กรมการค้าต่างประเทศ กระทรวงพาณิชย์ เปิดเผยถึงการส่งออกข้าวไทยทั้งปี2566 (ม.ค.-ธ.ค.) ว่า ไทยส่งออกข้าว ปริมาณ 8.86 ล้านตัน สูงกว่าเป้าหมายทั้งปีที่ตั้งไว้ที่ 8.5 ล้านตัน คิดเป็นมูลค่ารวม 5,192 ล้านเหรียญสหรัฐ หรือประมาณ 179,783 ล้านบาท เมื่อเปรียบเทียบกับปี 2566 พบว่าปริมาณและมูลค่าการส่งออกเพิ่มขึ้น 16.12% และ 31.88% ตามลำดับ โดยอัตราแลกเปลี่ยนค่าเงินบาทต่อเหรียญสหรัฐ ของการส่งออกข้าวปี 2566 โดยเฉลี่ยอยู่ที่ 34.63 บาทต่อเหรียญสหรัฐ แข็งค่าขึ้น 0.66% จากช่วงเดียวกันปี 2565
ทั้งนี้ ในเดือนธ.ค. 2566 ราคาส่งออกข้าวไทย ทุกชนิดยกเว้นข้าวเหนียวปรับราคาสูงขึ้นเมื่อเทียบกับเดือนก่อนหน้า โดย ข้าวหอมมะลิ เพิ่มขึ้น 4.87% จาก 854 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 896 เหรียญสหรัฐ/ตัน, ข้าวหอมไทย เพิ่มขึ้น 10.55% จาก 744 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 826 เหรียญสหรัฐ/ตัน, ข้าวนึ่ง เพิ่มขึ้น 7.56% จาก 594 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 639 เหรียญสหรัฐ/ตัน, ข้าวขาว 10% เพิ่มขึ้น 7.78% จาก 597 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 643 เหรียญสหรัฐ/ตัน และข้าวเหนียว ลดลง 0.38% จาก 796 เหรียญสหรัฐ/ตัน เป็น 793 เหรียญสหรัฐ/ตัน
สำหรับข้าวที่ไทยส่งออกได้มากที่สุดคือ ข้าวขาว คิดเป็น 55.35% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด รองลงมา ได้แก่ ข้าวหอมมะลิไทย 18.11%, ข้าวนึ่ง 16.98%, ข้าวหอมไทย 5.91%, ข้าวเหนียว 2.89% และข้าวกล้อง 0.76% ตามลำดับ
ตลาดส่งออกสำคัญอันดับหนึ่ง คือ ภูมิภาคเอเชีย คิดเป็นสัดส่วน 39.24% ของปริมาณการส่งออกข้าวไทยทั้งหมด เช่น อินโดนิเซีย จีน มาเลเซีย เป็นต้น รองลงมาได้แก่ ภูมิภาคแอฟริกา 29.81% เช่น แอฟริกาใต้ เซเนกัล แคเมรูน เป็นต้น, ตะวันออกกลาง 13.71% เช่น อิรัก เยเมน อิสราเอล เป็นต้น, อเมริกา 11.45% เช่น สหรัฐอเมริกา แคนาดา เป็นต้น ยุโรป 3.40% เช่น ฝรั่งเศส เนเธอร์แลนด์ สหราชอาณาจักร เป็นต้น และโอเชียเนีย2.39% ตามลำดับ เช่น ปาปัวนิวกินี ออสเตรเลีย นิวซีแลนด์ เป็นต้น
สำหรับปี 2566 ไทยสามารถทำยอดส่งออกข้าวแซงเวียดนาม จนขึ้นมาเป็นอันดับ 2 ของโลกได้แล้ว โดยอินเดีย ยังคงเป็นแชมป์ส่งออกข้าวอันดับ 1 ของโลก ส่งออกได้รวม 17.33 ล้านตัน รองลงมา ได้แก่ ไทย 8.51 ล้านตัน เวียดนาม 8.05 ล้านตัน ปากีสถาน 3.46 ล้านตัน และสหรัฐ 1.99 ล้านตัน ตามลำดับ”
สำหรับแนวโน้มส่งออก ปี 2567 คาดช่วงไตรมาสแรกจะส่งออกได้ดี เพราะผู้นำเข้าสำคัญอย่าง อินโดนีเซีย มาเลเซีย และฟิลิปปินส์ จะนำเข้าข้าวจากไทยเพื่อชดเชยสต๊อกข้าวในประเทศที่ลดลง และเก็บเป็นสต๊อกข้าวสำรองเพื่อความมั่นคงทางอาหาร จากการเปลี่ยนแปลงสภาพภูมิอากาศ โดยล่าสุดอินโดนีเซีย มีความต้องการซื้อข้าวไทยประมาณ 2 ล้านตัน รวมทั้ง มาตรการจำกัดการส่งออกข้าวของอินเดีย มีผลบังคับใช้คาดว่าจนถึงหลังการเลือกตั้งในเดือนพ.ค. 2567
อย่างไรก็ตาม ปริมาณการส่งออกข้าวไทยในปี 2567 คาดว่าจะลดลงจากปี 2566 เนื่องจากผลผลิตข้าวไทยลดลงจากภัยแล้ง และความผันผวนเศรษฐกิจโลกกระทบต่อกำลังซื้อ