สำนักวิจัยและพัฒนางานทาง กรมทางหลวง ได้ดำเนินการศึกษาโครงการข้อมูลจากอากาศยานไร้คนขับ (โดรน) เพื่อตรวจติดตามข้อมูลปริมาณจราจรและการจัดทำแผนที่เชิงวิศวกรรม โครงการดังกล่าวมีจุดมุ่งหมายเพื่อศึกษา วิจัย และพัฒนา การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในภารกิจในด้านต่างๆของกรมทางหลวง เป็นการปรับเปลี่ยนจากการใช้อุปกรณ์เทคโนโลยีอากาศยานไร้คนขับที่ใช้เพียงภาพถ่าย หรือภาพเคลื่อนไหว มาเป็นการวิเคราะห์ข้อมูลอย่างเป็นระบบของกรมทางหลวงให้สามารถจัดทำข้อมูลเชิงวิศวกรรมในด้านต่างๆ ให้เกิดประโยชน์ มีมาตรฐาน ที่เป็นประโยชน์ในภารกิจของกรมทางหลวงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคตได้
โครงการดังกล่าวจะทำให้หน่วยงานภูมิภาคมีอากาศยานไร้คนขับ (Unmanned Aerial Vehicle : UAV) ที่ใช้ประโยชน์ในการจัดเก็บและการบริหารข้อมูลสายทาง สามารถที่จะใช้งานเป็นไปอย่างมีประสิทธิภาพมากขึ้น จึงได้มีการศึกษาและพัฒนาการใช้ประโยชน์เพิ่มเติมจากอากาศยานไร้คนขับ โดยแบ่งการศึกษาและพัฒนาออกเป็น 3 ด้าน ได้แก่
1.การพัฒนาวิธีการประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในงานวิศวกรรมจราจร เป็นการประยุกต์ใช้ร่วมกับปัญญาประดิษฐ์ในการหาค่าทางวิศวกรรม เช่น นับปริมาณจราจร พร้อมทั้งแยกประเภทยานพาหนะ ความเร็ว และความหนาแน่นของปริมาณจราจร
2.การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับเพื่อพัฒนาแนวทางการจัดทำแผนที่เชิงวิศวกรรม ประกอบด้วยกิจกรรม 2 ส่วนหลัก คือ ส่วนงานสำรวจภาคสนาม และส่วนงานประมวลผลข้อมูล ผลลัพธ์ที่ได้สามารถนำไปผลิตแผนที่ที่มีความละเอียดถูกต้องตามมาตราส่วนต่างๆ ถูกต้องตามมาตรฐานการจัดทำแผนที่
3.การประยุกต์ใช้อากาศยานไร้คนขับในการใช้งานด้านอื่นๆของกรมทางหลวง ประกอบด้วย งานสำรวจสำหรับวางแผนและติดตามงานก่อสร้าง งานสำรวจเพื่อจัดทำข้อมูลตำแหน่งทรัพย์สินในเขตทาง งานสำรวจความเสียหายโครงสร้างสะพานคาดว่าการศึกษาจะแล้วเสร็จประมาณเดือน ก.ย.นี้ จากนั้นนำไปปรับปรุงเพิ่มประสิทธิภาพการทำงานด้วยอากาศยานไร้คนขับ เพื่อยกระดับการทำงานด้วยอากาศยานไร้คนขับได้อย่างมีประสิทธิภาพทั้งในด้านวิศวกรรม และด้านอื่นๆ ที่เป็นประโยชน์ในภารกิจของกรมทางหลวงทั้งในปัจจุบัน และในอนาคต