กระทรวงคมนาคม โดยกรมทางหลวงชนบท (ทช.) จัดพิธีลงนามบันทึกความเข้าใจ (MOU) ว่าด้วยความร่วมมือการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม เพื่อแก้ปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในบริเวณทะเลสาบสงขลา ร่วมกับ 5 หน่วยงาน ประกอบด้วย กรมทางหลวงชนบท กรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง กรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช กรมประมง และสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม โดยมี นายจตุพร บุรุษพัฒน์ ปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคม นายอภิรัฐ ไชยวงศ์น้อย อธิบดีกรมทางหลวงชนบทนายเถลิงศักดิ์ เพ็ชรสุวรรณ รองปลัดกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อม รักษาราชการแทนอธิบดีกรมทรัพยากรทางทะเลและชายฝั่ง นายอรรถพล เจริญชันษา อธิบดีกรมอุทยานแห่งชาติ สัตว์ป่า และพันธุ์พืช นายจิรวัฒน์ ระติสุนทร รองเลขาธิการสำนักงานนโยบายและแผนทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมและนายบัญชาสุขแก้ว รองอธิบดีกรมประมง ร่วมลงนาม
นายมนตรี เดชาสกุลสม รองปลัดกระทรวงคมนาคมกล่าวว่า ตามที่คณะรัฐมนตรี (ครม.)มีมติเมื่อวันที่ 18 ตุลาคม 2565 เห็นชอบโครงการก่อสร้างสะพานข้ามทะเลสาบสงขลา เพื่อเพิ่มศักยภาพในการแข่งขันทางด้านเศรษฐกิจให้กับประเทศ ซึ่งโครงการนี้เป็นโครงการที่กระทรวงคมนาคมจะยกระดับความเป็นอยู่ของพี่น้องประชาชนในจังหวัดพัทลุงและสงขลาให้สามารถเดินทางได้อย่างสะดวกรวดเร็วปลอดภัยมากยิ่งขึ้น สอดรับกับนโยบายของนายสุริยะ จึงรุ่งเรืองกิจ รัฐมนตรีว่าการกระทรวงคมนาคม โดยสะพานมีขนาด 2 ช่องจราจร (สามารถขยายเป็น 4 ช่องจราจรได้ในอนาคต) และมีรูปแบบสะพานที่เหมาะสม คือ สะพานคานขึง (Extradosed Bridge) และสะพานคานคอนกรีตรูปกล่องความหนาคงที่ (Box Segmental Bridge) รวมระยะทาง 7 กิโลเมตร รวมถึงบริเวณราวสะพานได้ออกแบบให้มีความสวยงาม โดยนำรูปแบบทางจิตรกรรมมโนราห์ของท้องถิ่นมาประยุกต์ โดยสะพานดังกล่าวจะช่วยลดระยะทางในการเดินทางระหว่าง อำเภอกระแสสินธุ์ จังหวัดสงขลา ถึง อำเภอเขาชัยสนจังหวัดพัทลุง จาก 80 กิโลเมตร เป็น 7 กิโลเมตร และลดระยะเวลาในการเดินทางจาก 2 ชั่วโมง เหลือเพียง 15 นาที สามารถพัฒนาการขนส่งโลจิสติกส์และเส้นทางท่องเที่ยวเชื่อมโยงทะเลอันดามัน – อ่าวไทย และเชื่อม 3 จังหวัด คือ ตรัง พัทลุง และสงขลา เป็นการบรรเทาปริมาณการจราจรของถนนทางหลวงแผ่นดิน แก้ปัญหาการจราจรติดขัดและสามารถยกระดับมาตรฐานความปลอดภัยในการเดินทางในกรณีเกิดภัยพิบัติจะอพยพประชาชนในพื้นที่ได้อย่างรวดเร็ว
นอกจากนี้ มติ ครม. ยังมอบหมายให้กระทรวงคมนาคมประสานการดำเนินโครงการกับกระทรวงทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมอย่างใกล้ชิด เพื่อไม่ให้เกิดผลกระทบต่อสัตว์น้ำในทะเลสาบสงขลาโดยเฉพาะโลมาอิรวดี ดังนั้น กระทรวงคมนาคม โดย ทช. จึงได้ประสานกับ 5 หน่วยงาน เพื่อจัดทำ MOUว่าด้วยความร่วมมือดังกล่าวขึ้น มีวัตถุประสงค์เพื่อบูรณาการความร่วมมือระหว่างหน่วยงานให้มีความชัดเจนเป็นรูปธรรม และนำไปสู่การปฏิบัติได้ในการอนุรักษ์และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติและสิ่งแวดล้อมในบริเวณทะเลสาบสงขลา เพื่อแก้ไขปัญหาการใกล้สูญพันธุ์ของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา โดยในเบื้องต้นได้มีการจัดทำแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา ระยะ 5 ปี ระหว่างปี 2567 – 2571 ประกอบด้วย 6 แผนงาน ได้แก่ การลดภัยคุกคามที่เป็นอันตรายต่อโลมาอิรวดีและแหล่งที่อยู่อาศัย การฟื้นฟูความสมบูรณ์ของทะเลสาบสงขลาและการเพิ่มปริมาณสัตว์น้ำ การศึกษาวิจัยนิเวศวิทยาและชีววิทยาของโลมาอิรวดีในทะเลสาบสงขลา การวิจัยและพัฒนาเทคโนโลยี เพื่อเพิ่มประชากรโลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา การดำเนินงานอนุรักษ์โลมาอิรวดีและการเสริมสร้างเศรษฐกิจชุมชนที่ยั่งยืน และการบริหารจัดการแผนอนุรักษ์โลมาอิรวดีทะเลสาบสงขลา เพื่อปกป้องคุ้มครองโลมาอิรวดี และฟื้นฟูทรัพยากรธรรมชาติของทะเลสาบสงขลาอย่างยั่งยืนต่อไป