Advertisement
Leaderboard 728x90

GISTDA เปิด 10 พื้นที่จังหวัดเสี่ยงขาดแคลนน้ำปี 2567

สำนักงานพัฒนาเทคโนโลยีอวกาศและภูมิสารสนเทศ (องค์การมหาชน) หรือ GISTDA ระบุว่า ข้อมูลจากดาวเทียมที่วิเคราะห์ซึ่งใช้เป็นข้อมูลประกอบในการจัดทำรายงานดัชนีภัยแล้ง พบว่าพื้นที่เสี่ยงเกิดภาวะขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแรงปีนี้ 10 จังหวัด ได้แก่ จังหวัดยโสธร อำนาจเจริญ บุรีรัมย์ สุรินทร์ ศรีสะเกษ ร้อยเอ็ด นครราชสีมา ชลบุรี ชัยภูมิ  และสระแก้ว

ร้อยเอกธรรมนัส พรหมเผ่า รัฐมนตรีว่าการกระทรวงเกษตรและสหกรณ์ เปิดเผยว่า สั่งการให้กรมชลประทาน บูรณาการหน่วยงานที่เกี่ยวข้องในการบริหารจัดการน้ำให้เพียงพอ เพื่อไม่กระทบเกษตรกรในการทำการเกษตร เพราะขณะนี้ประเทศไทยยังอยู่ในสภาวะเอลนีโญ กรมชลประทานจึงต้องเฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำในช่วงฤดูแล้งและฝนทิ้งช่วงที่กำลังจะมาถึง

Advertisement
Kreamy Proof

ทั้งนี้ ที่ประชุมคณะรัฐมนตรี (ครม.) เมื่อวันที่ 6 กุมภาพันธ์ 2567 ที่ผ่านมา ได้มีมติรับทราบมาตรการรองรับฤดูแล้งปี 2566/2567 จำนวน 9 มาตรการ และโครงการเพิ่มประสิทธิภาพการบริหารจัดการทรัพยากรน้ำเพื่อรองรับสถานการณ์ภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 กรมชลประทานต้องปฏิบัติตามมาตรการดังกล่าวอย่างเคร่งคัด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อการทำการเกษตร

ขณะเดียวกัน ในช่วงระหว่างวันที่ 9-13 กุมภาพันธ์ 2567 เกิดปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูง ซึ่งอาจส่งผลให้ค่าความเค็มเกินค่ามาตรฐาน ที่จะส่งผลกระทบต่อพื้นที่ทำการเกษตร โดยเฉพาะไม้ผลและพืชเศรษฐกิจ เช่น มะพร้าวน้ำหอม ทุเรียน ส้มโอ และกล้วยไม้ เป็นต้น กรมชลประทานต้องเตรียมป้องกันไม่ให้ปรากฏการณ์น้ำทะเลหนุนสูงกระทบต่อพื้นที่ของเกษตรกร

สำหรับ 9 มาตรการรับมือภัยแล้งและฝนทิ้งช่วงปี 2567 ประกอบด้วย มาตรการที่ 1 เฝ้าระวังและเตรียมจัดหาแหล่งน้ำสำรอง พร้อมวางแผนเตรียมเครื่องจักรเครื่องมือในพื้นที่เฝ้าระวังเสี่ยงขาดแคลนน้ำ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 2 ปฏิบัติการเติมน้ำอย่างมีประสิทธิภาพ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 3 กำหนดแผนจัดสรรน้ำและพื้นที่เพาะปลูกพืชฤดูแล้ง ควบคุมการเพาะปลูกข้าวนาปรัง สร้างการรับรู้ให้กับเกษตรกรเตรียมน้ำสำรองสำหรับพื้นที่ลุ่มต่ำรับน้ำนอง (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง)มาตรการที่ 4 บริหารจัดการน้ำให้เป็นไปตามลำดับความสำคัญการใช้น้ำที่คณะกรรมการลุ่มน้ำกำหนด (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 5 เพิ่มประสิทธิภาพการใช้น้ำ ประหยัดน้ำ และลดการสูญเสียน้ำในทุกภาคส่วน (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง มาตรการที่ 6 เฝ้าระวังและแก้ไขคุณภาพน้ำ (ตลอดฤดูแล้ง)มาตรการที่ 7 เสริมสร้างความเข้มแข็งด้านการบริหารจัดการน้ำของชุมชน (ตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 8 สร้างการรับรู้ ประชาสัมพันธ์ (ก่อนและตลอดฤดูแล้ง) มาตรการที่ 9 ติดตามและประสิทธิผลการดำเนินงาน (ตลอดและหลังจากสิ้นสุดฤดูแล้ง)


Advertisement
Leaderboard 728x90
Advertisement
Billboard