชรก้อน ลด 19.74% เพชรเจียระไน ลด 35.56% เครื่องประดับเทียม ลด 14.77% เศษหรือของที่ใช้ไม่ได้ทำด้วยโลหะมีค่า ลด 33.55% และทองคำ ลด 32.64%
สำหรับปัจจัยที่จะมีผลกระทบต่อการส่งออกอัญมณีและเครื่องประดับจากนี้ไปต้องจับตาเศรษฐกิจโลกที่มีสัญญาณชะลอตัวตั้งแต่ช่วงไตรมาสที่ 2 และครึ่งปีหลังอาจฟื้นตัวได้น้อยกว่าที่คาดการณ์ ขณะที่เศรษฐกิจคู่ค้าสำคัญอย่างสหรัฐฯ มีวิกฤตสถาบันการเงิน อัตราว่างงานเพิ่ม ทำให้การปล่อยสินเชื่อมีแนวโน้มเข้มงวดมากขึ้น และกดดันกิจกรรมทางเศรษฐกิจ ส่วนยูโรโซน ได้รับแรงกดดันจากอัตราดอกเบี้ยที่เพิ่มขึ้น เงินเฟ้อยังอยู่ในระดับสูง และจีน ที่มีการฟื้นตัวช้ากว่าที่คาด ซึ่งล้วนแต่เป็นปัจจัยกดดันการฟื้นตัวของการซื้อขายอัญมณีและเครื่องประดับ
ทั้งนี้ แนวทางในการปรับตัว ผู้ประกอบการควรหาโอกาสกระจายตลาดให้มีความหลากหลาย ลดการพึ่งพาตลาดหลักเพียงแห่งเดียวมากเกินไป โดยตะวันออกกลางเป็นภูมิภาคที่น่าสนใจในการทำตลาด ทั้งยังต้องรักษาแนวทางการทำตลาดออนไลน์ไว้ให้ต่อเนื่อง เพราะธุรกิจอีคอมเมิร์ซยังสามารถเติบโตได้เพิ่มขึ้น โดยแนวทางการทำตลาดด้วยกลยุทธ์ Go Green Go Fast และ Go First คือเน้นการรักษ์และเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม มีกลยุทธ์ที่รวดเร็วฉับไวในการตอบโจทย์ผู้บริโภค และเข้าสู่ตลาดใหม่ๆ หรือมีผลิตภัณฑ์ในไลน์สินค้าใหม่ๆ ก่อนคู่แข่ง จะเป็นแนวทางที่เข้ากับตลาดในยุคนี้ได้เป็นอย่างดี
ในส่วน แนวทางการทำงานในช่วงครึ่งปีหลังของปี พ.ศ.2566นี้นั้น GIT มีงานหลักๆ ที่จะดำเนินการขับเคลื่อน คือ การทำมาตรฐานห้องปฏิบัติการตรวจสอบอัญมณี เครื่องประดับและโลหะมีค่า หรือ GIT Standard ให้มีจำนวนมากขึ้น ครอบคลุมมากขึ้น การขับเคลื่อน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ ตามเทรนด์ความต้องการของตลาดโลก การเตรียมความพร้อมเข้าร่วมงานแสดงสินค้าใหญ่ 2 งาน ได้แก่ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรืองานบางกอก เจมส์ ครั้งที่ 68 และงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023
สำหรับการทำ GIT Standard ว่า ปัจจุบันได้มีการจัดทำมาตรฐานแล้ว 22 ขอบข่าย เช่น มาตรฐานห้องปฏิบัติการ มาตรฐานการตรวจสอบอัญมณี เพชร หยก และจะเพิ่มมาตรฐานใหม่อีก 3 ขอบข่าย คือ การตรวจสอบความเป็นธรรมชาติของมรกต วิธีตรวจสอบพื้นฐานมุก และการวิเคราะห์หาปริมาณเงินในตัวอย่างโลหะมีค่าโดยใช้เทคนิคเอกซเรย์ฟลูออเรสเซนต์ (XRF) ซึ่งเป็นมาตรฐานที่จะทำให้สำเร็จในช่วงครึ่งหลังปี 2566 (ดูรายละเอียด GIT Standard อินโฟกราฟิก)
ทั้งนี้ ในปัจจุบันมีห้องปฏิบัติการที่ผ่านเกณฑ์ขึ้นทะเบียนมาตรฐาน GIT Standard แล้วจำนวน 5 แห่ง ได้แก่ ห้องปฏิบัติการอัญมณี คณะอัญมณี มหาวิทยาลัยบูรพา, ห้องปฏิบัติการ บริษัท เอ็มทีเอส รีไฟเนอรี่ แอนด์แมนูแฟคเจอริ่ง จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท พรีเชียสพลัส จำกัด, ห้องปฏิบัติการ บริษัท รีฟายนิ่งโลหะมีค่า จำกัด และห้องปฏิบัติการ บริษัท จีซีไอ แล็บ จำกัด ซึ่ง GIT จะผลักดันให้ห้องปฏิบัติการและผู้ประกอบการในอุตสาหกรรมนี้มีการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT Standard เพิ่มมากขึ้น เพื่อสร้างความเชื่อมั่นให้แก่อุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับของไทย
นอกเหนือจากการผลักดันให้ผู้ประกอบการผ่านเกณฑ์มาตรฐาน GIT จะขับเคลื่อนให้ผู้ประกอบการมีมาตรฐานการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาลและความรับผิดชอบในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ เช่น การแจ้งที่มาที่ไปของวัตถุดิบ การไม่เอาเปรียบแรงงาน เป็นต้น เพราะข้อกำหนดเหล่านี้จะกลายเป็นเงื่อนไขในการทำธุรกิจเพิ่มมากขึ้น อย่างวัตถุดิบ ถ้าไม่สามารถแจ้งที่มาที่ไปได้ ก็จะไม่สามารถซื้อขายได้
ปัจจุบันอุตสาหกรรมเพชร มีความชัดเจนแล้วว่าวัตถุดิบต้องมีที่มาที่ไปอย่างไร และกำลังลามเข้ามายังอุตสาหกรรมพลอย ซึ่งต่อไปจะมีความเข้มข้นมากขึ้น อาจจะต้องทำถึงขั้นซื้อวัตถุดิบมาจากไหน ถ้าตอบไม่ได้ก็จะมีปัญหาในการซื้อขาย หรือบอกแหล่งที่มาไม่ได้ ก็จะทำให้ซื้อขายยากขึ้น หรือมีปัญหาได้
นอกจากนี้ จะผลักดันให้ผู้ประกอบการมีธรรมาภิบาลในการทำธุรกิจ ซึ่งปัจจุบัน GIT ได้เป็นสมาชิกของ Responsible Jewellery Council หรือ RJC ซึ่งเป็นองค์กรที่สร้างมาตรฐานการดำเนินธุรกิจด้วยความรับผิดชอบต่อสังคมและสิ่งแวดล้อมในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ และล่าสุดได้ลงนาม MOU กับสมาคมผู้ส่งออกเครื่องเงินไทย เห็นความสำคัญของการทำธุรกิจอย่างมีธรรมาภิบาล คำนึงถึงสิ่งแวดล้อมแล้ว
GIT ยังมีแผนที่จะผลักดัน BCG Model ในอุตสาหกรรมอัญมณีและเครื่องประดับ โดยจะผลักดันให้ผู้ประกอบการเห็นถึงความสำคัญของ BCG ในการผลิตเครื่องประดับ เพราะเป็นเทรนด์ของโลก หากทำได้ก็จะช่วยให้สินค้าเป็นที่ต้องการเพิ่มมากขึ้น แต่อาจจะนำทั้ง 3 ส่วนของ BCG Model มาใช้ไม่ได้ทั้งหมด โดยสิ่งที่พยายามและผลักดันโดยตลอด คือ เรื่องของเศรษฐกิจหมุนเวียน Circular Economy โดยใช้ทรัพยากรที่มีอยู่ของประเทศให้เกิดความคุ้มค่า เกิดของเสียที่ทำลายสิ่งแวดล้อมให้น้อยที่สุด
ที่ผ่านมา GIT ได้เริ่มกับการประกวดออกแบบเครื่องประดับ โดยในปี 2565 ใช้หัวข้อ True Nature ที่กระตุ้นให้นักออกแบบเห็นถึงความสำคัญของสิ่งแวดล้อมและเลือกวัสดุทางเลือกที่เป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม และปี 2566 ก็ยังคงคอนเซ็ปต์เดิม แต่เน้นความเป็นสีทอง และพลอยเนื้ออ่อน แต่ยังคงให้ความสำคัญต่อความเป็นมิตรต่อสิ่งแวดล้อม
ขณะเดียวกัน ยังได้เข้าไปช่วยพัฒนาผู้ประกอบการท้องถิ่น โดยปีนี้ได้ทำโครงการพัฒนาต่อยอดอัตลักษณ์เครื่องประดับภาคใต้เพื่อการท่องเที่ยว (เสน่ห์ใต้) ที่ได้เน้นการนำวัสดุพื้นถิ่น หรือการนำวัสดุที่เหลือใช้มา Upcycle กลายเป็นเครื่องประดับที่ทันสมัย และตอบโจทย์ความต้องการของโลก จนปัจจุบันเกิดเป็นชิ้นงานใหม่ๆ ที่น่าสนใจออกมาแล้ว
ในช่วงที่เหลือของปีนี้มีงานแสดงสินค้าที่เป็นงานขนาดใหญ่ระดับโลก และระดับประเทศ 2 งานที่ GIT ได้มีส่วนร่วมในการจัดงาน และเป็นผู้จัดงานเอง คือ งานแสดงสินค้าอัญมณีและเครื่องประดับ หรือ Bangkok Gems and Jewelry Fair (BGJF) ครั้งที่ 68 ที่กำหนดจัดขึ้นระหว่างวันที่ 6-10 ก.ย. 2566 ที่ศูนย์การประชุมแห่งชาติสิริกิติ์ ซึ่ง GIT จะร่วมกับกรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ ใช้กลไกที่แต่ละหน่วยงานมีอยู่ในการขับเคลื่อนการจัดงาน เพื่อเป็นแรงผลักดันให้ประเทศไทยสามารถก้าวสู่การเป็นศูนย์กลางการค้าอัญมณีและเครื่องประดับโลกตามยุทธศาสตร์ชาติได้สำเร็จ
ส่วนอีกงาน เป็นงานเทศกาลนานาชาติพลอยและเครื่องประดับจันทบุรี 2023 ซึ่ง GIT เป็นแม่งานหลัก โดยจะร่วมกับจังหวัดจันทบุรี สมาคมผู้ค้าอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี กรมส่งเสริมการค้าระหว่างประเทศ หน่วยงานภาครัฐ และเอกชนในจังหวัดจันทบุรี จัดงานขึ้นระหว่างวันที่วันที่ 7-11 ธ.ค. 2566 ณ ศูนย์ส่งเสริมอัญมณีและเครื่องประดับจันทบุรี เคพี จิวเวลรี่เซ็นเตอร์ และตลาดพลอย ถ.ศรีจันทร์ จังหวัดจันทบุรี เพื่อกระตุ้นเศรษฐกิจ สร้างความเชื่อมั่นในการเลือกซื้ออัญมณี และยังเป็นเวทีสำหรับผู้ประกอบการในจังหวัดจันทบุรีและผู้ประกอบการจากจังหวัดอื่นๆ รวมทั้งกรุงเทพฯ ได้นำเสนอผลิตภัณฑ์อัญมณีและเครื่องประดับที่มีคุณภาพจำหน่ายให้แก่ผู้บริโภค และยังเปิดโอกาสให้ผู้ชมงานได้เลือกซื้อสินค้าคุณภาพดีในราคาผู้ผลิต เบื้องต้นกำหนดไว้ประมาณ 300 คูหา
“การจัดงานในปีนี้เป็นการจัดต่อเนื่องเป็นครั้งที่ 4 โดยช่วงสถานการณ์ COVID-19 เว้นการจัดไปในปี 2564 และมาจัดควบทีเดียวปี 2564-65 แต่ก็ยังไม่เต็มรูปแบบ และจะกลับมาจัดแบบเต็มรูปแบบในปี 2566 โดยคาดว่าปีนี้จะคึกคักมากเป็นพิเศษ เพราะงานนี้ เป็นที่รอคอยของกลุ่มผู้ประกอบการค้าพลอย อัญมณี และเครื่องประดับงานหนึ่งของโลก” นายสุเมธกล่าว
สำหรับการจัดงานในครั้งนี้ นอกจากจัดแสดงและจำหน่ายพลอย อัญมณี และเครื่องประดับแล้ว ยังจะจัดนิทรรศการงานประกวดออกแบบเครื่องประดับครั้งที่ 17 นิทรรศการเครื่องประดับ Gems Treasure นิทรรศการเครื่องประดับผู้ประกอบการจันทบุรี และจะจัดสัมมนาเพิ่มศักยภาพของผู้ประกอบธุรกิจอัญมณีและเครื่องประดับ ด้านการตลาดการค้าออนไลน์และการออกแบบ จัดกิจกรรม BWC Business Matching การจับคู่ธุรกิจภายใต้โครงการซื้อด้วยความมั่นใจ (Buy with Confidence) และการบริการตรวจสอบอัญมณีและเครื่องประดับ โดย GIT
นอกจากนี้ ยังมีกิจกรรมพิเศษภายในงาน เช่น Gems Tour อาสนวิหารพระนางมารีอาปฏิสนธินิรมล (พระแม่ที่ประดับพลอยกว่า 200,000 เม็ด) ชมโบราณสถานที่สำคัญของจันทบุรี การทำเหมืองพลอย โดยได้รับความร่วมมือจากโรงแรมในจังหวัดจันทบุรี ลดราคาให้เป็นพิเศษในช่วงการจัดงาน เพื่อกระตุ้นการค้า การท่องเที่ยวในจังหวัดด้วย